คลังเตรียม 1.14 แสนล้าน ดูแล SMEs เพิ่มเติม

18 ส.ค. 2563 | 11:40 น.

กระทรวงการคลัง เตรียม วงเงินสินเชื่อ วงเงินค้ำประกัน 114,100 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา(COVID-19)แม้รัฐบาลจะมีมาตรการดูแลและเยียวยา เพื่อบรรเทาผลกระทบอย่างต่อเนื่อง แต่ยังมีผู้ประกอบการ SMEs และประชาชนอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุน

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)เมื่อ 18 สิงหาคม 2563 คณะรัฐมนตรี(ครม.)มีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SMEsเพิ่มเติม ตามที่ กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการ เพื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างทั่วถึงและเพียงพอใน 3 กลุ่มคือ 1. กลุ่ม SMEsทั่วไป  2.กลุ่ม SMEsท่องเที่ยว และ 3.กลุ่ม SMEsรายย่อยและประชาชน วงเงินสินเชื่อและวงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 114,100 ล้านบาท

 

คลังเตรียม 1.14 แสนล้าน ดูแล SMEs เพิ่มเติม

สำหรับ SMEsทั่วไป จะมีสินเชื่อ Softloan ธนาคาร ออมสิน วงเงิน 20,000 ล้านบาท โดยออมสินจะให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงินในอัตรา 0.01% ต่อปี และสถาบันการเงินปล่อยสินเชื่อต่อให้ผู้ประกอบการ SMEs วงเงินไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 2%  ต่อปีเป็นระยะเวลา 2 ปี  โดยเป็นวงเงินสำหรับผู้ประกอบการ SMEsทั่วไป 10,000 ล้านบาท และผู้ประกอบการ SMEsในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง 10,000 ล้านบาท และธนาคาร ออมสินจะปล่อยสินเชื่อให้ผู้ประกอบการ SMEs โดยตรงอีก 3,000 ล้านบาท 

 

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท โดยบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม(บสย.)ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEs ที่มีคุณสมบัติตามพระกำหนด(พ.ร.ก.) การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบวิสาหกิจที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 (พ.ร.ก. Soft Loan) แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 8 ปี โดย บสย.จะเริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SMEs แต่ละรายได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft Loan

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

คลังจ่อกู้ต่างประเทศเพิ่ม

ธนารักษ์ ปล่อยเช่าที่ราชพัสดุให้เกษตรกร

เปิดยื่นกู้สินเชื่อ "SMEs One"รอบ 2 วงเงิน 1.2 พันล้าน ดีเดย์ 24 ส.ค.นี้

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดย บสย. ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ SMEsทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียม 1.75% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี

คลังเตรียม 1.14 แสนล้าน ดูแล SMEs เพิ่มเติม

ส่วนกลุ่ม SMEsท่องเที่ยว จะมีสินเชื่อฟื้นฟูท่องเที่ยวไทย วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยธนาคา รออมสินปล่อยสินเชื่อ สำหรับผู้ประกอบการรายย่อยในธุรกิจท่องเที่ยวและ Supply Chain วงเงินไม่เกิน 500,000 บาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 3.99% ต่อปี ระยะเวลากู้ 5 ปี ปลอดชำระเงินต้น 1 ปี 

 

สินเชื่อ Extra Cash วงเงิน 9,600 ล้านบาท โดยธนาคารธนาคาร พัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) ปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการ SMEs ขนาดย่อมในธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอื่น ๆ ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล วงเงินไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย คิดอัตราดอกเบี้ย 3%  ต่อปี ใน 2 ปีแรก ระยะเวลากู้ 5 ปี
 

สำหรับกลุ่ม SMEsรายย่อยและประชาชน จะมีสินเชื่อเสริมพลังฐานราก วงเงิน 10,000 ล้านบาท โดยธนาคาร ออมสินปล่อยสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่เป็นบุคคลธรรมดา ผู้มีรายได้ประจำ ผู้ประกอบอาชีพอิสระ และบุคคลในครอบครัว วงเงินไม่เกิน 50,000 บาทต่อราย อัตราดอกเบี้ย 0.35% ต่อเดือน ระยะเวลากู้ 3 ปี ปลอดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน 

 

โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงินประมาณ 2,500 ล้านบาท โดย บสย.ค้ำประกันสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการรายย่อย คิดอัตราค่าธรรมเนียม 1-2% ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน10 ปี ขยายเวลารับคำขอค้ำประกันถึง 30 ธันวาคม 2563

 

"กระทรวงการคลังมั่นใจว่า มาตรการดูแล SMEs เพิ่มเติม จะทำให้การช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEsและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเชื้อไวรัส COVID-19 เป็นไปอย่างทั่วถึงและเพียงพอและจะเป็นหนึ่งในกลไก ที่สำคัญในการช่วยเหลือและเยียวยาภาคธุรกิจและภาคประชาชนให้ผ่านช่วงวิกฤตนี้ไปได้ โดยกระทรวงการคลังจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและพร้อมที่จะออกมาตรการที่เหมาะสมมาดูแลเศรษฐกิจไทยอย่างทันท่วงที"