บี้มัดหนี้เอสเอ็มอี 1.2 ล้านล้าน

26 ส.ค. 2563 | 06:55 น.

ธปท.ดึงสมาคมแบงก์ไทย-เทศ แบงก์รัฐ  สอท. นำร่องร วมหนี้เอสเอ็มอี ปรับโครงสร้างหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายราย ขีดวงเงินสินเชื่อ 50-500 ล้านบาท มูลหนี้รวมกว่า 1.2 ล้านล้านบาท

หนึ่งในความกังวลของระบบสถาบันการเงินคือ ลูกหนี้ที่อยู่ในช่วงของการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งรายย่อยและผู้ประกอบการธุรกิจ รวมถึงธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่มียอดสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท (Debt Holiday) ซึ่งจะครบกำหนด พักชำระหนี้ ในเดือนตุลาคม 2563 แล้วจะทำให้ไม่สามารถชำระหนี้ได้และจะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ทั้งนี้หากพิจารณาจากความคืบหน้าสถาบันการเงินช่วยลูกหนี้ผ่านการปรับโครงสร้างหนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2563 มีลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือทั้งหมด 12,822,259 บัญชี มูลหนี้ 6.88 ล้านล้านบาท 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จึงร่วมกับสมาคมธนาคารไทย สมาคมธนาคารนานาชาติ และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจัดทำ “โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” หรือ โครงการดีอาร์ บิส เพื่อมาเป็นกลไกจัดการหนี้อย่างบูรณาการ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ธุรกิจ ที่มีเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายราย โดยให้สถาบันการเงินที่มีมูลหนี้ก้อนใหญ่ เป็นเจ้าหนี้หลักในการดูแลลูกหนี้และประสานงานกับเจ้าหนี้รายอื่นๆ ที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งสถาบันการเงิน และธนาคารรัฐ เพื่อให้การตัดสินใจแก้ไขหนี้ทำได้รวดเร็วและเบ็ดเสร็จ 

 

สำหรับระยะแรก จะเน้นกลุ่ม ลูกหนี้ธุรกิจที่มีหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายราย วงเงินรวมกันตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท โดยเป็นทั้งลูกหนี้ที่มีสถานะปกติหรือเป็นเอ็นพีแอล ตั้งแต่วันที่ 1 มค.2562 ต้องไม่ถูกฟ้องคดี สามารถเข้าร่วมโครงการตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2563 และกำหนดระยะเวลาดำเนินโครงการภายในสิ้นปี 2564

บี้มัดหนี้เอสเอ็มอี 1.2 ล้านล้าน

นาย วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า บทเรียนของสถาบันการเงินในช่วงที่ผ่านมาอย่างน้อยมี 2 เรื่องคือ เรื่องแรกคือ วิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งขณะนั้นมีโครงการ CRAC หรือ คณะที่ปรึกษาการปรับปรุงโครงสร้างหนี้้ ให้กับธุรกิจรายใหญ่ ที่ได้รับผลกระทบจาก ต้มยำกุ้ง โดยต้องเข้าไปเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ หลังจากที่ปล่อยให้เป็นหนี้เสียส่วนใหญ่แล้ว

 

ปัจจุบันปัญหาแตกต่างกัน ธุรกิจขนาดใหญ่มีความมั่นคงทางฐานะการเงินและมีความสามารถในการเจรจาต่อรองกับเจ้าหนี้ได้ ขณะที่คลินิกแก้หนี้ จะเป็นอีกตัวอย่างของการปรับโครงสร้างลูกหนี้รายย่อยที่มีเจ้าหนี้หลายราย แต่สิ่งที่ขาดหายไปจากบทเรียนที่ผ่านมา คือ ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบและเดือดร้อนมาก ดังนั้นโครงการดีอาร์ บิส จึงโฟกัสผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีวงเงิน 50-500 ล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งลูกหนี้จากการเลื่อนชำระหนี้เป็นการทั่วไป ที่จะครบกำหนดวันที่ 22 ตุลาคม 2563 จะได้อานิสงส์ด้วย

 

สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีหนี้กับเจ้าหนี้สถาบันการเงินหลายรายวงเงินรวมกันตั้งแต่ 50-500 ล้านบาท กลุ่มนี้มีจำนวน 8,400 ราย มูลหนี้ 1.1 ล้านล้านบาทถึงเกือบ 1.2 ล้านล้านบาท แต่อาจจะเข้าโครงการหลักหลายพันไม่ใช่ทุกรายที่จะเข้าโครงการ แต่ในจำนวนนี้ลูกหนี้จะกระจายตัวอยู่ในหลายประเภท เช่น ผู้ประกอบการด้านท่องเที่ยว, โรงแรม และพาณิชยกรรมบางส่วน 

 

“ผู้ประกอบการจำนวนมากที่มีเจ้าหนี้มากกว่า 1 รายต้องการปรับปรุงโครงหนี้หนี้เชิงรุกและโครงการดีอาร์บิส จะเป็นโครงการเริ่มต้นในการเร่งมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ที่มีปัญหาความล้มเหลวจากการประสานงานเพราะกระบวนการตัดสินใจที่สถาบันการเงินมีกรอบเวลาที่แตกต่างกันและการแก้ไขปัญหาหนี้ไม่สามารถทำได้ด้วยการให้หนี้เพิ่มแต่การปรับโครงสร้างหนี้ให้สอดคล้องกับวิถีการทำธุรกิจใหม่ขณะที่สถานการณ์โควิดทั่วโลกยังรุนแรงส่งผลต่อการค้าและไทยเราเป็นเศรษฐกิจแบบเปิดเราอาจจะอยู่กับสภาวะนี้อีก 2 ปี”

 

นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ธปท.กล่าวว่า แนวทางช่วยลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย สินเชื่อรวม 50-500 ล้านบาท น่าจะตอบโจทย์ช่วงเริ่มต้น สำหรับลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งลูกหนี้สถานะปกติและเป็นเอ็นพีแอล หลังวันที่ 1 มกราคม 2562 ซึ่งเป็นการแก้ไขหนี้เดิมและให้สินเชื่อใหม่ ทางธปท.ยังตั้งคณะกรรมการไกล่เกลี่ย หากเกิดกรณีคณะกรรมการเจ้าหนี้ ทั้งเจ้าหนี้หลักกับเจ้าหนี้รายอื่น) ไม่สามารถหาข้อสรุป

 

นายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทยกล่าวว่า โครงการดีอาร์บิส จะลดความสับสน เพิ่มความรวดเร็วและไม่ซํ้าซ้อนซึ่งมิติแรกลูกหนี้ที่มีเจ้าหนี้หลายรายก็ติดต่อตรงกับเจ้าหนี้รายใหญ่ไม่ต้องวิ่งไปหลายสถาบันการเงิน โดยเอื้อประโยชน์ต่อลูกหนี้เฉพาะกลุ่มเฉพาะราย 

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธาน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า มาตรการนี้ออกมารองรับลูกหนี้พักชำระหนี้ 6 เดือน ซึ่งจะครบกำหนดเดือนตุลาคมนี้ด้วย โดยเบื้องต้นจะช่วยลูกหนี้ได้มาก ซึ่งสอท.มี 45 กลุ่มอุตสาหกรรม แบ่งเป็น 11 คลัสเตอร์ โดยประสบปัญหา 2 เหตุการณ์ทั้งสงครามทางการค้าและโควิด 

 

ขณะที่เศรษฐกิจไทยพึ่งพาภาคส่งออกทำให้หลายอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบมากบ้างลดกำลังการผลิต 20-80% ดังนั้น บางอุตสาหกรรมต้องการความช่วยเหลือและโครงการดีอาร์บิสเป็น One Stop Servive จะช่วยให้เกิดความรวดเร็วในการแก้ไขปัญหา ทั้งช่วยลดภาระหนี้ เพิ่มสภาพคล่องและหาผู้ร่วมทุน 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 40 ฉบับที่ 3,603 วันที่ 23 - 26 สิงหาคม พ.ศ. 2563