ศบศ.เร่งทุกมาตรการ เติมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

23 ก.ย. 2563 | 10:00 น.

ศบศ.สั่งย่นเครดิตเทอมให้เงินถึงมือรายเล็กเร็วขึ้น ผู้รับเหมาวางใบพีโอขอแฟคตอริ่งได้ ด้านบสย.ขยายเพดานคํ้าเงินกู้เป็น 50% ช่วยกลุ่มเปราะบาง พร้อมของบเพิ่ม 6 หมื่นล้าน

ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากเชื้อโควิด-19 (ศบศ.) เมื่อ 16 กันยายน 2563 อนุมัติมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้น เทงบ 51,000 ล้านบาท เพิ่มกำลังซื้อผู้บริโภค 24 ล้านคน จากโครงการคนละครึ่งและเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ผ่อนเกณฑ์เข้าประเทศรับนักลงทุน-ลองสเตย์เข้าประเทศเพิ่มแล้ว ยังสั่งทะลวงท่อเร่งผันสภาพคล่อง เติม เอสเอ็มอี ทั้ง ร่นเวลาเครดิตเทอม ลงเหลือ 30-45 วัน ไฟเขียว ใบสั่งซื้อ(พีโอ) ยื่นขอแฟคตอริ่งได้ ด้านบสย.เพิ่มเพดานคํ้าเป็น 50 % สำหรับ กลุ่มเปราะบาง ก่อนเป็น หนี้เสีย

 

ร่น“เครดิตเทอม”

เอสเอ็มอีในภาคการค้ากว่า 1.3 ล้านราย เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่อง ได้เคยเสนอรัฐให้ออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยตํ่า (Soft Loan) 0.1% ผ่านผู้ค้าปลีกรายใหญ่ ขอใช้เงิน 2.5 หมื่นล้านบาท จากวง เงินกู้ฟื้นฟูเศรษฐกิจ เพื่อย่นเวลาการจ่ายเงินให้คู่ค้าเอสเอ็มอี จากเดิม 30 วัน เป็นภายใน 7 วัน หวังเติม สภาพคล่องเอสเอ็มอีได้กว่า 5 แสนราย และไม่สร้าง หนี้เสีย ให้กับธนาคารพาณิชย์

 

ที่ประชุมศบศ.ล่าสุด เห็นชอบ ให้กระทรวงพาณิชย์และคณะกรรมการแข่งขันทางการค้า(กขค.)ไปกำหนดเกณฑ์มาตรฐานระยะเวลาเครดิต หรือเครดิตเทอมที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ต้องชำระหนี้ให้กับคู่ค้า หรือซัพพลายเออร์ ภายในระยะเวลา 30-45 วัน จากปัจจุบันที่ขยายไป 45-60 วัน และบางกรณีถึง 90 วัน

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าวถึงเรื่องลดเวลาเครดิตเทอมนี้ ได้มอบหมายให้กขค.ไปดำเนินการว่าจะทำอย่างไร ซึ่งต้องให้เวลาใน การรวบรวมข้อมูลการกำหนดรูปแบบและแนวทางที่จะดำเนินการ

ศบศ.เร่งทุกมาตรการ เติมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

หวั่นดันต้นทุนสินค้า

เรื่องนี้นายศุภวุฒิ ไชยประสิทธิ์กุล ผู้อำนวยการใหญ่บริหารสินค้าซุปเปอร์มาร์เก็ต บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ปัจจุบันเดอะมอลล์ กรุ๊ป ให้เครดิตเทอมกับซัพพลายเออร์ ที่มีประมาณ 2,000 แบรนด์ ในกรอบ 15-60 วัน ส่วนรายย่อยหรือ เอสเอ็มอีจะจ่ายให้ใน 15-30 วัน มีเพียงบางรายที่ชำระทุก 45 วัน และรายใหญ่จริงๆ ถึงจะจ่ายใน 60 วัน ซึ่งน้อยมาก จึงไม่กระทบหากจะมีประกาศออกมา โดยเวลานี้มีซัพพลายเออร์ประมาณดังนั้น หากมีประกาศก็ไม่ส่งผลกระทบ

 

ขณะที่นายปฐพงศ์ เอี่ยมสุโร ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการพาณิชย์ บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ห้างค้า ปลีกในกลุ่มบีเจซี กล่าวว่า บิ๊กซีให้เครดิตเทอม แก่ซัพพลายเออร์ ที่มีประมาณ 4,000 ราย แยกตามประเภทสินค้า มีตั้งแต่น้อยกว่า 14 วัน 30 วัน และ 60 วันขึ้นไป เป็นไปตามหมุนเวียนสินค้าที่ขายได้ช้าหรือเร็ว ถ้ารัฐออกมาตรฐานระยะเวลาเครดิตเทอมใหม่ให้สั้นลง น่าจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า

 

มีรายงานว่า ขณะนี้บริษัทใหญ่ เช่น บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) หรือเอสซีจี และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ยินดีร่นเครดิตเทอมเหลือ 30 วัน เพื่อให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเดินได้

ศบศ.เร่งทุกมาตรการ เติมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

วาง PO ตึ๊งเงินได้

ด้านกลุ่มผู้รับเหมาในอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ที่มีปัญหารอการเบิกจ่ายในโครงการสัญญาจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ ที่ต้องใช้เวลาค่อนข้างนาน และสะสมมาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2561 ถูกซํ้าเติมด้วยการมาของเชื้อโควิด-19 ที่มีการล็อกดาวน์พื้นที่ งานสะดุดทั้งในส่วนของผู้ประกอบการและภาครัฐ จนตกค้างไม่ตํ่ากว่า 500,000 สัญญาที่ยังเบิกจ่ายไม่ได้

 

รายงานข่าวแจ้งว่า ในที่ประชุมศบศ.มีการหารือถึงการทะลวงปัญหาดังกล่าว โดยผ่อนปรนให้เอกชนออกใบสั่งซื้อ(Purchase Order-PO) ซึ่งเป็นเอกสารข้อตกลงของผู้จัดจำหน่าย ในการซื้อสินค้าหรือบริการ ในการทำงานจัดจ้างภาครัฐ โดยระบุรายละเอียดตรงกันกับสัญญา เช่น กำหนดส่งมอบงาน เป็นต้น ส่วนใหญ่ใช้กันในหมู่ผู้รับเหมารายเล็ก ที่รับงานจากรายใหญ่อีกทอด ใช้เป็นหลักประกันไปยื่นกู้แฟคตอริ่งจากสถานบันการเงินได้ก่อน เพื่อให้ผู้ประกอบการมีสภาพคล่องไปใช้

 

นายอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า หาก สามารถนำใบPO ให้สามารถนำไปวางแบงก์เพื่อขอกู้เงินออกมาได้ก็จะเป็นเรื่องที่ดี

บสย.อุ้มกลุ่มเปราะบาง

ด้านนายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอให้บสย.คํ้าประกันเพิ่มจาก 30% เป็น 50% บสย. ไม่สามารถช่วยได้ทั้งหมด จึงขอให้กกร.กลับไปจัดกลุ่มเอสเอ็มอีมาให้ เช่น กลุ่มเปราะบาง อาจจะให้การคํ้าประกันสูงสุด 50% กลุ่มที่แข็งแรงขึ้น ก็ลดลงมาเหลือ 40-30 % ตามลำดับ

ศบศ.เร่งทุกมาตรการ เติมสภาพคล่องเอสเอ็มอี

บสย.ยังได้เสนอสำนักงานเศรษฐกิจและสังคม(สศค.) ขอใช้งบประมาณ 5-6 หมื่นล้านบาท จากวงเงินกู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยเฉพาะในกลุ่มที่มีสัญญาณสินเชื่อกล่าวถึงเป็นพิเศษ(SM) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจาก 4.05% มาอยู่ที่ 14 % หรือประมาณ 7 แสนล้านบาท ยังไม่รวมหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ที่มีอยู่ 3 แสนล้านบาท หรือ 6.5% รวมเอสเอ็มอีที่มีปัญหา 1 ล้านล้านบาท หากได้รับอนุมัติ บสย.จะสามารถช่วยเอสเอ็มอีที่กำลังจะตกชั้นจาก SM ที่อยู่ 7 แสนล้านบาท ไปเป็นเอ็นพีแอลได้มากกว่าครึ่ง หรือราว 3.6 แสนล้านบาท

 

“ตอนนี้หนี้ทั้งระบบมีอยู่ 17.8 ล้านล้านบาท โดย 1 ใน 3 เป็นหนี้เอสเอ็มอี 6 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มีคนเจ็บที่เป็นหนี้เสียราว 3 แสนล้านบาท และเกือบ 7 แสนล้านบาทกำลังถูกจัดชั้นหนี้ ซึ่งหากเราไม่ช่วยกลุ่มนี้ก็จะตกเป็นหนี้เสียได้” นายรักษ์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ต้องอัดฉีด อีก 5 แสนล้าน ช่วยฟื้นเอสเอ็มอี

เตรียมใช้เงินกู้ 6 หมื่นล้านบาท ให้บสย.ช่วยเอสเอ็มอี

บี้มัดหนี้เอสเอ็มอี 1.2 ล้านล้าน

ร่วงระนาว เอสเอ็มอีท่องเที่ยว เลิกกิจการพุ่ง ปิดแล้ว 240 ราย


หน้า 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,610  วันที่ 17-19 กันยายน พ.ศ. 2563