จำนำทะเบียนคึก

23 เม.ย. 2564 | 02:25 น.

นอนแบงก์ตีกินจำนำทะเบียนรถ ดึงลูกหนี้นอกระบบสู่ตลาด มอง “เงินสดทันใจ” ใช้กลยุทธ์ราคา สร้างฐานลูกค้าระยะสั้น ผู้บริโภคได้ประโยชน์แน่แต่หากคงดอกตํ่านานไม่รอดแน่ เหตุดอกเบี้ยขึ้นกับความเสียงของลูก รายที่ไม่สามารถคิดเกิน 24% หนีซบหนี้นอกระบบ   

ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนรถคึกคักขึ้นทันทีหลังบริษัท เงินสดทันใจ จำกัดซึ่งเป็นการร่วมทุนระหว่าง ธนาคาร ออมสินกับบริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน)  หรือ SAWAD ได้ออกผลิตภัณฑ์แรกด้วยการให้สินเชื่อจำนำทะเบียนรถจักรยานยนต์  ด้วยอัตราดอกเบี้ยตํ่าเพียง 14.99% ต่อปีเป็นเวลา 3เดือน ก่อนที่จะปรับเป็นเป็น 17-18%ในระยะต่อไป 

ถือเป็นการกดดอกเบี้ยในตลาดให้ตํ่าลงมากทีเดียว จากก่อนหน้าที่ธนาคาร ออมสินออกมาระบุว่า มีนโยบายช่วยเหลือลูกค้ารายได้น้อยและมีปัญหาหนี้สินสูง ทั้งนอกระบบที่เสียอัตราดอกเบี้ยสูง 10-20% ต่อเดือน รวมถึงหนี้ในระบบที่่มีกับผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) ที่ยังเสียดอกเบี้ย 20-28%ต่อปี หรือแม้แต่สินเชื่อพิโกไฟแนนซ์เองก็ต้องเสียดอกเบี้ยสูงถึง 36%ต่อปี ซึ่งออมสินมองว่า เป็นการคิดดอกเบี้ยที่สูงเกินไปและมีกำไรส่วนเกินอยู่มาก ขณะที่ตลาดนอนแบงก์มีมูลหนี้สงถึง  5 แสนล้านบาท 

เราจึงเห็นการเติบโตของธุรกิจนอนแบงก์อย่างต่อเนื่องและก้าวกระโดด พร้อมกับการเดินหน้าเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ล่าสุดคือบริษัท เงินติดล้อ จำกัด (มหาชน)หรือ TIDLOR ที่กำลังจะเสนอขายหุ้นไอพีโอไม่เกิน 907.42 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 34.00-36.50 บาท มูลค่าการเสนอขายรวมไม่เกิน 35,481-38,090 ล้านบาท นับเป็นไอพีโอของหุ้นในหมวดธุรกิจเงินทุนและหลักทรัพย์ ที่มีมูลค่าเสนอขายสูงที่สุด 5 อันดับแรกในประวัติศาสตร์ตลาดทุนไทย โดยคาดว่า จะเข้าซื้อขายวันแรกในวันที่ 10 พฤษภาคม 2564 ด้วยมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอราว  78,845-84,643 ล้านบาท

ยอดคงค้างสินเชื่อส่วนบุคคลภายใต้การกำกับ

ก่อนหน้ามีบริษัทจดทะเบียน(บจ.)อยู่แล้วอย่างบริษัท เมืองไทย แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ MTC และ บริษัท ศรีสวัสดิ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SAWAD  ที่ราคาหุ้นปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยตั้งแต่ต้นปี ถึงวันที่ 16 เมษายน 2564 หุ้น MTC ปิดที่ 65.50 ปรับเพิ่มขึ้น 6.50 บาท หรือ 11.01% จากสิ้นปี 2563 อยู่ที่ 59.00 บาท, SAWAD ปิดที่ 82.25 บาท เพิ่มขึ้น 16.50 บาท หรือ 25.09% จาก
สิ้นปีก่อนอยู่ที่ 65.75 บาท

สำหรับ MTC เริ่มซื้อขายในตลท.เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2557 ในราคาไอพีโอ 5.50 บาท มีมูลค่าระดมทุน 2,997.50 ล้านบาท มีมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโอที่ 11,660 ล้านบาท ล่าสุดราคาหุ้น ณ วันที่ 16 เมษายน 2564 อยู่ที่ 65.50 บาท เพิ่มขึ้น 60.00 บาท หรือ 1,090.90% จากราคาไอพีโอ และมาร์เก็ตแคปอยู่ที่ 138,860 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127,200 ล้านบาท ส่วน SAWAD เริ่มซื้อขายเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2557 ราคาไอพีโอที่ 6.90 บาท มูลค่าระดมทุน 1,725 ล้านบาท และมาร์เก็ตแคป ณ ราคาไอพีโออยู่ที่ 6,900 ล้านบาท โดยราคาหุ้น ณ วันที่ 16 เมษายน 2564 อยู่ที่ 82.25 บาท เพิ่มขึ้น 75.35 บาท หรือ 1,092.02% จากราคาไอพีโอ และมาร์เก็ตแคป อยู่ที่ 112,941.78 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 106,041.78 ล้านบาท 

“ฐานเศรษฐกิจ” สอบถามความเห็นผู้ประกอบการในระบบระบุว่า การเสนอดอกเบี้ย 14.99%ต่อปี ทำได้เฉพาะลูกค้าเกรดดีคือ มีที่มาของรายได้ชัดเจน มีรายได้ตั้งแต่ 2 หมื่นบาทขึ้นไปและเป็นรายได้ที่สมํ่าเสมอ และยังทำได้ระยะสั้นคือ ไม่เกิน 6 เดือน เพราะหากนานกว่านั้นผู้ประกอบการจะประสบปัญหาแน่นนอน ซึ่งการคิดอัตราดอกเบี้ยจำนำทะเบียนปัจจุบันมีความแตกต่างกันตามคุณภาพของลูกค้าแต่ละราย โดยอัตราดอกเบี้ย 14.99%ต่อปีนั้น จะทำให้คนรู้จักตลาดนี้มากขึ้น และที่สำคัญยังช่วยให้สินเชื่อนอกระบบลดลงเรื่อยๆ แม้อัตราดอกเบี้ยจะตกลง แต่ปริมาณสินเชื่อในระบบมีโอกาสเติบโตเพิ่มขึ้นเพราะการแข่งขันทำให้ผู้ประกอบธุรกิจเป็นที่รู้จัก 

  ขณะที่ลูกค้าหรือผู้บริโภคตะมีทางเลือกมากขึ้น โดยเห็นได้จากหลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจากเดิมอยู่ที่ 28% ต่อปีเหลือเพดาน 24% ต่อปีโดยในกลุ่มลูกค้าที่มีความเสี่ยงสูง จะถูกคิดดอกเบี้ยในอัตรา 20-23% ต่อปี แต่ลูกค้าชั้นดีเลิศจะคิดดอกเบี้ยกันที่อัตรา 10-15%ต่อปี         

นายพูนศักดิ์ บุญสาลี ประธานกรรมการ บมจ.ศักดิ์ สยามลิสซิ่ง (SAK)เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดสินเชื่อเงินด่วน โดยเฉพาะหนี้นอกระบบที่ยังเป็นมีคนนิยม เพราะไม่ต้องทำสัญญา เป็นลักษณะให้กู้ด้วยกลยุทธ์เงินด่วน เรียกเก็บถึงบ้านและหน้าร้าน ซึ่งเป็นความจำเป็นของชาวบ้านต่อให้ดอกเบี้ยแพงก็ต้องใช้ จึงทำให้หนี้นอกระบบเพิ่มขึ้น แต่ผู้ประกอบการภายใต้กำกับของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)จะต้องดำเนินการตามกฎหมาย 

ส่วนกรณีที่เงินสดทันใจลงมาให้บริการในตลาด เป็นกลยุทธ์ราคาและยังจำกัดเงื่อนไขวงเงินกู้เช่น 2 หมื่นบาท โดยจะสร้างฐานลูกค้าด้วยอัตราดอกเบี้ยตํ่า แต่ในทางปฏิบัติตอนทำสัญญาลูกค้าจะได้รับอนุมัติจำนวน 2 หมื่นบาทหรือไม่ เพราะในระบบความต้องการวงเงินสินเชื่อจะมากกว่านั้น ซึ่งขณะนี้ยังประเมินไม่ได้ว่า จะมีผลต่อการทำตลาดอย่างไร 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564