CPF ฟื้นฟูระบบนิเวศบกและทะเล คืนความหลากหลายสู่ธรรมชาติ

21 พ.ค. 2564 | 06:40 น.

ซีพีเอฟ ฟื้นฟูระบบนิเวศบกและทะเล คืนความหลากลหายทางชีวภาพให้กับธรรมชาติ ตอกย้ำวันแห่งความหลากหลายทางชีวภาพสากล ผ่านกลยุทธ์ 3 เสาหลักความยั่งยืน อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า องค์การสหประชาชาติได้ประกาศเมื่อเดือนธันวาคม 2543 (ค.ศ. 2000) ให้วันที่ 22 พฤษภาคมของทุกปี เป็น "วันสากลแห่งความหลากหลายทางชีวภาพ (International Day for Biological Diversity: IDB)" เพื่อรำลึกถึงวันที่อนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biological Diversity: CDB) เริ่มมีผลบังคับใช้คือ วันที่ 22 พฤษภาคม 2535 (ค.ศ. 1992) โดยมีวัตถุประสงค์หลักของอนุสัญญา เพื่ออนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ ใช้ประโยชน์องค์ประกอบของความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน และการแบ่งปันผลประโยชน์ที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรพันธุกรรมอย่างเท่าเทียมและยุติธรรม 

CPF ฟื้นฟูระบบนิเวศบกและทะเล คืนความหลากหลายสู่ธรรมชาติ

บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ หนึ่งในภาคเอกชนที่ตระหนักดีถึงความสำคัญของทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ ได้กำหนดกลยุทธ์ "ดินน้ำป่าคงอยู่" เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ 3 เสาหลักสู่ความยั่งยืน อาหารมั่นคง สังคมพึ่งตน และดินน้ำป่าคงอยู่ ยึดเป็นแนวทางดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด  

ซีพีเอฟดำเนินโครงการฟื้นฟูป่าต้นน้ำและป่าชายเลน ได้แก่ โครงการ"ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง"(ปี 2559-2563) ช่วยอนุรักษ์และ
ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พื้นที่เขาพระยาเดินธง อ.พัฒนานิคม จ.ลพบุรี  5,971 ไร่ และโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้องป่าชายเลน" อนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน 2,388 ไร่ (ปี 2557-2561) ในพื้นที่จ.ระยอง สมุทรสาคร ชุมพร สงขลาและพังงา คืนสมดุลของระบบนิเวศบนบกและทะเล  

CPF ฟื้นฟูระบบนิเวศบกและทะเล คืนความหลากหลายสู่ธรรมชาติ

จากการสำรวจและติดตามผลทางด้านความหลากหลายทางชีวภาพของระบบนิเวศบนบก โครงการ "ซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง"โดยเมื่อปี 2562 ซีพีเอฟร่วมกับคณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สำรวจและติดตามประชากรสัตว์ป่า โดยใช้กล้องดักถ่ายภาพอัตโนมัติ (Camera Trap)พบว่าความชุกชุมของสัตว์ในกลุ่มผู้ล่ามีจำนวนและประเภทของสัตว์มากขึ้น อาทิ หมาจิ้งจอก อีเห็นธรรมดา พังพอนเล็ก แมวดาว ซึ่งการที่สัตว์ป่าเพิ่มจำนวนประชากร มาจากปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง คือ การมีแหล่งอาหารและน้ำสำหรับสัตว์อย่างเพียงพอ  มีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม  ล้วนเกิดจากความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่า 

เช่นเดียวกับ ทรัพยากรสัตว์น้ำที่กลับเข้ามาในพื้นที่และมีปริมาณเพิ่มขึ้น ในพื้นที่ ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร  อาทิ ปลาชะลั้น ปลากุแล ปลาสีกุน หอยแครง หอยกระปุก กุ้งขาว กุ้งเคย เป็นผลพวงจากการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ผ่านการดำเนินโครงการ "ซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน" โครงการที่ซีพีเอฟร่วมมือกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) และชุมชนบางหญ้าแพรก ส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นอนุรักษ์และเพิ่มพื้นที่ป่า โดยระหว่างปี 2557-2561 สามารถปลูกป่าใหม่ในพื้นที่ได้รวม 104 ไร่  ช่วยแก้ปัญหาและป้องกันการกัดเซาะแนวชายฝั่ง เป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำตามธรรมชาติ และยังพบว่าพื้นที่ป่าชายเลนที่ปลูกใหม่ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 

CPF ฟื้นฟูระบบนิเวศบกและทะเล คืนความหลากหลายสู่ธรรมชาติ

"พื้นที่ป่าชายเลนจังหวัดสมุทรสาคร เป็นพื้นที่อ่าวตัว ก. ที่มีปัญหาพื้นที่ชายฝั่งถูกกัดเซาะ แต่จากความร่วมมือของภาคเอกชนและชุมชนในพื้นที่ ทำให้ผืนป่าชายเลนบริเวณนี้กลับมาอุดมสมบูรณ์อีกครั้ง แก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง จากการปลูกพันธุ์ไม้ป่าชายเลน คือ ต้นแสม ซึ่งเป็นต้นไม้ที่เติบโตได้ดีในพื้นที่ ปริมาณต้นไม้ที่เพิ่มขึ้น ทำให้เกิดการทับถมของตะกอนเลนเป็นแนวเพิ่มขึ้นสามารถปลูกต้นไม้ได้มากขึ้น เป็นผลโดยตรงของการอนุรักษ์และฟื้นฟูที่ทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้น และยังเป็นแหล่งอนุบาลให้กับสัตว์น้ำวัยอ่อน เป็นแหล่งอาหารของชุมชนในพื้นที่ ช่วยส่งเสริมรายได้ของชุมชน" นายวัฒนา พรประเสริฐ  ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดสมุทรสาคร ให้ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากที่มีการดำเนินโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน

นอกจากระบบนิเวศป่าชายเลนที่กลับสู่ความอุดมสมบูรณ์ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ ซีพีเอฟและชุมชน ยังได้ร่วมมือต่อยอดโครงการให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงนิเวศและวิถีชุมชนในพื้นที่ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร และพื้นที่ ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง ทำให้ชาวบ้านในชุมชน 2 พื้นที่ มีรายได้จากการท่องเที่ยวและการขายผลิตภัณฑ์ท้องถิ่น พบว่าคนในชุมชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.7 เท่าในพื้นที่ต.บางหญ้าแพรก และ รายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.2 เท่าในพื้นที่ต.ปากน้ำประแส 

ซีพีเอฟ เดินหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าบกและป่าชายเลนเข้าสู่ระยะที่ 2 โดยโครงการ "ซีพีเอฟรักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง" (ปี 2564-2568 ) มีเป้าหมายอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าเพิ่มจาก  5,971 ไร่ เป็น 7,000 ไร่  และโครงการซีพีเอฟ ปลูก ปัน ป้อง ป่าชายเลน (ปี 2562-2566) มีเป้าหมายอนุรักษ์ และฟื้นฟูป่า ในพื้นที่จ.สมุทรสาครเพิ่มอีก 266 ไร่ รวมทั้งขยายพื้นที่ในการดูแลอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าชายเลน ที่ ต.ท่าพริก จ.ตราด อีกแห่ง เพื่อร่วมลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สร้างความหลากหลายทางชีวภาพ คืนสมดุลสู่ระบบนิเวศบนบกและทะเลอย่างยั่งยืน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง