ชี้ได้เห็นผู้เสียชีวิตมากอีกระยะ "หมออนุตตร" แคลงใจตัวเลขเตียงผู้ป่วยโควิดไม่ตรงหน้างานจริง

27 พ.ค. 2564 | 09:50 น.

"หมออนุตตร" ตั้งข้อสงสัย ศบต. รายงานตัวเลขเตียงผู้ป่วยไม่ตรงกับหน้างานจริง ชี้คงได้เห็นผู้เสียชีวิตจำนวนมากไปอีกระยะ

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ (หมออนุตตร) ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า
    เอาข้อมูลจาก FB ศูนย์ข้อมูลโควิด-19 มา plot เป็นแนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 (Covid-19) อาการหนักและเสียชีวิต  ตั้งแต่เริ่มมีรายงานอาการผู้ป่วยในโรงพยาบาลตั้งแต่วันที่ 24 เมษายน 2564 ถึงวันนี้เป็นเวลาเดือนกว่า เห็นชัดเจนว่าในช่วง 2 สัปดาห์แรก (24 เม.ย.- 8 พ.ค.64) ผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า (418 เป็น 1138) ใช้เครื่องช่วยหายใจเพิ่มขึ้นเกือบ 4 เท่า (113 เป็น 380)
    แต่หลังจากนั้นช่วง 2 สัปดาห์หลัง ตัวเลขที่รายงานค่อนข้างคงที่หรือเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย  ในวันนี้ผู้ป่วยอาการหนัก 1210 ราย ใช้เครื่องช่วยหายใจ 402 ราย ดูเหมือนตัวเลขจะคงที่ แต่อย่าเพิ่งสบายใจ ผมว่ามีอะไรที่ซ่อนอยู่ในตัวเลขนี้ครับ  เห็นได้จากมีผู้เสียชีวิตสูงทำลายสถิติถึง 41 ราย ตัวเลขที่ผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจที่คงที่อยู่ ในขณะที่มีผู้ป่วยใหม่เพิ่มขึ้นตลอดเวลา ไม่ลดลงเลย แสดงถึงเตียงสำหรับผู้ป่วยหนักและผู้ป่วยใช้เครื่องช่วยหายใจน่าจะอิ่มตัวเต็มที่  
    นอกจากนั้นยังเป็นรายงานตัวเลขทั้งประเทศ ดังนั้นใน กทม.และปริมณฑลเตียงอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจในโรงพยาบาลน่าจะเต็มที่กันทุกแห่งแล้ว  อีกอย่างไม่แน่ใจตัวเลขนี้รวมถึงผู้ป่วยหนักในเรือนจำ หรือใน รพ.สนามพลังแผ่นดินที่สร้างขึ้นเพื่อรองรับผุ้ป่วยหนักหรือไม่
    ผมไม่แน่ใจว่าเป็นตัวเลขที่ได้รับข้อมูลรายงานที่ตรงกับหน้างานหรือไม่ เพราะตอนนี้ รพ.ต้องปรับเตียงสำหรับการดูแลโควิด 19 เตียงผู้ป่วยอาการไม่หนัก ต้องปรับมารับผู้ป่วยที่อาการหนัก  แต่เวลารายงานไม่รู้ว่ารายงานว่าเป็นเตียงแบบไหน  หรือหลายแห่งต้องใส่เครื่องช่วยหายใจในเตียงผู้ป่วยอาการหนัก เพราะเตียงสำหรับใส่เครื่องช่วยหายใจใน ICU เต็ม อย่างนี้จะรายงานอย่างไร  เพราะเข้าใจว่าที่ รพ.รายงาน ศบค.เป็นการรายงานยอดเตียงรับผู้ป่วย  แต่ไม่ใช่รายงานระดับความรุนแรงของผู้ป่วย
เห็นจากสภาพการระบาดตอนนี้ และสภาพหน้างานในปัจจุบันในการดูแลผู้ป่วยอาการหนักและใช้เครื่องช่วยหายใจแล้ว คงได้เห็นการเสียชีวิตจำนวนมากแบบนี้ไปอีกสักระยะ จนกว่าจะควบคุมการระบาดได้ดีกว่านี้  ผมว่าพวกเราคงต้องพึ่งพาตัวเองเป็นหลัก ป้องกันตัวเองอย่างเต็มที่ด้วยการอยู่บ้าน เลี่ยงที่ชุมชน อย่าไว้ใจใครทั้งสิ้น ทั้งคนแปลกหน้าและคนที่เรารู้จักดี 

แนวโน้มผู้ป่วยโควิด-19 อาการหนักและเสียชีวิต
    คิดเสมอว่าทุกคนมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้เรา ล้างมือบ่อย ๆ ใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกต้อง และหมั่นสังเกตุอาการ ไข้ หวัด เจ็บคอ ไม่ได้กลิ่น... ถ้ามีอาการให้รีบไปตรวจคัดกรอง และถ้าเกิดติดเชื้อขึ้นมาก็รีบติดต่อเพื่อให้ได้นอนโรงพยาบาลหรือโรงพยาบาลสนาม ตั้งแต่ยังไม่มีอาการหรืออาการน้อย  เรื่องวัคซีนก็อย่าลืมไปฉีดเมื่อนัดฉีดได้นะครับ
    ทั้งนี้ "ฐานเศรษฐกิจ" ได้รวบรวมรายงานตัวเลขผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขวันที่ 27 พฤษภาคม 64 พบว่า มีผู้ป่วยที่กำลังรักษาตัวอยู่ 46,469 ราย ประกอบด้วย ผู้ป่วยที่รักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 18,335 ราย อยู่ในโรงพยาบาลสนาม 28,134 โดยมีผู้ป่วยอาการหนักจำนวน 1,201 ราย และผู้ป่วยที่ใส่เครื่องช่วยหายใจอยู่ 399 ราย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :