โบรกหนุนตลท. ปรับเกณฑ์ฟรีโฟลท

17 ม.ค. 2564 | 00:00 น.

โบรกมองตลท.เล็งปรับเกณฑ์ หุ้นฟรีโฟลทตํ่าเป็นเรื่องดี หลังราคาหุ้นบางตัวปรับขึ้นสูงทำตลาดผันผวน ชี้ไม่สะท้อนภาพจริง แนะจับตาหุ้น SET50 และ SET100 ที่ฟรีโฟลทเกิน 20% ไม่มากนัก

ช่วงปลายปี 2563 ที่ผ่านมาพบว่า มีราคาหุ้นบางบริษัทที่มีการเคลื่อนไหวอย่างร้อนแรง ราคาสูงเกินพื้นฐานไปมาก ทำจุดสูงสุดเพิ่มขึ้นถึง 1,000% ส่งผลไปถึงมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด(มาร์เก็ตแคป) ปรับขึ้นมาอยู่ในอันดับต้นๆ ซึ่งหากราคาหุ้นดังกล่าว มีการเคลื่อนไหวขึ้นหรือลงอย่างรุนแรง จะมีผลต่อดัชนีหุ้นไทยให้ปรับตาม ทำให้ดัชนีหุ้นไทยไม่สะท้อนพื้นฐานจริง ซึ่งหากพิจารณาจะพบว่า เป็นการปรับขึ้นจากความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นรายตัวที่มีผู้ถือหุ้นรายย่อย(ฟรีโฟลท) ในสัดส่วนที่ตํ่า และอาจจะมีปัจจัยบวกจากเงินทุนนักลงทุนต่างชาติไหลเข้ามาหนุนในช่วงดังกล่าวอีกด้วย

 

ล่าสุดนายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ออกมาระบุว่า ตลท.อยู่ระหว่างพิจารณาปรับปรุงมาตรการกำกับดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลทตํ่า เพื่อให้มีมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติม จากปัจจุบันที่ยังคงใช้ 3-4 แนวทางในการดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลทตํ่าที่มีการซื้อขายและราคาเคลื่อนไหวผิดปกติตามมาตรฐานที่มีอยู่อย่างเท่าเทียม โดยยังบอกไม่ได้ว่า จะใช้วิธีการอย่างไร แต่หลังจากได้ข้อสรุปจะหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) จากนั้นจะแจ้งรายละเอียดอีกครั้งและเตรียมเปิดรับฟังความเห็นให้เร็วที่สุด

 

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่ใช้กำกับดูแลขณะนี้ คือ ให้บริษัทจดทะเบียน (บจ.) จะต้องมีการกระจายให้กับผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ 15% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วซึ่งเป็นแนวทางเดียวกับต่างประเทศที่ใช้ดูแลอยู่ที่เฉลี่ย 10-15% ซึ่งบจ.ที่มีสัดส่วนตํ่ากว่าเกณฑ์ จะต้องมีการเปิดเผย
ข้อมูลให้กับผู้ลงทุนได้รับทราบ เพื่อกระตุ้นให้มีสัดส่วนฟรีโฟลทกลับขึ้นมาไม่น้อยกว่า 15% ส่วนการดูแลการซื้อขายหลักทรัพย์ของบริษัททุกบริษัท กรณีที่ราคามีสภาพที่ผิดไปจากปกติ จะมีการติดตามให้บริษัทเปิดเผยข้อมูลเข้ามาในระบบ ถึงพัฒนา
การที่สำคัญให้ผู้ลงทุนได้รับทราบเพิ่มเติมด้วย 

โบรกหนุนตลท. ปรับเกณฑ์ฟรีโฟลท

นายกิจพณ ไพรไพศาลกิจ ผู้อำนวยการอาวุโสและนักกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์(บล.) ยูโอบี เคย์เฮียน(ประเทศไทย)จำกัดเปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เป็นเรื่องที่ดีที่่ตลท.มีแนวทางที่จะออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อดูแลหุ้นที่มีฟรีโฟลทตํ่านั้น เพราะที่ผ่านมา บางครั้งเกิดการเก็งกำไรที่ผิดปกติ ไม่สะท้อนภาพที่แท้จริง ถึงแม้นักลงทุนจะสามารถดูแลตัวเองได้ แต่ระยะเวลายาวนานกว่าที่คิด ซึ่งหุ้นบางตัวอาจจะสอดคล้องกับธีมต่างประเทศ แต่ผิดปกติกับหุ้นอื่นในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกัน

 

สำหรับแนวทางที่มีความเป็นไปได้คาดว่า จะเป็นการนิยามหุ้นที่หมุนเวียนซื้อขายใหม่ จากเดิมที่ให้ผู้ถือหุ้นรายย่อยที่ไม่มีความเกี่ยวพันกับผู้ถือหุ้นใหญ่ ถือหุ้นได้ 5% อาจจะลดลงเหลือ 3-4% เพื่อให้ฟรีโฟลทสัดส่วนเพิ่มขึ้น และสะท้อนราคาจริงมากขึ้น รวมถึงทำให้การคำนวนรายชื่อหลักทรัพย์ที่มีการซื้อขายอย่างหนาแน่น(Ternover list) มีความง่ายขึ้นเพราะมีฟรีโฟลทที่เป็นความจริง

ด้านบล.ทิสโก้ จำกัดระบุว่า แนวทางการปรับเกณฑ์หุ้นฟรีโฟลทตํ่า เพื่อป้องกันภาวะตลาดผันผวน มองว่า มีความเป็นไปได้ที่อาจปรับ “คำนิยาม” ใช้ในการกำหนดฟรีโฟลทของหุ้นใหม่ เพราะ “คำนิยาม” ในปัจจุบันอาจยังไม่สอดคล้องกับสภาพฟรีโฟลทที่แท้จริงของหุ้นแต่ละตัว โดยเฉพาะเกณฑ์การถือหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันภัย และกองทุนรวมต่าง ๆ ที่น้อยกว่าระดับ 5% นับเป็นฟรีโฟลท ซึ่งอาจทำให้ฟรีโฟลทสูงกว่าสภาพที่แท้จริง

 

นอกจากนั้น มองว่า หลักเกณฑ์การคัดเลือกหุ้นเข้าคำนวณในดัชนี SET50 หรือ SET100 ที่กำหนดให้มีฟรีโฟลทไม่ตํ่ากว่า 20% อาจถูกปรับใหม่ให้เข้มงวดขึ้น เช่น จาก 20% เป็น 25% เป็นต้น และอาจไม่ใช้แค่ข้อมูลฟรีโฟลทล่าสุดที่ผ่านเกณฑ์เท่านั้น แต่อาจเป็นข้อมูลฟรีโฟลทย้อนหลังที่ผ่านเกณฑ์อย่างสมํ่าเสมอ เช่น มีฟรีโฟลทไม่น้อยกว่า 20% เป็นเวลา 3-6 เดือน 

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและบริการการลงทุน บริษัทหลักทรัพย์(บล.) โนมูระ พัฒนสิน(ประเทศไทย)กล่าวว่า บริษัทประเมินมาตรการที่ตลท.จะนำมาดูแลหุ้นฟรีโฟลทตํ่า โดยอิงจากการซื้อขายที่ผ่านจะออกมาใน 2 รูปแบบคือ ยกระดับการซื้อขายด้วยบัญชีเงินสด(Cash Balance) และปรับฟรีโฟลทเพิ่มขึ้นในการคัดเลือกหุุ้นเข้าดัชนี 50 และ 100 

 

สำหรับ Cash Balance ที่ใช้อยู่ปัจจุบันมี 3 ระดับคือ ระดับแรกให้ซื้อขายเฉพาะบัญชีเงินสด ระดับที่ 2 เพิ่มไม่ให้โบรกเกอร์ใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกัน และสูงสุดระดับ 3 คือ ห้ามซื้อขายหักลบในวันเดียว(Net settlement ) ส่วนเกณฑ์เพิ่มฟรีโฟลทคาดว่า จะกำหนดมากกว่า 25% หรือปรับเข้มงวดขึ้น โดยพิจารณาสภาพคล่องการหมุนเวียนของหุ้นภายในรายเดือนที่เข้มขึ้นจากเดิม 5% ลดทีละ 0.5% ลงมาไม่ตํ่ากว่า 1% อาจขยับฐานสูงขึ้น เพื่อได้ชุดหุ้นที่มีสภาพคล่องภายในสูง 

 

หน้า 14 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,644 วันที่ 14 - 16 มกราคม พ.ศ. 2564