“ม33 เรารักกัน” สุดเข้ม ดึงทุกฐานข้อมูล คัดกรองเยียวยา 4000 บาท 

16 ก.พ. 2564 | 01:00 น.

ตรวจสอบมติครม. เห็นชอบ โครงการ “ม33 เรารักกัน” พบคัดกรองสุดเข้ม ดึงข้อมูลจาก “สถาบันคุ้มครองเงินฝาก” และทุกฐานข้อมูล ก่อนจ่ายเยียวยา 4000 บาท 

จากกรณีที่ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)  มีมติเห็นชอบโครงการ “ม.33 เรารักกัน” เพื่อเยียวยาผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมมาตรา 33 (ม.33) จำนวน 9.27 ล้านราย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

โดยจะจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประกันตนจำนวน 4,000 บาทต่อคน เป็นเวลา 1 เดือน ผ่านแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” ตามที่ทางกระทรวงแรงงานเสนอ

ฐานเศรษฐกิจ ตรวจสอบข้อมูลจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี(สลค.) ถึงรายละเอียดที่มาของโครงการ ม33 เรารักกัน ดังนี้ 

โครงการ ม 33 เรารักกัน เป็นโครงการของสํานักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน โดยเมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงการคลัง ได้จัดส่งข้อเสนอโครงการ ม 33เรารักกัน ประกอบการพิจารณาไปยังสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขาของคณะกรรมการพิจารณาเงินกู้  ซึ่งคณะกรรมการไม่ขัดข้องในหลักการต่อข้อเสนอ  เนื่องจากวัตถุประสงค์ของโครงการ ม 33 เรารักกัน สอดคล้องและเป็นไปตามพระราชกําหนดฯ บัญชีท้ายพระราชกําหนดฯ และระเบียบ สํานักนายกรัฐมนตรีฯ 

ทั้งนี้สภาพัฒน์ ระบุว่ากระทรวงแรงงานควรพิจารณาตรวจสอบผู้ได้รับสิทธิตามโครงการฯ ไม่ให้ซ้ําซ้อนกับ โครงการเราชนะ เนื่องจากเป็นโครงการช่วยเหลือ เยียวยา และลดค่าครองชีพให้กับประชาชน จากสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ ซึ่งดําเนินการในช่วงเวลาเดียวกัน และมีลักษณะเช่นเดียวกับโครงการเราชนะ

ดังนั้น การกําหนดหลักเกณฑ์คุณสมบัติของ กลุ่มเป้าหมายของโครงการ ม 33 เรารักกัน ที่แตกต่างจากเกณฑ์คุณสมบัติของโครงการเราชนะ ควรมี เหตุผลสนับสนุนเพื่อชี้แจงความแตกต่างระหว่างผู้ได้รับสิทธิ์ของทั้งสองโครงการ และกระทรวงแรงงานควรกําหนดหลักเกณฑ์ แนวทาง และกระบวนการดําเนินงานให้ชัดเจน และครอบคลุม

เช่น การตรวจสอบคุณสมบัติผู้ได้รับสิทธิ์กับฐานข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้เป็นไป ตามหลักเกณฑ์ของโครงการ ม 33 เรารักกัน การประมาณการการใช้จ่ายของผู้ได้รับสิทธิ์ การอนุมัติ เบิกจ่ายให้แก่ร้านค้า และผู้ประกอบการ รวมถึงกระบวนการตรวจสอบการทุจริต การติดตามและการ ดําเนินคดีในกรณีที่มีการทุจริตไม่ว่าจะเกิดจากผู้ได้รับสิทธิ์หรือร้านค้าและผู้ประกอบการ เป็นต้น

จากนั้นกระทรวงแรงงานและสำนักงานประกันสังคม ได้สรุปโครงการ ม 33 เรารักกัน ดังนี้ 

วัตถุประสงค์ 

- เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา และแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้แก่ ประชาชน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของ โควิด-19 โดยจะสนับสนุนเงินเพื่อ ช่วยเหลือผู้ประกันตนมาตรา 33 ด้วยวิธีการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” เป็นรายสัปดาห์ในเดือน มีนาคม - เมษายน 2564 จํานวนไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน เพื่อใช้จ่ายซื้อสินค้าและบริการกับร้านค้า เดียวกันกับโครงการเราชนะในช่วงเดือนมีนาคม - พฤษภาคม 2564

 

กลุ่มเป้าหมาย 

- กลุ่มผู้ประกันตนมาตรา 33 จํานวน 9.27 ล้านคน ที่มี คุณสมบัติ ดังนี้

1. เป็นผู้มีสัญชาติไทย

2. เป็นผู้ประกันตนมาตรา 33 แห่งกฎหมายว่าด้วยประกันสังคม โดยมีข้อมูลในระบบประกันสังคม ณ วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการฯ หรือเคยเป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 (วันที่ถูกตัดสิทธิจากโครงการ “เราชนะ”)

3. ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและไม่ได้รับสิทธิโครงการเราชนะ

4. ไม่มีเงินฝากในสถาบันการเงินรวมกันทุกบัญชีเกิน 5 แสนบาท ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

วงเงินโครงการ

- 37,000 ล้านบาท โดยใช้จ่ายจากเงินกู้ตามพระราชกําหนดฯ 

รูปแบบการดําเนินงาน ประกอบไปด้วย 6 ขั้นตอน ดังนี้

1. การจัดทําระบบฐานข้อมูลและการลงทะเบียนสำนักงานประกันสังคม กระทรวงการคลัง และ ธนาคารกรุงไทย จํากัด (มหาชน) ดําเนินการจัดทําระบบฐานข้อมูลเว็บไซต์ระบบการลงทะเบียน และ คัดกรองผู้ได้รับสิทธิจากฐานข้อมูลของภาครัฐต่าง ๆ เช่น ฐานข้อมูลผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ฐานข้อมูล โครงการเราชนะ ฐานข้อมูลเงินฝากจากสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เป็นต้น เพื่อประกอบการดําเนินการ ตามโครงการฯ

2.การตรวจสอบข้อมูลและคัดกรอง ธนาคารฯ เป็นผู้ส่งข้อมูลให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบข้อมูล และประมวลผลและคัดกรองข้อมูลที่ได้รับจากการตรวจสอบจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว

3.การจ่ายเงินสนับสนุน กระทรวงการคลังอนุมัติเบิกจ่ายเงินช่วยเหลือเพื่อลดภาระ ค่าครองชีพ จํานวนไม่เกิน 4,000 บาทต่อคน ผ่านระบบการชําระเงินอิเล็กทรอนิกส์โดยภาครัฐ (g-Wallet) แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ของผู้ประกันตนที่ได้รับสิทธิ จํานวน 1,000 บาทต่อสัปดาห์

4. การยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา วงเงินที่ผู้ประกันตนที่ได้รับ สิทธิตามโครงการ ม 33 เรารักกัน เพื่อลดภาระค่าครองชีพตามโครงการฯ จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้ บุคคลธรรมดา

5. การรับเรื่องร้องเรียน การขอทบทวนสิทธิ์ ผู้ประกันตนที่มีคุณสมบัติไม่ผ่านตามเกณฑ์การตรวจสอบข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สามารถดำเนินการยื่นขอทบทวนสิทธิ์ตามแนวทาง หลักเกณฑ์ และวิธีการอื่นๆ ที่กระทรวงแรงงาน กำหนด โดยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

6.การเบิกจ่ายเงินสำนักงานประกันสังคม ดำเนินการเบิกจ่ายเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ตามพระราชกำหนด ทั้งนี้ กรณีที่สำนักงานประกันสังคม โอนเงินให้ร้านค้าและผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการไม่สำเร็จจะดำเนินการติดตามเพื่อโอนเงินให้แก่ร้านค้าและผู้ประกอบการภายในกันยายน 2564 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ม33เรารักกัน” ลงทะเบียน สรุปข้อควรรู้ รับสิทธิเงินเยียวยาประกันสังคม มาตรา 33

ด่วน ครม.เคาะ "ม.33 เรารักกัน" ลงทะเบียน 21 ก.พ. รับเงินเยียวยา 4,000 บาท

"ม.33 เรารักกัน" เตรียมลงทะเบียน www.ม33เรารักกัน.com วันที่ 21 ก.พ. - 7 มี.ค.นี้

อัพเดท "ม.33 เรารักกัน" ลงทะเบียน เยียวยาผู้ประกันตนมาตรา 33

"ม.33 เรารักกัน" ยกเว้นภาษี ผู้ประกันตนได้สิทธิเงินเยียวยา 4,000 บาท