โควิด-19 ยังระบาดรุนแรง หมอธีระแนะปรับแผนการทำงาน-การเรียนระยะยาว

16 พ.ค. 2564 | 06:20 น.

โควิด-19 ยังระบาดรุนแรง หมอธีระแนะปรับแผนการทำงานและการเรียนระยะยาว ระบุควรวางแผนสำหรับอนาคตอย่างน้อยอีก 6-12 เดือน โควิด-19 ยังระบาดรุนแรง หมอธีระแนะปรับแผนการทำงานและการเรียนระยะยาว ระบุควรวางแผนสำหรับอนาคตอย่างน้อยอีก 6-12 เดือน

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 (Covid-19) ระบาดในไทยเรานั้นยังรุนแรงอย่างต่อเนื่อง ควรวางแผนสำหรับอนาคตอย่างน้อยอีก 6-12 เดือน

สถานที่ทำงานและการเรียนต่างๆ หากปรับแผนการทำงานหรือการเรียนระยะยาว ให้ onsite เท่าที่จำเป็นจริงๆ, ลดทอนกิจกรรมที่ต้องพบปะกันเป็นกลุ่มใหญ่ลงให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้, กำหนดมาตรการคัดกรองและป้องกันให้ทำอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง, และกำหนดนโยบายและมาตรการในการปฏิบัติ (Standard operating procedure: SOP) เวลามีรายงานพบการติดเชื้อ หรือการสัมผัสความเสี่ยง เพื่อให้บุคลากรของตนเองได้ปฏิบัติ ทั้งเรื่องการตรวจและการกักตัวสังเกตอาการ

สำหรับประชาชน ควรต้องตระหนักว่า ด้วยนโยบายและมาตรการที่เห็น คงยากที่จะตัดวงจรการระบาด และแนวโน้มการติดเชื้อจะยังมีไปเรื่อยๆ  ดังนั้นการป้องกันตัวเองและสมาชิกในครอบครัวจึงต้องทำอย่างเคร่งครัดและต่อเนื่อง ออกจากบ้านเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาให้น้อย ใส่หน้ากากสองชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า พกเจลหรือสเปรย์แอลกอฮอล์ติดตัว ล้างมือบ่อยๆ หลังจับต้องสิ่งของสาธารณะ พบเจอคนน้อยๆ สั้นๆ และห่างๆ ใช้เทคโนโลยีติดต่อสื่อสารกันแทนการพบแบบเผชิญหน้า ระวังสุขาสาธารณะ เลี่ยงการกินดื่มในร้าน ซื้อกลับจะปลอดภัยกว่า และไม่ควรตะลอนท่องเที่ยว

ที่สำคัญคือ ไม่ว่าจะเป็นเช่นไร ความรู้ที่พิสูจน์ชัดเจนคือ โรคติดต่อมันติดเพราะความใกล้ชิด แออัด อยู่กันเวลานาน พบปะสัมผัสกันบ่อย และไม่ป้องกันตัว ดังนั้นหลักการป้องกันจึงต้อง"ลดจำนวนคนที่เจอพบปะ ลดเวลา ลดจำนวนครั้ง เพิ่มระยะห่าง ในทุกกิจกรรมที่เราใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน"

ในขณะเดียวกัน ก็หมั่นตรวจสอบตัวเองและสมาชิกในครอบครัว ว่าแต่ละวันเสี่ยงอะไรมาบ้างไหม เจอใครบ้าง นานไหม ห่างไหม ป้องกันตัวดีไหม และสอบถามอาการ หากไม่สบาย ต้องสงสัยไว้ก่อน และให้ป้องกันตัวในบ้าน แยกจากสมาชิกในครอบครัว แล้วไปตรวจรักษา

อีกเรื่องที่สำคัญคือ วางแผนการใช้จ่ายให้ดี ใช้เท่าที่จำเป็น ประหยัดได้ควรประหยัด ประเมินสถานการณ์แล้ว คงต้องขอแนะนำดังที่บอกมาข้างต้นครับ

ด้วยรักและห่วงใย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :