"ล็อกดาวน์ กทม." ทำไมทำได้ยาก "หมอเฉลิมชัย" ชี้ 4 ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จได้

26 มิ.ย. 2564 | 05:50 น.

หมอเฉลิมชัยเผยข้อมูลทำไมการประกาศล็อกดาวน์จึงยากเย็น ระบุต้นเหตุจากการรับทราบข้อมูล และสัมผัสความรู้สึกที่ไม่สมมาตร ชี้มี 4 ปัจจัยที่ทำให้สำเร็จได้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
    ทำไมการประกาศล็อกดาวน์จึงยากเย็นนัก ต้นเหตุเกิดจากการรับทราบข้อมูล และสัมผัสความรู้สึกที่ไม่สมมาตร (Symmetry) หรือไม่สมดุลกัน
    ทุกประเทศทั่วโลก ที่ประสบกับการระบาดของโควิด-19  ล้วนแต่เผชิญกับสถานการณ์ที่แตกต่างหลากหลายกันออกไปทั้งสิ้น อันเนื่องมาจากความแตกต่างของสภาพภูมิประเทศ ภูมิอากาศ สายพันธุ์ของไวรัส วิถีชีวิต ประเพณี วัฒนธรรม ความเชื่อ ศาสนา ตลอดจนคุณภาพของพลเมือง และคุณภาพของระบบสุขภาพ
    แต่ที่เหมือนกันทั่วโลกก็คือ ความกังวล หรือการลังเลที่จะออกนโยบายหรือมาตรการที่เข้มข้น ในการรับมือกับโรคโควิด เช่น การ Lockdown การประกาศ Curfew เป็นต้น เพราะมาตรการที่เข้มข้นและรับมือได้ดี หรือเน้นมิติสาธารณสุขนั้น มักจะเกิดผลกระทบกับมิติทางเศรษฐกิจอยู่เสมอ 
    เมื่อต้นปีที่แล้ว ( พ.ศ.2563) ตอนที่โควิดเริ่มเกิดระบาดเป็นครั้งแรก มีการแบ่งวิธีการรับมือโควิด ออกเป็นสามแนวทางด้วยกัน ได้แก่
    1.แนวทางไม่ทำอะไรปล่อยไปตามธรรมชาติ (Unmitigation) คือปล่อยให้โรคระบาดไปตามธรรมชาติ คอยประคับประคองไม่ให้มีคนเสียชีวิตมากนัก แล้วรอให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ตามธรรมชาติ โรคระบาดก็จะสงบไปเอง คือการเน้นมิติทางเศรษฐกิจเต็มตัว ตัวอย่างเช่น ประเทศอังกฤษ และบางประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย เลือกที่จะใช้วิธีการนี้ แต่สุดท้ายก็รับกับผลลบของมิติสาธารณสุขไม่ไหว คือความสูญเสียของชีวิตผู้คนมากมาย ต้องยุติแนวทางดังกล่าวไป
    2.แนวทางชะลอจำนวนผู้ติดเชื้อ (Mitigation) เป็นแนวทางประคับประคอง ใช้มาตรการผ่อนหนักผ่อนเบา เพื่อให้มิติทางเศรษฐกิจพออยู่รอดได้ แต่จะกระทบมิติทางสาธารณสุขอยู่พอสมควร โดยหวังว่า จะมีผู้ติดเชื้อเพิ่มจำนวนไม่รวดเร็วเหมือนวิธีที่หนึ่ง ทำให้ระบบสาธารณสุขรับมือไหว อาจจำเป็นต้องอดทนรอ 1-2 ปี แล้วโรคก็จะสงบลงเอง ยกเว้นว่า จะมีวัคซีนที่มีประสิทธิผลสูงเกิดขึ้นมาจัดการโรคระบาดได้ทัน พบว่าวิธีนี้ มีหลายประเทศทั่วโลกนำไปใช้  ได้ผลไม่ค่อยดีนัก มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นจำนวนมากพอสมควร
    3.การปิดเมืองปิดประเทศ (Suppression) คือการควบคุมไวรัสที่อยู่ในตัวมนุษย์เรา ไม่ให้เคลื่อนย้ายและแพร่ระบาดออกไป โดยการปิดเป็นพื้นที่ ที่เรียกว่าล็อกดาวน์ (Lockdown) อาจจะเป็นในระดับตำบล เมือง เขตภูมิภาค หรือทั้งประเทศก็ได้ ตามความจำเป็นและเหมาะสม เพราะเมื่อคนเคลื่อนย้ายไม่ได้ ไวรัสก็จะเคลื่อนย้ายแพร่ระบาดไปไหนไม่ได้ด้วยเช่นกัน สุดท้ายก็จะหมดไปจากพื้นที่นั้น เพราะไวรัสจะอยู่ได้เฉพาะในสิ่งมีชีวิตเท่านั้น ถ้าคนชนะ  ไวรัสก็จะหมดไป แล้วหายจากโรคภัยไข้เจ็บ แต่ถ้าคนแพ้ คนนั้นก็จะเสียชีวิต แต่ไวรัสก็จะสลายไปด้วยเช่นกัน สุดท้ายก็จะไม่มีไวรัสเหลืออยู่

การประกาศล็อกดาวน์ทำไมทำได้ยาก
    วิธีนี้ได้ผลในการหยุดการระบาดของโรคได้ดีที่สุด แต่ทำได้ยากที่สุดเช่นกัน เพราะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ในระยะสั้นและระยะกลางมากที่สุด แต่จะได้ผลในระยะยาวได้ดีที่สุดเช่นกัน
ประเทศจีนได้ตัดสินใจใช้วิธีนี้ตั้งแต่เริ่มต้นของการระบาด เมื่อผ่านมาหนึ่งปีเศษ ขณะนี้จีนอยู่ในอันดับที่ 100 มีผู้ติดเชื้อเพียง 91,693 คน เสียชีวิต 4,636 คน จากฐานจำนวนประชากรที่มีมากถึง 1,439 ล้านคน นับเป็นผลสัมฤทธิ์ที่เห็นได้ชัดเจนสำหรับแนวทางที่สาม
    แต่การจะใช้แนวทางที่สามหรือล็อกดาวน์ให้ได้ผลสำเร็จนั้น จำเป็นจะต้องประกอบไปด้วยปัจจัยแห่งความสำเร็จหลายประการดังนี้
    1.รัฐบาลต้องมีความพร้อม มีความมุ่งมั่น และความเข้มแข็ง ที่จะตัดสินใจใช้วิธีการดังกล่าว อย่างถูกต้อง รวดเร็ว และเหมาะสม เพราะมีผลกระทบกับมิติทางเศรษฐกิจค่อนข้างมาก
    2.ประชาชนจะต้องมีวินัย มีความรู้ความเข้าใจในสถานการณ์ของโรคระบาด เข้าใจธรรมชาติของไวรัส ตลอดจนวิธีการที่จะควบคุมโรค โดยผ่านผลกระทบทางลบในระยะสั้นและระยะกลาง
    3.เจ้าหน้าที่และผู้ที่เกี่ยวข้องที่ปฏิบัติงาน ต้องมีความรู้ความเข้าใจ ตลอดจนมีทักษะและความสามารถในการดำเนินการ การสื่อสารให้ประชาชนในเขตพื้นที่ที่ล็อกดาวน์ ได้ร่วมแรงร่วมใจ อดทน ยอมลำบากในระยะแรก เพื่อความสุขในระยะยาว เข้าได้กับลักษณะที่ว่า อดเปรี้ยวไว้กินหวาน
    4.การเมืองจะต้องนิ่งพอ มักใช้ได้ดีในประเทศที่ไม่เป็นประชาธิปไตย แต่บางประเทศที่เป็นประชาธิปไตย แต่การเมืองรวมเป็นหนึ่งเดียว ไม่มีการแยกเป็นฝ่ายรัฐบาลฝ่ายค้านในช่วงวิกฤติโรคระบาด ก็สามารถทำได้ดีเช่นกัน
    จึงพบว่า ทั่วโลกมีน้อยประเทศ ที่จะสามารถใช้แนวทางที่สาม ได้ในห้วงเวลาที่เหมาะสมคือ รวดเร็วทันต่อเหตุการณ์ เพราะวิธีนี้ เมื่อตัดสินใจจะทำแล้ว แต่เริ่มช้าเกินไป ผลที่ได้ออกมา จะไม่ดีเท่ากับตอนเริ่มต้นเร็ว หลายประเทศแม้เริ่มได้เร็วเหมาะสมทันเวลา แต่ก็ใจไม่แข็งพอ ผ่อนคลายยกเลิกมาตรการต่างๆเร็วเกินไปก็มี เกิดการล็อกดาวน์มากถึง 3-5 รอบ
    รัฐบาลทุกประเทศล้วนประสบปัญหาเดียวกันคือ มักตัดสินใจออกมาตรการเข้มช้าไปเสมอ เพราะมาตรการเข้ม จัดเป็นยาขมที่รสชาติไม่อร่อย หรือเป็นการผ่าตัดที่มีความเจ็บปวดในการรักษาโรค ผู้คนส่วนใหญ่ จะไม่มีความสุขกับการทานยาขม หรือรับการผ่าตัด ถ้าเลือกได้ จึงขอผลัดวันประกันพรุ่งไปใช้วิธีอื่นก่อนเสมอ  และหวังว่าจะหายจากโรคภัยไข้เจ็บ โดยไม่ต้องทานยาขมหรือรับการผ่าตัด
    ในขณะเดียวกัน เมื่อเวลาผ่านไป เห็นว่าสถานการณ์ไม่ดีแล้ว ก็จะยอมรับว่า จะต้องใช้มาตรการเข้มซึ่งเป็นยาขมนั้น ก็มักจะรอให้อาการหนักหนาเสียก่อน จึงจะยอมใช้มาตรการเข้ม หรือยาขมดังกล่าว ตรงนี้คือปัญหาใหญ่ เพราะจะทำให้มีการปรับการประเมินอยู่ตลอดเวลาว่า ยังพอรับมือไหว เช่น ในตอนเริ่มต้น อาจกำหนดว่า ถ้าติดเชื้อเกินวันละ 1000 คน อาจจะต้องออกมาตรการเข้ม แต่พอติดเชื้อวันละ 1200 คน ก็คิดว่าใกล้เคียงกับ 1000 คน และตัวเลขยังไม่นิ่ง ขอรอดูก่อน พยายามใช้มาตรการอื่นๆ ก่อน 
    เมื่อติดเชื้อเพิ่มเป็นวันละ 1500 คน ก็พยายามสู้ต่อ จนขยับเพิ่มเป็น 2000 , 3000 และ 4000 คน โดยไม่รู้ตัว ก็ยังไม่ได้ออกมาตรการเข้ม คือ การล็อกดาวน์หรือเคอร์ฟิว โดยในระหว่างที่ชะลอการออกมาตรการเข้มข้นดังกล่าว ก็จะมีการระดมสรรพกำลังออกมาตรการเชิงรับต่างๆ เพื่อชลอการตัดสินใจออกมาตรการเข้มข้น เช่น เพิ่มจำนวนเตียงในรพ.สนาม เพิ่มจำนวนห้องผู้ป่วยติดเชื้อในโรงพยาบาลหลัก เพิ่มจำนวนเตียงไอซียู เพิ่มเครื่องช่วยหายใจ การขอร้องให้เจ้าหน้าที่ทำงานล่วงเวลา ไม่มีวันหยุดต่อเนื่องกันเป็นเวลานาน การจัดหายาอุปกรณ์ เวชภัณฑ์ต่างๆเสริมเข้ามา การเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด
    ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อชะลอการออกมาตรการเข้มข้น ซึ่งเป็นยาขมดังกล่าวนั่นเอง
    ทำไมการออกมาตรการเข้มข้น ซึ่งเป็นยาขม จึงมักจะล่าช้ากว่าจังหวะที่เหมาะสมในทุกประเทศทั่วโลก เหตุเกิดจาก การรับข้อมูล หรือการสัมผัสความรู้สึก ที่เกิดในมิติสาธารณสุข น้อยกว่าความเป็นจริงเสมอ คนทั่วไป แม้กระทั่งผู้บริหารประเทศ มักจะคิดว่า ตนเองเข้าใจ รับรู้ข้อมูล และสัมผัสความรู้สึกที่ทุกข์ยากและเจ็บปวดดี แต่แท้ที่จริง เป็นการเข้าใจและรับรู้ ที่ไม่ครบถ้วน แม้สัมผัสความรู้สึกได้ แต่ไม่ถึงขั้นความรู้สึกที่เจ็บปวดจริง เช่น อาจจะรับรู้ว่า บุคลากรทางสาธารณสุขเหนื่อยยากมาก ลำบากมาก แต่ก็ไม่เท่ากับความลำบากจริง  จนกว่าจะได้ลงมาสัมผัสการทำงานอยู่ในโรงพยาบาลต่อเนื่องกันทุกวันเป็นเวลาสามเดือนจริงๆ
    ทำนองเดียวกับ การเข้าใจว่า มีดบาดนั้นเจ็บขนาดไหน แต่ความเจ็บนั้นจะไม่เท่ากับถูกมีดบาดด้วยตนเองจริงๆ หรือเข้าใจว่า ครอบครัวที่มีสมาชิกเสียชีวิตจากโควิด จะเศร้าเสียใจขนาดไหน และจะมีความยากลำบากมากเพียงใด ถ้าเป็นผู้ที่หารายได้ให้กับครอบครัว แต่ก็จะไม่เท่ากับ เมื่อประสบเหตุกับครอบครัวของเราเอง ในขณะที่การรับรู้ข้อมูล หรือการสัมผัสความรู้สึกทางลบต่อมิติเศรษฐกิจ กลับเกิดขึ้นได้ง่ายกว่า รับรู้ได้รวดเร็วกว่าเสมอ จึงเกิดความไม่สมดุล หรือไม่สมมาตร ของการรับรู้ข้อมูล และการสัมผัสความรู้สึก ระหว่างมิติทางด้านสาธารณสุข กับมิติทางด้านเศรษฐกิจ
    การตัดสินใจ ออกมาตรการเข้มข้นที่ไปกระทบมิติทางเศรษฐกิจ เพื่อช่วยมิติทางสาธารณสุข จึงเป็นไปอย่างยากเย็น และมักจะออกมาช้าเสมอต้องรอจนหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้วจริงๆเท่านั้น และเมื่อมีการออกมาตรการเข้มข้น ซึ่งได้ผลดีกับมิติทางสาธารณสุข แต่กระทบกับมิติทางเศรษฐกิจ ก็จะพบหลายประเทศ ที่ทนแรงกดดันไม่ไหว ต้องผ่อนคลายมาตรการเข้มต่างๆเหล่านั้น เร็วเกินไป จนกระทั่งเกิดการระบาดระลอกใหม่ ในหลายประเทศทั่วโลก จึงมีการล็อกดาวน์ที่มักจะช้าเกินไป ยกเลิกมาตรการเข้มหรือล็อกดาวน์เร็วเกินไป แล้วต้องกลับมาล็อกดาวน์ใหม่ ปิด-เปิดหลายรอบ ลักษณะทำนองนี้เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆหลายประเทศทั่วโลกด้วยกัน
    ถ้าเรายังไม่เข้าใจเรื่องความสมมาตร หรือความสมดุลระหว่างการรับทราบข้อมูล และการสัมผัสความรู้สึก ที่เกิดขึ้นในมิติสาธารณสุข ที่จะเกิดน้อยกว่าความจริง และจะไปรับรู้ และรับทราบมิติทางเศรษฐกิจมากกว่าอยู่เสมอ เมื่อการรับรู้ข้อมูลและความรู้สึก ที่จะเกิดผลลบทางด้านสาธารณสุข มีน้อยกว่าทางด้านเศรษฐกิจ ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ไม่ยาก ว่ามาตรการต่างๆที่ออกมากระทบเศรษฐกิจ จะออกยาก และมักฝากความหวัง ให้มิติทางสาธารณสุขอดทน รับมือกับสถานการณ์ไปเรื่อยๆ เพื่อช่วยมิติทางเศรษฐกิจเอาไว้ก่อน เพราะเข้าใจว่า มิติทางเศรษฐกิจหนักหนากว่ามิติทางสาธารณสุขประเทศต่างๆ จึงจำเป็นต้องรู้เท่าทัน ต่อข้อจำกัดหรือความจริงดังกล่าวข้างต้น อาจทำการ เพิ่มการรับรู้ และสัมผัสความรู้สึกทางสาธารณสุขเพิ่มเติม
    เพื่อให้เกิดสมดุล กับการรับรู้และสัมผัสความรู้สึกทางเศรษฐกิจได้ เช่น ไปเยี่ยมชมโรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยล้น แต่ต้องต่อเนื่องนานพอเป็นเวลาหลายชั่วโมง ให้เห็นวงรอบการทำงานจริงๆ ไปพูดคุยกับครอบครัวผู้สูญเสียจากการติดโรคโควิด ไปพบกับความทุกข์ ของการหาเตียงไม่ได้ และเสียชีวิตไปโดยไม่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล เพราะมิติทางด้านเศรษฐกิจ รับรู้ และสัมผัสเข้าใจได้ง่าย ไม่ต้องไปดูงานแต่อย่างใด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :