มาตรการช่วยรายย่อยเฟสสอง ฉุดรายได้Q3แบงก์ลด 2 พันลบ.

23 มิ.ย. 2563 | 00:40 น.

กสิกรไทย ประเมินมาตรการช่วยลูกค้ารายย่อยเฟส 2  กระทบรายได้แบงก์ตั้งแต่ไตรมาส 3 ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.8-1.5% ของรายได้ดอกเบี้ย มองฐานเงินกองทุนและเงินสำรองแบงก์แกร่งสูงระดับ 18.9% 

บจก.ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ออกบทความเรื่อง "แนวทางช่วยลูกค้ารายย่อยเฟส 2  เน้นลดดอกเบี้ยและปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มแรงกดดันต่อผลประกอบการ" ระบุว่า  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เดินหน้าแพ็กเกจมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยระยะที่ 2 ซึ่งจะเน้นการลดภาระทางการเงินสำหรับลูกหนี้รายย่อย (ลดเพดานดอกเบี้ยสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล และปรับลดดอกเบี้ยในกรณีแปลงหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว)  รวมไปถึงกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้เพื่อให้ลูกหนี้แต่ละรายมีภาระผ่อนต่อเดือนน้อยลง ระยะเวลาผ่อนนานขึ้น และมีความสามารถในการชำระหนี้ที่สอดคล้องกับกระแสรายได้ของตนเองมากขึ้น

สำหรับผลต่อธนาคารพาณิชย์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยสำหรับลูกค้ารายย่อยในส่วนของสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคลตามแนวทางดังกล่าวจะมีผลกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเกิดขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 โดยในเบื้องต้น คาดว่า ผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้ารายย่อยในช่วงไตรมาสที่ 3/2563 จะอยู่ที่ประมาณ 1,000-2,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 0.8-1.5% ของรายได้ดอกเบี้ยของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยในไตรมาส 3/2563
ทั้งนี้ แม้ระบบธนาคารพาณิชย์จะเผชิญโจทย์ท้าทายต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ทั้งจากปัญหาเศรษฐกิจที่มีผลกระทบต่อสถานะของลูกค้า รวมถึงผลจากเดินหน้ามาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือลูกค้าตามแนวทางของทางการ

 

อย่างไรก็ดี ธนาคารพาณิชย์ทุกแห่งมีการวางกลยุทธ์/ปรับแผนการทำธุรกิจอย่างรอบคอบ มีการบริหารความเสี่ยงที่ดี ประกอบกับมีฐานเงินกองทุนและเงินสำรองในระดับสูง โดย ณ สิ้นเดือนเม.ย. 2563 ธ.พ. ไทยมีเงินกองทุนทั้งสิ้น 2,616,162 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงที่ 18.9% ซึ่งนับว่ามีความเข้มแข็งกว่าเกณฑ์เงินกองทุนที่ต้องดำรงขั้นต่ำของธปท.ที่ 11.0% ขณะที่สัดส่วนสำรองที่มีอยู่ต่อ NPLs อยู่ที่ 140% ซึ่งเพียงที่จะรองรับความเสี่ยงต่างๆ ในระยะที่เหลือของปีได้

อ่านฉบับเต็ม(คลิกที่นี่)