ประชารัฐชูไบโอฮับ คลื่นศก.ลูกใหม่ สร้างมูลค่าเพิ่มอ้อย-มัน

26 เม.ย. 2559 | 12:00 น.
ในการประชุมคณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือคณะกรรมการสานพลังประชารัฐ นัดพิเศษมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเมื่อวันที่ 18 เมษายน ที่ผ่านมา ได้มีการรายงานความคืบหน้าในการดำเนินงานของทั้ง 12 คณะให้ที่ประชุมรับทราบไปแล้ว โดยเฉพาะคณะทำงานประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ได้นำเสนอความคืบหน้าในการดำเนินการโครงการพัฒนาซูเปอร์คลัสเตอร์ปิโตรเคมี เพื่อพัฒนาสู่ปิโตรเคมีมูลค่าสูงและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สำคัญใช้ในการดึงดูดนักลงทุน โดยได้มีภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศให้ความสนใจเสนอโครงการลงทุนในเขตพื้นที่มาบตาพุด จังหวัดระยอง และศรีราชา จังหวัดชลบุรี เข้ามาแล้ว มีมูลค่ารวมประมาณ 3.8 แสนล้านบาท

สร้างฐานศก.จากอ้อย-มัน

ที่สำคัญคณะทำงานชุดดังกล่าว ได้เสนอให้รัฐบาลเร่งผลักดัน โครงการ Bioeconomy ขึ้นมาเป็นคลื่นเศรษฐกิจลูกใหม่เพิ่มมูลค่าฐานเกษตรกรรม โดยใช้อ้อยและมันสำปะหลังเป็นพืชนำร่อง ในการสร้างสินค้ามูลค่าเพิ่มและสร้างโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ที่นำไปสู่การพัฒนาเกษตรที่ยั่งยืน พร้อมเปิดโอกาสให้ภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ มหาวิทยาลัย ทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดโดยมีรูปแบบของการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งภาคตะวันออกหรืออีสเทิร์นซีบอร์ด เป็นต้นแบบในการขับเคลื่อน ควบคู่กับนโยบายประชารัฐ ที่นำภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวางรากฐานเศรษฐกิจใหม่

โดยในช่วง 3-4 เดือนที่ผ่านมา ได้มีการตั้งคณะทำงานขึ้นมา 4-5 ชุด เพื่อมาผลักดันในเรื่องนี้แล้ว และวางกรอบการดำเนินงานไว้ 10 ปี(2559-2568) ที่มีเป้าหมายจะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจเป็น 2 เท่าตัว สร้างมูลค่าเพิ่มจากอ้อยมากกว่า 3 แสนล้านบาทต่อปี สร้างมูลค่าเพิ่มจากมันสำปะหลังกว่า 1 แสนล้านบาทต่อปี เพิ่มรายได้เกษตรกรเป็น 6.5-8.5 หมื่นบาทต่อปี มีอัตราการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5 แสนครัวเรือน และใน 20 ปี จะมีสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนมากกว่า 30 ล้านตันเทียบเท่าน้ำมันดิบ และต้องการใช้เงินลงทุนขับเคลื่อนไม่ต่ำกว่า 4 แสนล้านบาท

วางโรดแมปเริ่มที่พลังงาน
นายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานกรรมการ บริษัท พีทีทีโกลบอล เคมิคอล จำกัด(มหาชน)หรือพีทีทีจีซี ในฐานะหัวหน้าทีมภาคเอกชน คณะทำงานประชารัฐด้านการพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ชี้ให้เห็นว่า การผลักดัน Bioeconomy ให้เกิดขึ้นได้นี้ มีการตั้งคณะทำงานที่มาจากภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา ขึ้นมา 4-5 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มได้มีการร่วมหารือระดมสมองของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไปแล้ว เพื่อนำไปสู่การวางโรดแมป ในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากสินค้าเกษตรต้นน้ำอย่างอ้อยและมันสำปะหลัง ตลอดจนของเหลือจากการเกษตร เช่น ชานอ้อย กากน้ำตาล กากมันและน้ำเสีย ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

สำหรับโรดแมปที่ว่านี้ได้มีการแบ่งเป็น 4 กลุ่ม โดยเฉพาะกลุ่ม Bio-based energy จะมีการผลักดันอย่างเร่งด่วนก่อน เพื่อสนับสนุนให้เกิดการใช้เอทานอลในประเทศ และเพิ่มโอกาสในการส่งออก ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตเอทานอลให้แข่งขันได้ และมีการใช้เอทานอลในหลากหลายรูปแบบ โดยมีเป้าหมายที่จะใช้วัตถุดิบอ้อยในการผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 900 ล้านลิตรต่อปี เป็น 2 พันล้านลิตรต่อปี รวมถึงการใช้มันสำปะหลังผลิตเอทานอลเพิ่มขึ้นจาก 320 ล้านลิตรต่อปี เป็น 506 ล้านลิตรต่อปี ซึ่งทั้ง 2 ส่วนนี้ จะมีเจ้าภาพหรือผู้ลงทุน เช่นบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และกลุ่มมิตรผล คาดจะใช้เงินลงทุนราว 2.63 หมื่นล้านบาท และมีกลุ่มลูกค้าหลักจะเป็นรถขนส่งสินค้าของปตท.และเอสซีจี ที่จะมีการนำเอทานอลมาผลิตเป็นดีโซฮอล์ นอกจากจากการใช้เป็นแก๊สโซฮอล์เท่านั้น

แต่ทั้งนี้ การจะเพิ่มปริมาณการผลิตเอทานอลขึ้นได้ ภาครัฐจะต้องมีมาตรการสนับสนุนหรือจูงใจ ที่จะกำหนดเป็นนโยบายไว้อยู่ในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก รวมทั้งการแก้กฎหมายให้สามารถนำน้ำอ้อยมาผลิตเป็นเอทานอลได้ โดยไม่ต้องผ่านพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย

ทำโรงไฟฟ้าประชารัฐ

ขณะที่การเพิ่มมูลค่าให้กับของเหลือใช้ เช่น ชานอ้อย และกากมัน จะดำเนินการในรูปแบบโรงไฟฟ้าประชารัฐ หรือนำชานอ้อยมาผลิตไฟฟ้า โดยมีเป้าหมายจะผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจาก 500 เมกะวัตต์ เป็น1.8 พันเมกะวัตต์ รวมถึงการนำกากมันมาผลิตเป็นก๊าซชีวภาพ แล้วจึงนำไปผลิตไฟฟ้าได้ 336-500 เมกะวัตต์ จากที่ไม่เคยผลิตได้มาก่อน โดยจะมีทางปตท.และกลุ่มมิตรผล รับเป็นผู้ลงทุนในส่วนของโรงงานชีวมวลจากชานอ้อย ส่วนการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซชีวภาพ จะมีทั้งกลุ่มมิตรผล ไทยวา ชลเจริญ เอี่ยมเฮง สงวนวงศ์ และปตท. เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และขายไฟฟ้าตรงให้กับผู้ประกอบการในพื้นที่ ทั้งหมดนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 1.485 แสนล้านบาท

ส่วนจะเป็นไปได้หรือไม่นั้น ต้องขึ้นกับว่า การรับซื้อไฟฟ้านั้น จะต้องอยู่ในระดับราคาที่ 4.24 บาทต่อหน่วย และในระยะ 8 ปีแรกจะต้องบวกราคาสูงกว่าปกติอีก 30 สตางค์ต่อหน่วย พร้อมทั้งเพิ่มโควตาในการผลิตไฟฟ้าชีวมวลในแผนพัฒนาพลังงานทดแทนด้วย เป็นต้น

นอกจากนี้ จะมีการผลักดันให้เกิดการผลิตก๊าซซีบีจีในประมาณ 1.3 หมื่นตันต่อปี เพื่อใช้สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ จากที่ไม่เคยผลิตได้มาก่อน โดยมีเป้าหมายนำมาใช้กับรถบรรทุกของกลุ่มปตท.และเอสซีจี รถบรรทุกสินค้าของภาคเอกชน ซึ่งจะต้องมีผู้ลงทุนตั้งโรงงานต้นแบบขึ้นมา พร้อมทั้งให้การอุดหนุนการรับซื้อในรูปแบบ Adder ขึ้นมา เป็นต้น

ดันเป็นฮับไบโอพลาสติก

สำหรับกลุ่มที่ 2 จะเป็นเรื่องของการส่งเสริมการใช้พลาสติกชีวภาพพีแอลเอ แบบย่อยสลายได้ ที่จะช่วยให้เกิดการลงทุนและพัฒนาเป็นศูนย์อุตสาหกรรมชีวภาพขึ้นมา โดยจะมีการสร้างโรงงานผลิตไบโอพลาสติกขึ้นมา ซึ่งจะมีกลุ่มมิตรผลและพีทีทีจีซี เป็นผู้ลงทุน ใช้งบกว่า 1 แสนล้านบาท เพื่อนำไปสู่การส่งเสริมให้เกิดการใช้ โดยเลือกทำตลาดผ่านกลุ่มบรรจุภัณฑ์พลาสติกสำหรับอาหารและเครื่องดื่ม บรรจุภัณฑ์แช่แข็งเป็นต้น

แต่ทั้งนี้ ภาครัฐจะต้องให้การสนับสนุนด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในเขตที่มีการตั้งโรงงาน พร้อมอุดหนุนราคาพลังงาน เช่น ค่าไฟฟ้าและก๊าซธรรมชาติ พร้อมทั้งลดหย่อนภาษี 300 % สำหรับการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม โดยครอบคลุมถึงการใช้จ่ายในต่างประเทศที่เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนและการทำตลาด

ขณะที่กลุ่ม 3 เป็นโครงการที่จัดทำขึ้นเพื่อตอบรับกระแสการดูแลสุขภาพของประชากรทั่วโลก ที่กำลังก้าวสู่เป็นสังคมผู้สูงอายุ จะมีการพัฒนาต่อยอดจากอาหารในกลุ่มแป้งและน้ำตาล ขึ้นมาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารที่มีผลในเชิงรักษาโรค ซึ่งมีกลุ่มมิตรผลเป็นเจ้าภาพที่จะลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท โดยมีกลุ่มมิตรผลเป็นเจ้าภาพในการดำเนินงานหรือใช้เงินลงทุนประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาท

ต่อยอดไปถึงการผลิตยา

ส่วนกลุ่มที่ 4 เป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมยาชีววัตถุ และวัคซีนขั้นสูง เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางในอุตสาหกรรมด้านนี้ภายในเวลา 10 ปี โดยมีเป้าหมายเพิ่มการผลิตและเพิ่มการส่งออกเพิ่มขึ้น 5 เท่า จากเดิม 1.5 หมื่นล้านบาทต่อปี เป็น 7.5 หมื่นล้านบาทต่อปี โดยส่วนหนึ่งทางกลุ่มมิตรผล จะเป็นผู้ลงทุน และจะมีการเชิญชวนให้บริษัทยาจากต่างประเทศเข้ามาลงทุน คาดว่าจะใช้งบลงทุนกว่า 1 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ การจะเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมดังกล่าวในภูมิภาคนี้ได้ ภาครัฐจะต้องบรรจุผลิตภัณฑ์เข้าในบัญชียาหลักแห่งชาติ รวมถึงการบรรจุเขาในบัญชีกองทุนยาที่เบิกจ่ายได้ ซึ่งการลงทุนจะต้องขยายระยะเวลาปลอดภาษีจาก 8 ปี เป็น 15 ปี รวมถึงการตั้งกองทุนพัฒนายาแห่งชาติวงเงินไม่ต่ำกว่า 5 พันล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนแก่ภาคเอกชน

โดยโรดแมปที่วางไว้ทั้งหมดภายใต้ Bioeconomy หากได้รับการผลักดันไปสู่การปฏิบัติได้จริง คณะทำงานประชารัฐดังกล่าว มีความหวังว่าจะทำให้เกิดการปฏิรูปเศรษฐกิจของประเทศด้วยอุตสาหกรรมฐานชีวภาพ ที่จะช่วยตอบโจทย์การสร้างความสามารถในการแข่งขันการเพิม่ ผลผลติ ด้านการเกษตรกรรม ความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและการลดความเหลื่อมลํ้า เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของประเทศได้อย่างแท้จริง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 36 ฉบับที่ 3,151 วันที่ 24 - 27 เมษายน พ.ศ. 2559