รู้จักกองทุนสำรองเลี้ยงชีพแบบสมดุลตามอายุ

29 ธ.ค. 2563 | 22:09 น.

“แผนการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ" หรือ “Life Path” เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่จะช่วยให้เงินของสมาชิกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น



“แผนการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ (Target Date)” หรือ “Life Path” เป็นรูปแบบที่ได้รับความนิยมมากขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ที่จะช่วยให้เงินของสมาชิกทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเป็นการจัดสรรเงินลงทุนในระยะยาว ที่มุ่งเน้นแผนการลงทุนให้สอดคล้องกับช่วงอายุของสมาชิกเป็นสำคัญ โดยมีหลักการรับความเสี่ยงในแต่ละช่วงอายุของสมาชิก เนื่องจากสมาชิกในแต่ละช่วงอายุสามารถรับความเสี่ยงในการลงทุนได้ต่างกัน

 

หลักการลงทุนในแผนสมดุลตามอายุนั้น สำหรับช่วงวัยเริ่มทำงานจะเน้นการลงทุนใน “สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง” เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ในช่วงวัยกลางคนจะเน้นเรื่อง “การปรับลดความเสี่ยงลง” ให้เหมาะสมกับอายุที่เปลี่ยนไป และเมื่อถึงช่วงวัยใกล้เกษียณจะให้ความสำคัญกับ “การรักษาเงินต้น” โดยปรับแผนการลงทุนให้มีความเสี่ยงต่ำเพื่อสร้างผลตอบแทนที่สม่ำเสมอ

 

ทำไมต้องเลือกแผนสมดุลตามอายุ?

 

ความเสี่ยงที่มักจะเจอบ่อยสำหรับคนอายุน้อยในช่วงวัยเริ่มทำงาน คือ การเลือกลงทุนในแผนการลงทุนที่เสี่ยงต่ำเกินไป เช่น ตราสารตลาดเงินหรือตราสารหนี้ 100% ผลตอบแทนในระยะสั้นอาจมีความผันผวนต่ำ แต่จะเสียโอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว ส่วนความเสี่ยงที่มักจะเจอกับคนในช่วงวัยใกล้เกษียณมักจะตรงกันข้าม นั่นคือ การเลือกลงทุนในแผนการลงทุนที่เสี่ยงสูงเกินไป เช่น หุ้นไทยหรือหุ้นต่างประเทศ 100% จะทำให้มีโอกาสในการสูญเสียเงินจำนวนมาก ในช่วงเวลาที่สภาวะตลาดไม่ดี

 

จุดเด่นของแผนสมดุลตามอายุจะช่วยตัดความไม่แน่นอน ลังเลสงสัยในการลงทุน..

 

⦁    ตัดความไม่แน่ใจในการเลือกแผนที่เหมาะสมกับตัวเอง 

⦁    ตัดความสับสนเมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแผน และ 

⦁    ตัดความซับซ้อนโดยเลือกแผนเพียงครั้งเดียวในตอนแรก

 

หลังจากนั้นผู้จัดการกองทุนจะทำหน้าที่บริหารจัดการแทนสมาชิกทุกประการ ได้แก่

 

⦁    การคัดเลือกประเภทของสินทรัพย์ (Asset Class Selection) ให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ ซึ่งในปัจจุบันสินทรัพย์ลงทุนจะมีความหลากหลาย เช่น ตราสารหนี้ หุ้นไทย หุ้นต่างประเทศ อสังหาริมทรัพย์ ทองคำ เป็นต้น เพื่อสร้างผลตอบแทนที่ดีให้กับสมาชิกในระยะยาว 

 

⦁    การสร้างพอร์ตการลงทุนระยะยาว (Strategic Asset Allocation) และปรับลดความเสี่ยงของพอร์ตให้อัตโนมัติ ด้วยการสร้างกรอบการลงทุน ปรับสมดุลตามอายุ เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูงในวัยเริ่มทำงาน และทยอยปรับลดความเสี่ยงเมื่อใกล้วัยเกษียณ 

 

⦁    การปรับกลยุทธ์การลงทุนตามภาวะตลาด (Tactical Asset Allocation) โดยผู้จัดการกองทุนปรับเพิ่มหรือลดน้ำหนักการลงทุนในแต่ละกลุ่มหลักทรัพย์ภายในกรอบสัดส่วนการลงทุนที่กำหนด เพื่อสร้างโอกาสรับผลตอบแทนที่สูงขึ้น โดยการคาดการณ์ภาวะตลาด และผลตอบแทนการลงทุนในระยะสั้น 

 

⦁    การควบคุมความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุน (Rebalancing Portfolio) โดยการปรับสัดส่วนการลงทุนให้สมาชิกอย่างสม่ำเสมอเพื่อไม่ให้สมาชิกมีความเสี่ยงมากกว่าที่ยอมรับได้

 

ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกเริ่มต้นทำงานตอนอายุ 23 ปี ด้วยเงินเดือน 18,000 บาท เพิ่มขึ้น 3% ต่อปี เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพตั้งแต่เริ่มทำงานจนเกษียณอายุ 60 ปี เลือกจ่ายเงินสะสม 5% และนายจ้างสมทบเท่ากัน 5%

 

⦁    ถ้าหากสมาชิกเลือกแผนตราสารหนี้ 100% คาดหวังผลตอบแทน 2.5% ต่อปี ทำงานเก็บออมเงินมา 37 ปี ณ วันเกษียณจะมีเงิน 2 ล้านบาท ซึ่งสามารถถอนออกมาใช้เดือนละ 20,000 บาท แล้วเงินก้อนนี้จะหมดลงตอนอายุ 69 ปี แต่จะดีกว่ามั้ย? ถ้าหาก... 

 

⦁    ถ้าหากสมาชิกเลือกแผนสมดุลตามอายุ คาดหวังผลตอบแทนเฉลี่ย 6% ต่อปี ทำงานเก็บออมเงินมา 37 ปี ณ วันเกษียณจะมีเงิน 4 ล้านบาท ถ้าถอนออกมาใช้เดือนละ 20,000 บาท เงินจะหมดตอนอายุ 79 ปี

 

จากตัวอย่างจะเห็นได้ว่าการเลือกแผนการลงทุนให้เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยเพิ่มโอกาสให้ประสบความสำเร็จจากการลงทุนในระยะยาวได้
 

 

แผนสมดุลตามอายุเหมาะสมกับใคร?

 

ในกรณีที่สมาชิกไม่มีความเชี่ยวชาญในการลงทุนหรือไม่มีเวลาศึกษาเรื่องการลงทุนด้วยตัวเอง การเลือกลงทุนในแผนสมดุลตามอายุจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสม เพราะสมาชิกเพียงแค่เลือกแผนการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเอง หลังจากนั้นจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูและปรับแผนการลงทุนให้อัตโนมัติตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ

 

อย่างไรก็ตาม หากต้องการมีเงินพอใช้เกษียณตามแผนที่ตั้งใจไว้ ยังมีปัจจัยอื่นๆ ในการเก็บออมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่ต้องให้ความสำคัญด้วยเหมือนกัน คือ อัตราเงินสะสมในแต่ละเดือนที่จะต้องออมให้มากพอ ซึ่งในปัจจุบันสมาชิกสามารถเลือกสะสมได้สูงสุด 15% หรือสูงสุดตามข้อบังคับของนายจ้าง รวมถึงการบริหารจัดการเงินหลังเกษียณ ยังจำเป็นต้องมีการลงทุนอยู่อย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีผลตอบแทนที่ชนะเงินเฟ้อในระยะยาวตลอดช่วงชีวิตที่เราเกษียณอายุแล้ว ตลอดจนการถอนออกมาใช้จ่ายด้วยความมีระเบียบวินัยตามแผนที่วางไว้ และผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า “แผนการลงทุนแบบสมดุลตามอายุ” ซึ่งเป็นแผนการลงทุนที่มีผู้จัดการกองทุนมืออาชีพช่วยปรับสัดส่วนการลงทุนให้มีความเสี่ยงในการลงทุนเหมาะสมสำหรับแต่ละช่วงอายุ จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้สมาชิกของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ มีเงินพอใช้สำหรับหลังเกษียณอายุได้ไม่ยาก
 

 

 

 

โดย ยุทธพงศ์ แสงรัตน์ นักวางแผนการเงิน CFP®