เริ่มแล้ว ประกันภัยโคเนื้อ จ่ายเบี้ย 400 บาท คุ้มครอง 30,000 บาท

16 ก.ค. 2563 | 11:03 น.

ธ.ก.ส. เปิดโครงการ "ประกันภัยโคเนื้อ" หวังช่วยเกษตรกร ค่าเบี้ยตัวละ 400 บาท วงเงินคุ้มครอง 30,000 บาท/ตัว คุ้มครอง 6 เดือน เริ่มขายกรมธรรม์ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป

ธ.ก.ส. รุกงานประกันภัยด้านการเกษตร เปิด "โครงการประกันภัยโคเนื้อ" เพื่อช่วยเกษตรกรลดความเสี่ยงจากการตายของโคเนื้อที่เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ค่าเบี้ยประกันภัย 400 บาท/ตัว วงเงินคุ้มครอง 30,000 บาท/ตัว ระยะเวลาคุ้มครอง 6 เดือน เริ่มจำหน่ายกรมธรรม์ตั้งแต่บัดนี้ ที่ธ.ก.ส. ทุกสาขา

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า ธ.ก.ส.ได้จัดทำโครงการ ประกันภัยโคเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาความเสียหายของเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ ที่เกิดการตายของโคเนื้อที่เจ็บป่วยหรืออุบัติเหตุ ให้สามารถพยุงตัวได้และมีทุนเหลือเพียงพอต่อการเริ่มต้นใหม่ และเพื่อสร้างระบบภูมิคุ้มกันและส่งเสริมให้เกษตรกรมีการจัดการความเสี่ยงด้านการผลิต  โดยเกษตรกรหรือผู้ที่สนใจสามารถติดต่อขอเอาประกันภัยโคเนื้อได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ที่ ธ.ก.ส. ทุกสาขาทั่วประเทศ

เริ่มแล้ว ประกันภัยโคเนื้อ จ่ายเบี้ย 400 บาท คุ้มครอง  30,000 บาท

ทั้งนี้ อัตราค่าเบี้ยประกันภัยตัวละ 400 บาท (รวมภาษีมูลค่าเพิ่มและอากรแล้ว) โดยให้ความคุ้มครอง การตายจากการเจ็บป่วยของโคเนื้อ ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว และการตายจากอุบัติเหตุ ไฟไหม้ ฟ้าผ่า น้ำท่วม ดินถล่ม พายุ และแผ่นดินไหว ไม่เกิน 30,000 บาทต่อตัว ระยะเวลาคุ้มครองสิ้นสุดเมื่อส่งขายคอกกลางหรือ 6 เดือนนับจากวันขอเอาประกันภัย

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ตรวจสอบสิทธิ์ www.เยียวยาเกษตรกร.com ธ.ก.ส.โอนเงินรอบ 3 วันนี้ 1 ล้านราย

ลั่น www.เยียวยาเกษตรกร.com ตรวจสอบสถานะ จ่ายครบ 3 เดือนแล้ว “เยียวยาเกษตรกร”

สำหรับเงื่อนไขผู้เอาประกันภัย ต้องเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงโคเนื้อ และได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรกับกรมปศุสัตว์ ด้านโคเนื้อที่ขอเอาประกันภัยต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่มีความพิการที่มีผลกับสุขภาวะ และไม่เป็นโรคเรื้อรัง ไม่อยู่ระหว่างการรักษาพยาบาล มีอายุไม่เกิน 36 เดือน ได้ขึ้นทะเบียนกับกรมปศุสัตว์

เริ่มแล้ว ประกันภัยโคเนื้อ จ่ายเบี้ย 400 บาท คุ้มครอง  30,000 บาท

นอกจากนั้นต้องมีการทำเครื่องหมายประจำตัวสัตว์ (NID คือ การเขียนที่ใบหู / RFID คือ การฝังชิฟที่ใบหู)  มีบันทึกประวัติถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีนป้องกันโรคปากเท้าเปื่อย และโรคคอบวม (Hemorrhagic Septicemia) มาแล้ว  ไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ขอเอาประกันภัย โดยเกษตรกรผู้เอาประกันภัยจะต้องแสดงเอกสารยืนยันตัวตนของโคเนื้อ ระยะเวลารอคอย 30 วัน นับจากวันที่กรมธรรม์ประกันภัยมีผลบังคับ

 “ธ.ก.ส. และ กรมปศุสัตว์ มีนโยบายในการส่งเสริมการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ โคเนื้อ กระบือ แพะเนื้อ และไก่พื้นเมือง รวมถึงกิจการอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถภาคปศุสัตว์ไทยและช่วยฟื้นฟูอาชีพแก่เกษตรกร พร้อมทั้งสนับสนุนการจัดการด้านตลาดผลิตผลการเกษตรที่เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์  เพื่อสร้างอาชีพทางเลือกใหม่ด้วยการปรับเปลี่ยนพื้นที่ไม่เหมาะสมมาเลี้ยงสัตว์ สำหรับจำหน่ายทั้งภายในและต่างประเทศ”