ทำความรู้จัก "เอริค เซี่ย" ผู้ถือหุ้นใหญ่ "ซิโนแวค" เศรษฐีแสนล้าน หลานชายเจ้าสัวธนินท์ "ซีพี"

26 พ.ค. 2564 | 08:40 น.

ทำความรู้จัก "เอริค เซี่ย" ผู้ถือหุ้นใหญ่ "ซิโนแวค" เศรษฐีแสนล้าน หลานชาย "เจ้าสัวธนินท์" แห่ง ซีพี

โลกออนไลน์มีการเผยแพร่ภาพของ Eric Tse เอริค เซี่ย หรือ เซี่ยเฉิงรุ่น อายุ 27 ปี ซึ่งเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นใหญ่ Sino Biopharmaceutical

โดยรายงานของเว็บไซต์ scmp.com ได้เขียนบทความถึง เอริค เซี่ย โดยใช้พาดหัวว่า "ใครคือ เอริค เซี่ย  ผู้ที่เป็นมหาเศรษฐีที่รวยกว่าโดนัลด์ ทรัมป์ เพียงชั่วข้ามคืน"

ทั้งนี้รายงานระบุว่า เอริค เซี่ย ได้รับมรดกเป็นหุ้นในบริษัท Sino Biopharmaceutical มูลค่า 3.8 พันล้านเหรียญสหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยราวแสนล้านบาท) จากพ่อแม่ของเขา  ส่วนตระกูลเซี่ยมี 2 สาย คือสายประเทศจีน และ สายประเทศไทย ต้นตระกูลคือ เซี่ยอี้ชู คหบดี เมืองซ่านโถว พ่อของเซี่ย เจิ้งหมิน และเซี่ยกั๋วหมิน (นายธนินท์ เจียรวนนท์)

จะเห็นได้ว่า เซี่ยเจิ้งหมิน คือพ่อของ เซี่ยปิง นั่นเท่ากับว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ จะเป็น "ลุง, อา" ของ เซี่ยปิง และเซี่ยปิง คือพ่อของ เอริค เซี่ย ก็เท่ากับว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ มีศักดิ์เป็นปู่ ของ เอริค เซี่ย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ Sino Biopharmaceutical

ก่อนหน้านี้ เมื่อ 25 พ.ค.  2564 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP) ออกแถลงการณ์ชี้แจง ระบุว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล ทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื่องจากปัจจุบันปรากฏข่าวสารสับสนเกี่ยวกับวัคซีนซิโนแวค (Sinovac) ทางโลกออนไลน์ โดยระบุว่า (1) ซีพีถือหุ้นซิโนแวค 15% และ (2) ซีพีอาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการซื้อวัคซีนซิโนแวคของรัฐบาลนั้น 

เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ขอแจ้งให้ทราบว่า ข้อมูลดังกล่าว ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด โดยมีข้อเท็จจริง ดังนี้

การจัดซื้อวัคซีนซิโนแวค เป็นแบบรัฐบาล ต่อรัฐบาล (G2G) เท่านั้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับซีพี ทั้งทางตรงและทางอ้อมเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ไม่ได้เป็นผู้ถือหุ้น บริษัทซิโนแวค 15% ตามที่เป็นข่าว

โดยข้อเท็จจริง ผู้ลงทุน คือ Sino Biopharmaceutical ซึ่งเป็นบริษัทเวชภัณฑ์ของจีน จดทะเบียนใตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยในบริษัท Sino Biopharmaceutical นี้ เท่านั้น

ข้อเท็จจริง ผู้ขายหุ้น คือ Sinovac Life Sciences เป็นบริษัทลูกของบริษัท ซิโนแวค ต้องการระดมทุน เพื่อต้องการขยายกำลังการผลิตวัคซีนซิโนแวค

ข้อเท็จจริง Sino Biopharmaceutical เข้าไปถือหุ้นใน Sinovac Life Sciences จำนวน 515 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือ 15.03% ถือเป็นการดำเนินธุรกิจของบริษัทดังกล่าวเอง โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีหุ้นใด ๆ และไม่ได้มีสิทธิการเป็นเจ้าของ ในบริษัท Sinovac Life Sciences ใด ๆ ทั้งสิ้น
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นเพียงผู้ถือหุ้นรายย่อยในSino Biopharmaceutical ที่เข้าไปลงทุนผ่านทางตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง ไม่มีสิทธิในการบริหารและแทรกแซงการตัดสินใจใด ๆ ใน Sinovac

และเครือเจริญโภคภัณฑ์ขอยืนยันว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม กับการสั่งซื้อวัคซีน Sinovac ของรัฐบาล เข้ามาในประเทศไทยอย่างที่เกิดการบิดเบือนในสื่อออนไลน์แต่อย่างใด

ทั้งนี้หากพบว่า ยังมีการเจตนานำข้อมูลไปบิดเบือน และสร้างความเสียหายก่อให้เกิดความเข้าใจผิด เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความจำเป็นต้องดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 6 มกราคม 2564 เว็บไซต์ we are cphttps://www.wearecp.com เผยแพร่บทความเรื่อง ทำไมคนไทยถึงได้ใช้วัคซีนโควิด-19 ‘CoronaVac’ ระบุว่า จากข่าวที่กระทรวงสาธารณสุขแถลงเมื่อวันที่ 5 มกราคม 2563 ว่า ประเทศไทยจะได้รับวัคซีน โควิด-19 จำนวน 2 ล้านโดส จากบริษัท Sinovac ในประเทศจีน ทำให้หลายคนเกิดคำถามว่า ทำไมคนไทยจึงได้ใช้วัคซีนตัวนี้ แทนที่จะเป็นวัคซีนจากบริษัท Pfizer หรือวัคซีน Moderna ที่หลายคนคุ้นหู

บริษัท Sinovac Biotech มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการผลิตวัคซีนโควิด-19 ภายใต้การควบคุมของบริษัท Sinovac Life Sciences โดยวัคซีนของบริษัทนี้มีชื่อเรียกว่า ‘CoronaVac’

วัคซีน CoronaVac แตกต่างจากวัคซีนจากบริษัท Pfizer และวัคซีน Moderna เนื่องจากเป็นวัคซีนประเภท ‘วัคซีนเชื้อตาย’ หรือ Killed Vaccine ที่มีชื่อเรียกเช่นนี้เพราะว่าในกระบวนการผลิต นักวิจัยจะใช้เชื้อโรคทั้งตัวที่ตายแล้วมาทำวัคซีนนั่นเอง ซึ่งวัคซีนประเภทนี้จะกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายมนุษย์สร้างแอนติบอดีขึ้นมา และเนื่องจากผลิตจากเชื้อโรคที่ตายไปแล้ว จึงทำให้ไม่ก่อให้เกิดโรคเมื่อวัคซีนเข้ามาอยู่ในร่างกายอีกด้วย

วัคซีน CoronaVac อยู่ในระหว่างการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ในประเทศบราซิล, ชิลี, อินโดนีเซีย และตุรกี ซึ่งการทดลองทางคลินิกในระยะนี้ถือว่าเป็นระยะศึกษาประสิทธิภาพ และติดตามอาการไม่พึงประสงค์ โดยผลการทดลองจากประเทศบราซิลและตุรกีพบว่าประสบความสำเร็จมากกว่า 90%

ทำไมคนไทยถึงได้ใช้วัคซีนโควิด-19 CoronaVac

นอกเหนือ จากกระบวนการผลิตแล้ว วัคซีน CoronaVac ยังแตกต่างจากวัคซีนจากบริษัท Pfizer ในด้านการเก็บรักษา โดยวัคซีน CoronaVac สามารถเก็บไว้ได้นาน 3 ปี ในอุณหภูมิ 2–8 องศาเซลเซียส ซึ่งเป็นอุณหภูมิปกติของตู้เย็นทั่วไป การขนส่งไปตามจุดต่าง ๆ และการเก็บรักษาจึงมีความเป็นไปได้ในทุกพื้นที่ ในขณะที่วัคซีนของบริษัท Pfizer ต้องเก็บในอุณหภูมิ -70 องศาเซลเซียส ทำให้การขนส่งนั้นเป็นไปได้ยาก โดยเฉพาะพื้นที่ห่างไกล

 

ซิโนแวค

 

จากเหตุผลในด้านการเก็บรักษาและการขนส่งทำให้เราสามารถตั้งสมมติฐานได้ว่า การเลือกซื้อวัคซีน CoronaVac จากบริษัท Sinovac Biotech อาจเป็นผลดีมากกว่าในการแจกจ่ายวัคซีนให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทย แต่ก็เป็นที่น่าเสียดายว่า ประเทศไทยสั่งซื้อมาได้เพียง 2 ล้านโดสเท่านั้น จากกำลังผลิต 300 ล้านโดสต่อปี

ทำความรู้จัก Sino Biopharm บริษัทยายักษ์ใหญ่แห่งโลกตะวันออก

บริษัท Sinovac Biotech อยู่ภายใต้การควบคุมของบริษัท Sinovac Life Sciences ซึ่งเป็นบริษัทลูกของบริษัท Sino Biopharmaceutical กลุ่มบริษัทเวชภัณฑ์รายใหญ่ของฮ่องกงที่มีบริการวิจัยและผลิตแบบครบวงจร

โดยบริษัท Sino Biopharmaceutical จดทะเบียนอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ Hang Seng ของฮ่องกงเมื่อปี 2000 ซึ่งตลอดระยะเวลา 20 ปีของการโลดแล่นในตลาดทุนแห่งนี้ ‘Sino Biopharm’ (ชื่อลำลองของบริษัท) ทำผลงานได้ดีสม่ำเสมอ ประกอบกับเทรนด์สุขภาพและสังคมผู้สูงอายุเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้บริษัทเติบโตจนได้รับการจัดอันดับจากนิตยสาร Forbes ในปี 2005 ให้เป็น 1 ใน Best Under a Billions ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก

บริษัท Sino Biopharm ยังได้รับการจัดอันดับต่อเนื่อง โดยในปี 2018 ได้มีชื่อติดเข้ามาอยู่ในทำเนียบ ‘Forbes Global 2000’ หรือทำเนียบรายชื่อบริษัทจดทะเบียนขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และล่าสุดในปี 2019 และปี 2020 บริษัทนี้ติดอับ TOP 50 Global Pharmaceutical Companies ที่จัดอันดับโดยนิตยสาร PharmExec จากสหรัฐอเมริกา

สำนักข่าว Nikkei Asia รายงานเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2563 ว่า บริษัท Sino Biopharmaceutical ได้รับเงินลงทุนเพิ่มเติมจากบริษัท CP Pharmaceutical Group จำนวน 515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 15,000 ล้านบาท) ทำให้สามารถเพิ่มกำลังการผลิตวัคซีน CoronaVac ให้เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า จากเดิม 300 ล้านโดสต่อปี ให้กลายเป็น 600 ล้านโดสต่อปี

ทั้งนี้ จากเงินลงทุนจำนวนดังกล่าว ทำให้บริษัท CP Pharmaceutical Group มีสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัท Sinovac Life Sciences ที่ควบคุมดูแลการผลิตวัคซีน CoronaVac เพิ่มขึ้นเป็น 15%

ข่าวที่เกี่ยวข้อง