วิกฤตหนัก ผู้ป่วยโควิดล้น-เตียงเต็ม-รพ.หยุดตรวจเพิ่ม

24 มิ.ย. 2564 | 08:00 น.

ตัวเลขผู้ติดเชื้อในเเต่ละวันที่เพิ่มสูงขึ้น ​เเพทย์รามา ฯ ระบุ วิกฤตหนัก ผู้ป่วยโควิดล้น-เตียงเต็ม-รพ.หยุดตรวจเพิ่ม บางโรงพยาบาลหยุดตรวจเพิ่ม ขณะที่ สธ.เล็งเพิ่ม รพ.สนาม 4 มุมเมือง

สถานการณ์ที่โควิดระลอก 3 ระบาดหนักขึ้นเรื่อยๆ ล่าสุดยอดโควิดวันนี้พุ่งไม่หยุด ผู้ติดเชื้อเพิ่ม 4,108 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 31 คน หายป่วยเพิ่ม 1,578 ราย ยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 203,784 ราย

ขณะที่เมื่อย้อนกลับไปดูสถานการณ์โควิดเมื่อวาน (23 มิ.ย. 64)  ที่ผ่านมา ศบค.รายงานว่า  พบผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 3,174 ราย เสียชีวิตกว่าครึ่งร้อย 51 ราย ทำให้การระบาดระลอกใหม่ตั้งแต่เดือน เม.ย. 2564 มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 1,650 รายแล้ว ขณะที่ภาพรวมของการเสียชีวิตจากสถานการณ์โควิด-19 มีผู้เสียชีวิตรวม 1,744 ราย โดยตัวเลขล่าสุด มี ‘ผู้ป่วยหนัก’ 1,526 ราย “ใส่เครื่องช่วยหายใจ’” 433 ราย

ขณะที่ทางฝั่ง ศบค. ได้มีการเปิดเผย แนวทางการรองรับผู้ป่วยโควิด-19 เพิ่มจำนวนมากขึ้น ว่า 
1. ปรับผู้ป่วยโควิด – 19 โซนสีเขียว อาการไม่มาก ไปอยู่ Hospitel Quarantine
2. ปรับบางพื้นที่ เช่น สถานที่ดูแลผู้สูงอายุ เพื่อขยายศักยภาพเตียงรองรับผู้ป่วยโควิด – 19 
3.ขอความร่วมมือสมาคมโรงพยาบาลเอกชนนำบุคลากรมาช่วย

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ทำให้เจ้าหน้าที่หลายฝ่ายต้องทำงานอย่างหนักโดยเฉพาะ “ด่านหน้า” ทั้งในการขนย้ายผู้ป่วยไปส่งตามโรงพยาบาลต่าง ๆ ถือว่ามีความสำคัญอย่างมาก ข้อมูลจากศูนย์เอราวัณ พบว่าต้องรับส่งผู้ป่วยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร วันละกว่า 100 ราย ซึ่งปัญหาที่พบคือ เตียงที่จะรองรับของโรงพยาบาลปลายทาง มีไม่เพียงพอ

จากปากของ “นพ.ศุภโชค เกิดลาภ” อายุรแพทย์โรคติดเชื้อ สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ Facebook Suppachok NeungPeu Kirdlarp ระบุว่า จากการที่ยอดผู้ป่วยโควิดไม่ลดลง ทำให้หลายโรงพยาบาลต้องหยุดตรวจหาเชื้อเพิ่ม เนื่องจากเต็มศักยภาพเตียงของโรงพยาบาลที่จะสามารถรองรับได้ โดยเฉพาะเตียง ICU ของ กทม. และปริมณฑล ที่เรียกว่า “อยู่ในขั้นวิกฤต” 

นพ.ศุภโชค ยังระบุว่า ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หากสังเกตยอดคนไข้ใหม่รายวันนั้นไม่ลดลง มีแต่จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และแนวโน้มต้องพักรักษาตัวต่อก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การตรวจหาเชื้อแบบ PCR Swab หลายโรงพยาบาลตรวจได้อย่างจำกัด และบางสถานพยาบาลได้จำกัดการตรวจต่อวัน บางแห่งไม่ยอมตรวจให้คนไข้ เพราะกังวลว่าหากพบเชื้อแล้วจะไม่มีสถานที่รองรับ.
นอกจากนี้เขายังเชื่อว่า ยอดผ็ติดเชื้อ 4,000 คนต่อวันนั้น อาจจะไม่ใช่ยอดที่แท้จริง เพราะถ้าตรวจได้มากพอ อาจจะเห็นยอดติดเชื้อจริงสูงมากกว่านี้ก็ได้ 

เขายังระบุถึงปัญหาการประสานงานส่วนกลางเพื่อนำผู้ป่วยติดเชื้อเข้าสู่โรงพยาบาล ซึ่งหลายครั้งโรงพยาบาลส่งโควตารายชื่อเข้าระบบส่วนกลางเพื่อหาเตียงตามความรุนแรงหนักเบา แต่เมื่อส่งไปปรากฏว่าคนไข้ไม่ได้แอดมิต 3-4 วัน จนอาการแย่ลง  

“บางโรงพยาบาลเริ่มบอกว่าไม่รับตรวจ ให้ไปตรวจที่อื่นเอง เกิดปรากฏการณ์ผึ้งแตกรัง คนต้องดิ้นรนกระจายตัวไปหาตรวจเอง แล้วพอเกิดการเดินทางไปๆ มาๆ การแพร่กระจายเชื้อโรคก็ยิ่งไปกันใหญ่ คุมไม่ได้แน่ๆ พอเตียงเต็ม/ล้น/ไม่พอ คนไข้จากที่เป็นสีเขียวก็กลายเป็นสีเหลือง จากสีเหลืองก็กลายเป็นสีส้ม แดง พอส้มหรือแดง (อาการหนัก) ก็ต้องใช้ ICU/Intermediate Ward ต้องใช้โรงพยาบาลศักยภาพสูงมากอีก แต่เตียง ICU เต็มจริงๆ เพราะ ICU 1 เคสนอนทีกินเตียง 2-4 สัปดาห์กันอย่างน้อย บางคนนอน 2 เดือน บางคนเอาท่อช่วยหายใจออกไม่ได้ ต้องเจาะคอ จะเพิ่มศักยภาพอย่างไร ก็ไม่มีทางทำได้แล้ว พยาบาล หมอก็มีเท่าเดิม (และมีแต่จะลดลงเรื่อยๆ เพราะบางส่วนก็ติดเชื้อด้วย) จะเปิดโรงพยาบาลสนามเพิ่มอีกกี่ที่ก็ไม่ไหว ไม่มีคนแล้ว ระบบโหนดที่จะส่งต่อเคสที่หนักเมื่อเกินศักยภาพของแต่ละโรงพยาบาลก็เริ่มติดขัดฝืดเคืองมากขึ้นเรื่อยๆ และในที่สุดก็ไปต่อไม่ได้ ล่าสุดมีศูนย์ Nursing Home แห่งหนึ่งที่ติดเชื้อกว่า 40 คน และผู้สูงอายุอายุ 80-90 ปี ทยอยแย่ลงเรื่อยๆ แต่ไม่สามารถรับเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลได้อีกแล้ว ในที่สุดมีผู้ป่วยบางส่วนเริ่มทยอยสิ้นลม และเปลี่ยนเป็นสถานที่ดูแลระยะสุดท้าย (Palliative Care) เหมือนในต่างประเทศที่เคยปรากฏมา และมันกำลังจะเกิดแบบนี้ในทุกๆ ที่ ปัญหาการหาเตียง ทั้งสามัญและ ICU ในตอนนี้ของ กทม. และปริมณฑล นั้นคือวิกฤตมากๆ และเราอาจจะเป็นแบบที่อินเดียประสบพบในไม่ช้านี้ และนี่คือยังไม่นับว่าสายพันธุ์เดลตา (น้องอินเดีย) กำลังจะมาแย่งส่วนแบ่งการตลาดกับสายพันธุ์เบตา (น้องแอฟริกาใต้) จากเจ้าตลาดเดิม (สายพันธุ์อัลฟา น้องอังกฤษ) ตอนนั้น คิดไม่ออกเลยว่าจะเป็นเช่นไร” 

นอกจากนี้เขายังตั้งคำถามเกี่ยวกับการจัดหาวัคซีนที่สามารถต่อสู้กับสายพันธุ์ใหม่ๆ ได้อย่าง Pfizer Moderna หรือ Johnson & Johnson มาให้ไวกว่านี้ 

“ผมไม่เคยเชื่อว่าเราจะเปิดประเทศด้วย Sinovac ได้เลย เพราะเราก็เห็นตัวอย่างมากมายที่ฉีด Sinovac แล้วต้องกลับมาล็อกดาวน์กันมากมาย เหมือนที่ผมเคยได้กล่าวไว้หลายเดือนก่อน”

สรุปแล้วในใจความสำคัญก็คือ ทีมบุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้ากำลังต่อสู้สงครามประหนึ่งชาวบ้านบางระจันที่ใส่ชุดตะเบงมานและเอาจอบ ขวาน มีด มาสู้ศึก ขอปืนใหญ่ไปแต่ไม่ได้มา ได้แต่ปืนแก๊ป และตอนนี้พยายามหล่อปืน ตีดาบใช้ตามมีตามเกิด” นพ.ศุภโชค ทิ้งท้ายในโพสต์
 

ทั้งนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า สธ.เข้าไปช่วยเหลือทุกพื้นที่ แม้ว่าจะไม่มีอำนาจในการบริหารจัดการระบบสาธารณสุขในกรุงเทพมหานคร และในส่วนของ รพ.บุษราคัม ก็มีการรับผู้ป่วยต่างชาติระดับสีเหลืองแล้ว และสิ่งที่ สธ.กำลังเร่งดำเนินการคือจะต้องเปิดเตียงและห้องไอซียู รพ.หลักให้มากที่สุด โดยจะต้องไปยกระดับ เพิ่มศักยภาพ รพ.สนาม ให้เป็นแบบ รพ.บุษราคัม ให้มากขึ้น

“รพ.สนาม 4 มุมเมืองจะต้องเกิดขึ้นแล้ว และใช้ประสบการณ์และสิ่งที่ทำมาที่ รพ.บุษราคัม ในการจัดตั้ง รพ.ที่ขาดแต่ห้องไอซียู แต่มียา ออกซิเจนและเครื่องไฮโฟลวพร้อม สามารถจัดได้ภายใน 7 วัน เป็นการอัพเกรดจาก รพ.สนาม ที่มีอยู่แล้วใน จังหวัดต่างๆ 4 มุมเมือง รอบกทม.โดยพิจารณารพ.ที่รองรับได้ราว 200 เตียง หากหาได้ 5 แห่ง ก็รองรับได้ 1,000 เตียง  พอๆ กับศักยภาพ รพ.บุษราคัม ที่รองรับได้ราว 1,200 เตียง เพราะในเดือน ส.ค. รพ.บุษราคัม จะต้องคืนให้กับอิมแพค อารีนาแล้ว นอกจากนี้ อาจจะยกระดับจากศูนย์นิมิตร์บุตร หรืออินดอสเตเดียม เพื่อรองรับผู้ป่วยสีเหลืองด้วย จะต้องทำ ทุกอย่างให้ทันกับสถานการณ์ ส่วนบุคลากรก็อาจจะต้องใช้รูปแบบของรพ.บุษราคัมที่มีการสับเปลี่ยนจากต่างจังหวัดทุก 2 สัปดาห์” 

ด้าน นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงปัญหา เตียงรองรับผู้ป่วยโควิด  ในพื้นที่ กทม.เริ่มขาดแคลน โดยเฉพาะเตียงไอซียู ว่า กรุงเทพมหานคร เป็นคนบริหารจัดการภาพรวม แต่ขณะนี้เตียงไอซียู เตียงสีแดงในภาครัฐเหลือ 20 เตียง จาก 400 กว่าเตียง ตอนนี้เหมือนกับว่ารพ.รัฐแต่ละแห่งไม่มีเตียงไอซียูว่างเลย จึงมีผลต่อการการส่งต่อผู้ป่วยหนักไม่ค่อยได้ ตอนนี้ในภาคของการรักษาโรคนั้นหนักมากกว่า 10 วันแล้ว ก่อนหน้านี้เคยบอกว่าหากมีผู้ป่วยมากวันละ 500-600 คน เตียงไอซียูก็จะตึงไปด้วย แต่สถานการณ์ปัจจุบันพบว่าเกือบจะ 2 เดือนแล้ว ที่พื้นที่กทม.มีผู้ป่วยมากกว่าวันละ 1 พันรายขึ้นไป

สาเหตุเพราะเกิดจากสายพันธุ์อัลฟา และตอนนี้ก็มีสายพันธุ์เดลตา ที่กำลังเข้ามาหากมองว่าอัตราการเปลี่ยนแปลงอาการเป็นสีเหลือง สีแดงเท่าเดิม แต่จำนวนผู้ป่วยมีมากขึ้นในแต่ละวัน ตัวคูณมากขึ้น ก็ส่งผลให้มีการจัดเตียงสีเหลือง สีแดงมากขึ้นด้วย แต่ทั้ง 2 สายพันธุ์ ทำให้อาการมากขึ้นด้วย โอกาสที่ผู้ป่วยจะมีอาการเปลี่ยนไปเป็นสีเหลือง สีแดงก็มากขึ้นด้วย ในแง่ของความรุนแรง และจำนวนที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดปัญหากับเตียงผู้ป่วยที่จะรองรับ

อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากวันที่ 21 มิถุนายน 2564 พบว่าในขณะนี้จำนวนเตียงในสถานพยาบาลภาครัฐ ผู้ป่วยโควิดสีแดงมีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 409 ราย เหลือเตียงสำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิดสีแดงเพียงประมาณ 20 เตียงเท่านั้นซึ่งต้องเก็บไว้สำหรับรองรับผู้ป่วยโควิดที่มีภาวะฉุกเฉินหรือต้องรับการผ่าตัดหรือการช่วยเหลือเร่งด่วน 

ในขณะที่ผู้ป่วยโควิดสีเหลืองมีจำนวนครองเตียงอยู่ที่ 3,937 ราย และเหลือเตียงสำหรับการรองรับผู้ป่วยโควิดสีเหลืองอีกประมาณ 300 รายเท่านั้น จากสถานการณ์ที่จำนวนเตียงเหลือน้อย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง