ธ.ก.ส.ลุยจัดกลุ่มลูกหนี้ มั่นใจปี 64 หนี้เสียไม่เกิน 4.23%

22 มี.ค. 2564 | 08:30 น.

ธ.ก.ส. ลุยตรวจสุขภาพ-จัดกลุ่มลูกหนี้ 2 ล้านราย ก่อนหมดมาตรการพักชำระหนี้ มั่นใจหนี้เสียปี 64 ไม่ทะลุ 4.23% คาดปล่อยกู้ได้ 6.9 หมื่นล้าน และมีกำไร 7พันล้านบาท

นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่าขณะนี้ ได้ส่งเจ้าหน้าสาขาลงพื้นที่พบปะลูกค้า เพื่อตรวจสุขภาพหนี้และประเมินศักยภาพการชำระหนี้ กว่า 2 ล้านราย มูลหนี้รวมกว่า 9 แสนล้านบาท เพื่อวางแนวทางดูแลเกษตรกรหลังครบกำหนดมาตรการพักชำระหนี้จากโควิดในปีงบ 64 (ตั้งแต่ 1 เม.ย.64 -31 มี.ค.65) โดยให้จัดกลุ่มลูกหนี้ออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มสีเขียว ได้แก่ ลูกหนี้ที่มีสุขภาพดี สามารถชำระหนี้ได้ตามปกติ กลุ่มสีเหลือง คือ อาจชำระหนี้ได้บางส่วนเนื่องจากติดขัดเรื่องสภาพคล่องจากปัญหาด้านราคาสินค้าเกษตร และกลุ่มสีแดง คือ ไม่สามารถชำระหนี้ได้ ซึ่ง ธ.ก.ส. จะเข้าไปปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูอาชีพให้กับลูกค้ามีรายได้หรือเพิ่มเติมทุนให้

“ธนาคารได้ทยอยสำรวจสุขภาพลูกหนี้ไปแล้ว 5.2 แสนราย ซึ่งส่วนใหญ่มีการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน ยางพารา โดยจะเข้าไปประเมินดูรายได้ กระแสเงิน ราคาผลผลิตในปีนั้น โดยจากการสำรวจพบ ลูกหนี้กลุ่มสีเขียวมีประมาณ 35-40% กลุ่มสีเหลืองมี 40-45% ที่เหลือเป็นกลุ่มสีแดง  โดยธนาคารมั่นใจว่าจะดูแลลูกค้าได้และไม่ทำให้หนี้เสียของธนาคารสูงเกินไป โดยปีงบ 63 เอ็นพีแอลจะอยู่ที่ 4% และปี 64 จะเพิ่มไปอยู่ที่ 4.23%” ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผจก. ธ.ก.ส. กล่าว

ธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผจก. ธ.ก.ส.

สำหรับผลการดำเนินงาน ธ.ก.ส. ในปีบัญชี 63 ซึ่งครบปีวันที่ 31 มี.ค.64 จะมีสินทรัพย์ 2.03 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.10%  เงินให้สินเชื่อ 1.57 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.90%  เงินรับฝาก 1.73 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.41%  โดยมีรายได้ 103,171 ล้านบาท ค่าใช้จ่าย 95,987 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 7,184 ล้านบาท  สำหรับสาเหตุที่ทำให้ผลดำเนินการลดลงกว่าเป้าหมายบ้าง เนื่องจากธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด  เช่น  การพักหนี้ทั้งระบบ  3.25 ล้านราย  วงเงิน 1.07 ล้านล้านบาท  การเติมวงเงินสินเชื่อฉุกเฉิน  20,000 ล้านบาท สินเชื่อนิว เจน ฮัก บ้านเกิด สินเชื่อพอเพียงเพื่อเลี้ยงชีพ สินเชื่อเพื่อฤดูการผลิตใหม่ 170,000 ล้านบาท  

นอกจากนี้ ยังมีโครงการชำระดีมีคืนและโครงการลดภาระ เพื่อช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในเรื่องดอกเบี้ย โดยสามารถคืนเงินเข้าสู่กระเป๋าเกษตรกรกว่า 1.6 ล้านราย วงเงินกว่า 3,000 ล้านบาท  อีกทั้งในช่วงเกิดโควิด ทำให้เกษตรกร หรือวิสาหกิจชุมชนมีการชะลอขอสินเชื่อใหม่ด้วย ส่วนยอดเงินฝากที่เพิ่มขึ้นมามาก เนื่องจากลูกค้าบางส่วนที่ได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐไปแล้ว ไม่ได้ถอนเงินออกไปใช้ แต่มีการเก็บออมผ่านการฝากเงิน หรือออมรูปแบบสลากออมทรัพย์แทน 

อย่างไรก็ตาม ในปีบัญชี 64 วันที่ 1 เม.ย.64 -31 มี.ค.65 ธนาคารตั้งเป้าหมายสินเชื่อเติบโต 69,000  ล้านบาท เงินฝากเติบโต 25,000 ล้านบาท กำไรจะอยู่ระดับ 7,000 ล้านบาท โดยการปล่อยกู้จะปล่อยสินค้าเกษตรทุกประเภท รวมถึงการปลูกกัญชาหากได้รับอนุญาตและมีหลักเกณฑ์การปลูกในเชิงพาณิชย์ที่ชัดเจน ธนาคารก็พร้อมปล่อยสินเชื่อให้เพราะถือเป็นสินค้าเกษตรชนิดหนึ่ง นอกจากนี้จะมีการนำเทคโนโลยีทางการเงินใหม่มาใช้ เช่น การปล่อยสินเชื่อผ่านระบบดิจิทัล การนำระบบเทคโนโลยีมาวิเคราะห์ช่วยเหลือลูกค้า การหาช่องทางตลาดใหม่ให้เกษตรกร ตลอดจนพัฒนาชนบทผ่านโครงการสังคมอุดมสุข ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้เพิ่มจาก 77 แห่ง เป็น 300 แห่ง