กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะทำงานบริหารจุดฉีดวัคซีน หนุนนโยบายฉีด 5 แสนรายต่อวัน

16 พ.ค. 2564 | 04:30 น.

กระทรวงอุตสาหกรรมตั้งคณะทำงานบริหารจัดการจุดฉีดวัคซีน หนุนนโยบายรัฐบาลฉีด 5 แสนรายต่อวัน เตรียมถกด่วนนัดแรก 17 พฤษภาคม 64

นายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการการประชุมเพื่อหาแนวทางบริหารจัดการพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมทั่วประเทศเป็นศูนย์กลางการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนทั่วไป ว่า ที่ประชุมมีมติแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการจุดบริการให้ฉีดวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) ให้แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม ประชาชนทั่วไป

คณะกรรมการชุดดังกล่าวจะมีการประชุมอย่างเป็นทางการถึงแนวทางการดำเนินงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนนัดแรกในวันที่ 17 พฤษภาคม 2564 โดยคณะกรรมการฯชุดดังกล่าว ประกอบด้วย นางวรวรรณ ชิตอรุณ รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นประธานคณะกรรมการ ,นายเดชา จาตุธนานันท์ หัวหน้าศูนย์บริหารสถานการณ์วิกฤต กระทรวงอุตฯ เป็นรองประธาน ,นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) เป็นรองประธาน

สำหรับกรรมการประกอบด้วย นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ,ผู้ช่วยปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) หรือตัวแทน, ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน , ผู้อำนวยการกองกลาง และผู้อำนวยการกองตรวจราชการ เป็นต้น

หน้าที่หลักของคณะกรรมการชุดดังกล่าว คือ 1.กำหนดแนวทางพื้นที่จุดบริการและเตรียมความพร้อมการให้วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 (Covid-19) แก่แรงงานภาคอุตสาหกรรม และประชาชน ,2.ประสานงานและบูรณาการความร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อให้การบริการมีความพร้อมและมีประสิทธิภาพ 3. ติดตามและรายงานผลการดำเนินการเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการให้เกิดผลสัมฤทธิ์อย่างเป็นรูปธรรม และ 4.ปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมายจากกระทรวงอุตสาหกรรม

              “การประชุมครั้งดังกล่าวมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้บริหารกระทรวงฯ ผู้ว่าการ กนอ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ส.อ.ท. โดยการดำเนินการดังกล่าวสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล ในการให้วัคซีนป้องกันเชื้อโควิด-19 แก่ประชาชนทั่วประเทศตามความสมัครใจ”

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการ กนอ. กล่าวว่า กนอ.ได้จัดตั้งคณะทำงานเพื่อลงพื้นที่อย่างเร่งด่วน โดยเบื้องต้นได้สำรวจพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่เหมาะสมเพื่อรองรับการฉีดวัคซีนแล้ว ซึ่งมีทั้งในส่วนที่ กนอ.บริหารจัดการเอง และในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมร่วมดำเนินงาน รวมทั่วประเทศ 59 นิคมฯ แต่จะต้องรอความชัดเจนจากที่ประชุมคณะกรรมการฯ อีกครั้งว่าความสามารถในการฉีดวัคซีนต่อวันจะได้ประมาณกี่ราย โดยคิดจากอัตราส่วนต่อผู้ปฏิบัติงานทั้งหมด เพื่อประเมินความพร้อมของสถานที่ไม่ให้เกิดความแออัด ขณะเดียวกันต้องเป็นพื้นที่ที่อยู่ใกล้โรงพยาบาล เพราะหากเกิดเหตุฉุกเฉินจะได้ดำเนินการได้ทันท่วงที

วีริศ อัมระปาล

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นในที่ประชุมได้หารือว่าจะแบ่งกลุ่มผู้ที่รับวัคซีนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1.ผู้ปฏิบัติงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม 2.โรงงานอุตสาหกรรมนอกนิคมอุตสาหกรรมที่แจ้งความประสงค์เข้ามา และโรงงานอุตสาหกรรมที่อยู่ในสวนอุตสาหกรรมที่กำกับดูแลโดยกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) 3.ประชาชนทั่วไปในพื้นที่ใกล้เคียง ซึ่งรูปแบบจะเป็นอย่างไรจะพิจารณาในที่ประชุมอีกครั้ง

ขณะเดียวกันได้มีการประสานไปยังกรมควบคุมโรคเพื่อหารือถึงการใช้พื้นที่นิคมอุตสาหกรรมเป็นศูนย์กลางฉีดวัคซีนในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งวางแนวทางการฉีดวัคซีนในแต่ละวันเพื่อให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกระทรวงสาธารณสุข  โดยการทำงานของคณะกรรมการฯครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามนโยบายของรัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข ที่ต้องการฉีดให้ได้วันละ 5 แสนคน ซึ่งกรมควบคุมโรค ได้รับเรื่องไปพิจารณาและจะประสานข้อมูลในเชิงลึกร่วมกับ กนอ.และกระทรวงอุตสาหกรรมต่อไป เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างรวดเร็วที่สุด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :