เศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 ติดลบน้อยกว่า 12.2%

28 ก.ย. 2563 | 07:13 น.

สศค. เชื่อเศรษฐกิจไทย ไตรมาส 3 จะติดลบน้อยกว่า 12.2% หลังดัชนีชี้วัดดีขึ้นทุกตัว พร้อมปรับประมาณการจีดีพีใหม่ ต.ค.นี้

             นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง  ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.ยังชะลอตัว แต่มีทิศทางปรับดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก.ย.ที่ผ่านมา โดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม การส่งออกและการบริโภคภาคเอกชน ซึ่งเป็นผลมาจากการผ่อนคลายการป้องกันและยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้ดัชนีชี้วัดต่างๆ ฟื้นตัวดีขึ้น

           ทั้งนี้หากเศรษฐกิจไทยยังคงมีแนวโน้มแบบนี้ต่อไป จะทำให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปีนี้ จะกลับมาฟื้นตัวได้ดีกว่าไตรมาสที่ 2 ที่ติดลบ 12.2% แต่จะดีขึ้นมากน้อยเพียงใด ต้องขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจหลังจากนี้ รวมถึงเศรษฐกิจทั้งปีด้วย โดย สศค.จะปรับประมาณการเศรษฐกิจใหม่ในเดือนต.ค.2563 จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยในปีนี้จะติดลบ 8.5% และปีหน้าขยายตัวได้ 4-5%

            “ถ้าดัชนีชี้วัดต่างๆ อย่างเป็นแบบนี้ต่อไป เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 3 ดีขึ้นกว่าไตรมาสที่  2แน่นอน แต่จะดีมากน้อยแค่ไหน ต้องรอดูตัวเลขเศรษฐกิจในเดือนก.ย.อีกครั้งก่อน ”นายวุฒิพงศ์ กล่าว

                   สำหรับเศรษฐกิจไทยในเดือนส.ค.ที่ผ่านมา มีปัจจัยบวกหลายตัว ทั้งการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณปรับดีขึ้นเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ติดลบลดลงเหลือลบ 3.8% จากเดือนก่อนหน้าที่ลบ 11.6%  ขณะที่ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับดีขึ้นเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกันมาอยู่ที่ระดับ 51 หลังจากที่รัฐบาลได้ดำเนินมาตรการผ่อนคลายเรื่องโควิด-19 ช่วยให้มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น ส่วนการลงทุนภาคเอกชนปรับดีขึ้นเล็กน้อย โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนและปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ที่ปรับดีขึ้น

                 ขณะที่การค้าระหว่างประเทศ พบว่า การส่งออกสินค้าหดคัวในอัตราที่ชะลอลง 7.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มสินค้าที่ขยายตัวได้ คือ อาหาร เช่น ข้าวพรีเมี่ยม ข้าวกล้อง อาหารสัตว์เลี้ยง เป็นต้น สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์ เครื่องโทรสาร สินค้าเก็งกำไร และลดความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจ เช่น ทองคำ เป็นต้น ด้านการนำเข้าในเดือนส.ค. ที่ผ่านมา ติดลบ 19.7%

                ส่วนเสถียรภาพเศรษฐกิจภายในประเทศยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.5% ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.3% ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สินเดือน ก.ค. 63 อยู่ที่ 47% ต่อจีดีพี โดยยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง