“หมอชิตคอมเพล็กซ์” เคาะรูปแบบย้าย บขส. มี.ค.นี้

24 ก.พ. 2564 | 07:25 น.

ธนารักษ์ฯ ลงพื้นที่เดินหน้า โครงการ “หมอชิตคอมเพล็กซ์” เร่งสรุปความชัดเจนรูปแบบย้ายขนส่งหมอชิตต้น มี.ค. พร้อมคาดเซ็นสัญญาก่อสร้างกับ BKT ในอีก 3 เดือนจากนี้

นายยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์ ลงพื้นที่บริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเก่า เพื่อตรวจติดตามความคืบหน้าโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิต หรือ หมอชิตคอมเพล็กซ์ และได้พบปะชาวบ้านเพื่อรับฟังและชี้แจงแนวทางการแก้ปัญหาการเวนคืนที่ดินพื้นที่โดยรอบ

 

นายยุทธนาได้ยืนยันกับชาวบ้านว่า จะไม่มีการเวนคืนที่ดินเพื่อทำทางเข้าออกในพื้นที่โดยรอบ เพื่อลดผลกระทบชาวบ้านที่อาศัยอยู่เดิม โดยได้ปรับแนวทางเส้นทางเข้าออกหลักเป็นการใช้เส้นทางหน้าถนนพหลโยธิน และเส้นทางเสริมโดยใช้ถนนวิภาวดีซอย 5  โดยจะไม่มีการสร้างทางเชื่อมยกระดับออกไปยังถนนวิภาวดี

 

ยุทธนา หยิมการุณ อธิบดีกรมธนารักษ์

 

ขณะเดียวกันจะมีการปรับรูปแบบการเข้าใช้พื้นที่ของกรมการขนส่งทางบก ซึ่งจากเดิมมีแผนจะย้ายสถานีขนส่งหมอชิตทั้งหมดเข้ามาใช้พื้นที่ที่จัดเตรียมไว้ให้ 1.1 แสนตารางเมตร เป็นแผนใหม่ คือ จะย้ายมาเพียงบางส่วน เช่น รถโดยสารขนาดเล็ก เพื่อลดความแออัดของการเข้าออกและการจราจรในพื้นที่

 

อย่างไรก็ตาม กรมการขนส่งทางบก บริษัท ขนส่ง จำกัด หรือ บขส. และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข. จะเร่งสรุปแผนการเข้าใช้พื้นที่เพื่อนำกลับมาเสนอที่ประชุมร่วมกับกรมธนารักษ์ในต้นเดือนมีนาคม 64 เพื่อให้ได้ข้อสรุปแนวทางที่ชัดเจน

นายยุทธนา กล่าวว่า ชาวบ้านยอมรับในแนวทางการปรับปรุงแผนก่อสร้างหมอชิตคอมเพล็กซ์ รวมถึงแนวทางการยกเลิกการเวนคืนพื้นที่เข้าออกโดยรอบ ขณะที่ทางบริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ BKT  ผู้ได้รับสัมปทานในการพัฒนาพื้นที่ ได้ยอมรับแนวทางการปรับรูปแบบการเข้าใช้พื้นที่ที่จะย้ายสถานีขนส่งเข้ามาเฉพาะแค่รถเล็ก เพื่อให้โครงการสามารถเดินหน้าต่อได้ หลังจากมีความล่าช้ามากว่า 25 ปี นับตั้งแต่ปี 2539

 

ขณะนี้ BKT อยู่ระหว่างการยื่นการศึกษาผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมหรือ EIA คาดจะเสร็จเรียบร้อยภายใน 2-3 เดือน หลังจากนั้นจะมีการลงนามสัญญาการก่อสร้าง ซึ่งเมื่อมีการลงนามแล้ว จะทำให้กรมฯ มีรายได้จากการจัดเก็บค่าธรรมเนียมทันที 550 ล้านบาท โดยระหว่างการก่อสร้างซึ่งใช้ระยะเวลาตามแผน 5 ปี กรมฯจะได้รับค่าธรรมเนียมระหว่างก่อสร้างปีละ 6.1 ล้านบาท เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ กรมฯจะได้รับค่าเช่าปีละ 5 ล้านบาท จนครบอายุสัญญาสัมปทาน 30 ปี และกระทรวงการคลังจะได้รับอาคารและสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดในพื้นที่ ซึ่งมีมูลค่ารวมประมาณ 26,000 ล้านบาท

 

สำหรับรายละเอียดการก่อสร้าง พื้นที่โครงการฯ มีทั้งหมด 63 ไร่ โดยเป็นพื้นที่ก่อสร้างโครงการ 800,046 ตารางเมตร ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ชดเชยให้กรมการขนส่งทางบก 112,000 ตารางเมตร และพื้นที่เชิงพาณิชย์ 776,046 ตารางเมตร เพื่อพัฒนาเป็น อาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า อพาร์ทเม้นเซอร์วิส และลานจอดรถ เป็นต้น

ขณะที่การพูดคุยกับชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบ กรมฯนำข้อสังเกตของชาวบ้านในบางประเด็นไปหารือเพิ่มเติมไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปรับแผนการใช้พื้นที่เฉพาะรถเล็ก ซึ่งในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าจะมีการยกเลิกรถตู้เป็นรถมินิบัสแทน รวมถึงความเป็นห่วงกรณีในประเด็นที่ก่อนหน้านี้ กรุงเทพมหานคร ออกพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินโดยรอบเพื่อสร้างทางเชื่อมยกระดับ ซึ่งกรมฯจะรับเรื่องไปหารือเพื่อให้ยกเลิกพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในกระบวนทางกฎหมายระยะหนึ่ง  รวมถึงในการทำสัญญากับ BKT จะมีการระบุให้ชัดเจนว่าห้ามมีการเวนคืนพื้นที่โดนรอบหรือสร้างผลกระทบต่อชาวบ้าน

 

นางสาววินินท์อร ปรีชาพินิจกุล ตัวแทนชุมชนหลังหมอชิตเก่า กล่าวว่า ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้คัดค้านการก่อสร้างหมอชิตคอมเพล็กซ์ แต่กังวลเรื่องการเวนคืนที่พื้นโดยรอบ ซึ่งเป็นประเด็นที่ล่าช้ามานานหลายสิบปี ทำให้ชาวบ้านไม่สามารถดำเนินการใดๆ ได้ แต่เมื่อภาครัฐมีแนวทางชัดเจนที่จะไม่เวนคืนเพื่อทำทางยกระดับเข้าออก ถือว่าเป็นแนวทางที่น่าพอใจ ที่จะทำให้ชาวบ้านยังอาศัยอยู่ในพื้นที่เดิมได้ ซึ่งหลังจากนี้อยากให้หน่วยงานรัฐออกเป็นประกาศที่ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับชาวบ้าน

 

ชาวบ้านโดยรอบพื้นที่พัฒนาหมอชิตคอมเพล็กซ์

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: