svasdssvasds
logo-pwa

เพิ่ม thansettakij

ลงในหน้าจอหลักของคุณ

ติดตั้ง
ปิด
thansettakij

"ล็อกดาวน์ กทม." หมอธีระวัฒน์ชี้ต้องตรวจโควิดทุกคนให้แน่ใจก่อน ห่วงกลายเป็นนำเชื้อไปติดคนอื่นในบ้าน

25 มิถุนายน 2564

หมอธีระวัฒน์เผยก่อน ล็อกดาวน์ ต้องตรวจโควิดทุกคนให้แน่ใจก่อน ห่วงกลายเป็นนำเชื้อไปติดคนอื่นในบ้าน ชี้ปีที่แล้วได้ผลเพราะคนติดเชื้อไม่มาก

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา (หมอธีระวัฒน์) ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา Thiravat Hemachudha) โดยมีข้อความว่า 
    ล็อกดาวน์ 2564 สิ่งที่ต้องระวังและต้องทำ
    การล็อกดาวน์ที่ถ้าจะเกิดขึ้นเก็บประชาชนไว้ในบ้าน ออกมาซื้ออาหารเท่าที่จำเป็น ผล. ประชาชนที่ติดเชื้อแต่ไม่มีอาการ แน่นอนมีมากพอสมควรแล้วในทุกพื้นที่
    เมื่อล็อคดาวน์ในบ้านแต่ไม่สามารถรักษาระยะห่างได้ จะด้วยไม่ทราบหรือมีข้อจำกัดก็จะแพร่ต่อในบ้านเช่นอยู่ด้วยกัน 10 คนถ้ามีหนึ่งคนที่ติดเชื้อแพร่เชื้อได้โดยไม่มีอาการจะปล่อยให้ติดเชื้อทั้งหมดในช่วงเวลาล็อคดาวน์นั้นและถ้าทุกคนไม่มีอาการเมื่อปลดล็อคก็จะออกมาแพร่ต่ออีก
    ล็อคปีที่แล้ว ที่ได้ผล เพราะความหนาแน่นของคนติดเชื้อไม่น่าจะเขัมขันเช่นในปัจจุบัน ซึ่งปรากฎในชุมชนแออัด เรือนจำ และในชุมชนทั่วไป รวมทั้งคนเดินไปเดินมา
    ล็อค ถ้าจะทำ “ต้อง” ตรวจทุกคน ให้แน่ใจ ก่อน ไม่เช่นนั้นจะเป็น บับเบิ้ล เอาคนติดเชื้อเข้าไปรวมกับคนอื่นในบ้าน ในชุมชนแออัด  และซีล ต่อ จนติดหมด และปล่อยออกมาใหม่  

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา
    ทั้งนี้ ประเด็นเรื่องการล็อกดาวน์มาจากการที่ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องระดับ 3-4 พันรายต่อวัน จนทำให้หมอหลายท่านออกมาเสนอให้ใช้มาตรการดังกล่าวเพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่ "ฐานเศรษฐกิจ" เองก็เคยนำเสนอบทความเหล่านั้น
    รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า ด้วยสถานการณ์ระบาดที่รุนแรง กระจายไปทั่ว และไม่มีแนวโน้มที่จะดีขึ้นด้วยมาตรการที่ดำเนินการมา อาจส่งผลกระทบต่อแผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ในช่วง 120 วันนี้จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ควรพิจารณาอัพเกรดมาตรการเพื่อตัดวงจรการระบาดให้ได้ จะโดยการพิจารณาล็อคดาวน์พื้นที่ อำเภอ จังหวัด หรือภาคที่มีการระบาดหนัก เป็นระยะเวลาสั้น 2 สัปดาห์ จะทำให้เกิดประโยชน์ในการควบคุมโรค และต่อลมหายใจของระบบสาธารณสุข โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

    รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความว่า คำตอบสุดท้ายสำหรับวิกฤตโควิดระลอกสี่ คือ การล็อคดาวน์กรุงเทพอย่างน้อย 7 วัน เพื่อเร่งจัดการปัญหาค้างคา และลดปัญหาใหม่ที่จะพอกพูนเพิ่มขึ้นในสัปดาห์หน้าที่กว่ามาตรเด็ดขาดเพื่อลดการเคลื่อนย้ายของประชาชนจะเห็นผล และที่สำคัญถ้าจะทำตามที่เสนอนี้ ต้องห้ามไม่ให้คนกรุงเทพแตกรังออกต่างจังหวัดเหมือนที่เราทำพลาดมาแล้วช่วงสงกรานต์

    และล่าสุด พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะ ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ออกมายอมรับว่า กรณีที่มีข้อเสนอให้ล็อกดาวน์ กรุงเทพฯเป็นเวลา 7 วัน เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด 19 ขณะนี้ในเบื้องต้นได้ให้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณาในอยู่

    เช่นเดียวกับพลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งยอมรับว่า ศบค. กำลังพิจารณาข้อดีข้อเสียอย่างละเอียด ในข้อเสนอล็อกดาวน์ กทม. เป็นเวลา 7 วัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :