4 แนวทางรับมือโควิดครึ่งปีหลังถึงกลางปีหน้า "หมอธีระ" แนะใช้บงบฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเหมาะสม

02 มิ.ย. 2564 | 13:30 น.

หมอธีระ เผย 4 แนวทางรับมือโควิดครึ่งปีหลังถึงกลางปีหน้า แนะเก็บเงินงบประมาณที่กู้เพิ่มฟื้นฟูเศรษฐกิจในช่วงเหมาะสม

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า  
    2 มิถุนายน 2564
    สิ่งที่ควรทำตอนนี้ เพื่อรองรับสถานการณ์ครึ่งปีหลังไปจนถึงกลางปีหน้า...
    "จัดตั้งจุดบริการตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย สำหรับประชาชนทุกคน กระจายครอบคลุมในทุกพื้นที่"
    การจัดระบบบริการตรวจเช่นนี้เป็นหัวใจสำคัญ หากพิจารณาลักษณะการระบาดของเราที่กระจายไปทั่ว หาต้นตอได้ยาก และไม่สามารถตัดวงจรการระบาดได้ ดังนั้นจึงมีแนวโน้มสูงมากที่จะติดเชื้อไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้บริการตรวจ ควรใช้เครือข่ายทั้งรัฐและเอกชน และมีจุดบริการที่ไม่ได้อยู่ในสถานพยาบาลเท่านั้น แต่ควรมีตามที่ต่างๆ ที่คนดำรงชีวิตประจำวัน และสามารถตรวจได้โดยไม่จำเป็นต้องติดกฎเกณฑ์เรื่องประวัติเสี่ยงหรืออาการใดๆ แน่นอนว่าจะทำเช่นนี้ได้ คงต้องมีการวางแผนขยายศักยภาพของระบบให้รองรับการตรวจจำนวนมากได้ มีการวางแผนระบบส่งต่อสิ่งส่งตรวจ และการแจ้งผล 
    "วางแผนขยายจุดฉีดวัคซีน โดยปรับใช้โมเดลแบบอเมริกา ให้กลายเป็นกิจวัตรประจำ"
    จะทำเช่นนี้ได้ จุดบริการที่พอเป็นไปได้สำหรับบริบทไทย น่าจะเป็นคลินิก และร้านขายยาที่มีบุคลากรทางการแพทย์ดูแลอยู่ และจะทำเช่นนี้ได้ ปริมาณและชนิดของวัคซีนควรมีหลากหลายและมากเพียงพอสำหรับทุกคน และปลดล็อคการจัดหาวัคซีน ให้หน่วยงานต่างๆ สามารถสั่งซื้อเข้ามาเพื่อขยายบริการได้ โดยรัฐเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้ได้ตามความต้องการ มุ่งเป้าว่าทำอย่างไรก็ได้ให้คนเข้าถึงวัคซีน และมีทั้งแบบจ่ายเงินหรือฟรีแล้วแต่จะเลือกเอาตามความเหมาะสมของแต่ละคน ท่องไว้ว่า เพื่อให้เข้าถึงวัคซีนได้มากที่สุด เร็วที่สุด คนเราเชื่อถือข้อมูลแตกต่างกัน สรรพคุณของแต่ละวัคซีนก็อาจแตกต่างกันไปตามแต่ลักษณะ แต่หากทุกชนิดผ่านเกณฑ์ขั้นต่ำขององค์การอนามัยโลก ก็นำเข้ามาให้มากชนิด เพื่อให้คนได้มีตัวเลือกตามที่เชื่อมั่น นี่คือสิ่งควรทำ

 รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์
    "ระวังการโหมนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวในเวลาที่ไม่สมควร"
    พึงระลึกไว้ว่า หากยังคุมการระบาดไม่ได้ คงยากมากที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจไปควบคู่กัน เพราะโอกาสที่สถานการณ์ระบาดจะแย่ลงย่อมมีสูง เนื่องจากกลไกการกระตุ้นเศรษฐกิจที่เราเห็นกันมา ย่อมทำให้เกิดการพบปะ ค้าขาย บริการ มีทั้งปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อแพร่เชื้อ ได้แก่ ความใกล้ชิด/แออัดมากขึ้น จำนวนการพบปะติดต่อกันมากขึ้น และระยะเวลาสัมผัสกันมีมากขึ้น จึงต้องย้ำเตือนให้เผื่อใจไว้ด้วยว่า หากไม่ตัดวงจรการระบาดอย่างเข้มข้นเข้มงวดโดยเร็ว การระบาดยิ่งยาวนานและส่งผลกระทบวงกว้าง
    นอกจากนี้งบประมาณที่เราทำการกู้มาเพิ่ม ขอให้เก็บสำรองไว้เพื่อใช้ฟื้นฟูในช่วงเวลาที่ถูกต้องเหมาะสม มิฉะนั้นจะสูญเปล่า หรือได้ผลตอบแทนอย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย
    สุดท้าย..."ธุรกิจห้างร้านต่างๆ จำเป็นจะต้องหาทางปรับรูปแบบการทำงานของตนเอง ให้เน้นความปลอดภัยทั้งต่อตัวเจ้าของกิจการและลูกจ้าง รวมถึงลูกค้า"
    เท่าที่คาดการณ์ จากนี้ไปจนถึงกลางปีหน้า เราจะยังมีโอกาสวนเวียนกับปัญหาการระบาดซ้ำได้ ดังนั้นช่วงเวลาใดที่ประกอบกิจการได้ ก็ให้เน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นหัวใจสำคัญ ก็จะทำให้เราประคับประคองกิจการไปได้ โดยไม่ต้องผจญปัญหาติดเชื้อในกิจการของเราบ่อยๆ และจะก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมโดยรวมด้วย
    ตรวจให้เยอะและต่อเนื่อง เร่งหาอาวุธมากมายหลายหลายมุ่งให้เข้าถึงให้มากที่สุดโดยเร็ว ประคับประคองกันและกัน ใช้เงินให้คุ้มค่า ลงเงินให้เหมาะสมกับช่วงเวลาที่ควรลง และปรับรูปแบบกิจการให้เน้นความปลอดภัย...
    ด้วยรักและห่วงใย
    ทั้งนี้  ต้องเรียนว่าไม่ใช่เพียงแค่ "หมอธีระ" เท่านั้นที่มองว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทยจะยังไม่จบลงง่ายๆ น่าจะยังคงยืดเยื้อต่อไปอีกยาว อาทิ 
    พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า ดูแล้วรัฐบาลคงไม่ lock down เหมือนที่เคยทำในปีก่อน  ตัวเลขตอนนี้ยังไม่ถึง peak สูงสุด เราอาจจะได้เห็นตัวเลขหลักหมื่นต่อวันในอนาคต 
    " โควิด 19 รอบนี้ไม่ใช่แค่การต่อสู้ช่วงสั้น ๆ แต่คงเป็นการวิ่งมาราธอนครับ ไม่รู้ว่าบุคคลากรทางการแพทย์ที่ตั้งรับรักษาพยาบาลอยู่ หรือประชาชนที่ดูแลตัวเองจะหมดแรงก่อน ถ้ากรรมการกลางไม่สั่งให้หยุดพักเพื่อเติมแรงก่อนจะหมดแรงกันทั้งสองฝ่าย"

    นายสันต์ ศรีอรรฆ์ธำรง อาจารย์พิเศษคณะบริหารการพัฒนาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) โพสข้อความผ่านเฟสบุ๊กส่วนตัว (Sunt Srianthumrong) โดยมีได้มีการทำกราฟประกอบ และมีข้อความส่วนหนึ่งระบุว่า  กราฟ %Increase ยังไม่ลงไปไหนเลย หลังจากโดนสารพัด Cluster จากสงกรานต์ มาต่อชุมชนเมืองและออฟฟิศ บวกด้วยเรือนจำ ตอนนี้ก็วนกลับมาที่แรงงานต่างด้าวอีกครั้ง เราติดอยู่ที่กับดัก %Increase แถวๆ 3-5% โดยมีกราฟลดลงบ้างแต่ค่า Time Constant ยาวนานถึง 59 วัน ซึ่งแย่มากๆ ตัวเลขนี้คือช้าและยาวนานเกินกว่าจะจบครับ โดยทั่วไปจะเกิด Wave ถัดไปก่อนแน่นอน ไม่มีประเทศใดในโลกยกการ์ดสูงได้นานระดับ 3-4 เดือน เรายกมา 2 เดือนจนเมื่อยกันมากแล้ว เดือนหน้าเดือนถัดไป มองว่าความเสี่ยงสูงมาก วัคซีนดูแล้วคงทันและช่วยได้แค่บางพื้นที่เท่านั้น 
    สิ้นเดือน มิ.ย. ตอนนี้ตัวเลขประเทศไทยแนวโน้มอยู่ที่ Total 240,000 แล้วยังไปต่อ

    ขณะที่ กทม.ตัวเลขและกราฟทรงตัว ยังไม่ไปไหนไกล ยังไม่ดีขึ้นเพียงพอ กราฟหลุดจากกับดัก %Increase ที่ 5% มาได้แค่นิดเดียว ตัวเลขยังคงอยู่ที่ราวๆ 2% ซึ่งยังน่ากังวลมาก เพราะสูงพอที่พร้อมจะระเบิด Cluster ใหม่เรื่อยๆ  แนวโน้มตัวเลขตอนนี้ถ้ายังพอยันได้ สิ้นมิ.ย.น่าจะเพิ่มอีก 20,000 กว่าคนไปอยู่แถวๆ Total 60,000 ไม่รวมปริมณฑล ซึ่งก็ยังมีอีกมากให้น่าหนักใจ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :