ผู้ป่วยไตระยะสุดท้ายฉีดวัคซีนโควิด-19 มีประโยชน์มากกว่าโทษ

29 เม.ย. 2564 | 13:15 น.

ผู้ป่วยไตระยะสุดท้ายฉีดวัคซีนโควิด-19 มีประโยชน์มากกว่าโทษ หมออนุตตรแนะควรฉีดอย่างพร้อมเพรียงช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคหากมีการติดเชื้อ

รายงานข่าวระบุว่า พล.อ.ท.อนุตตร จิตตินันทน์ ประธานราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว (Anutra Chittinandana) โดยมีข้อความว่า 

เป็นประธานฯ ประชุมคณะทำงานพัฒนาระบบบริการด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไตฯ วาระพิเศษวันนี้แบบออนไลน์ เพื่อแก้ไขปัญหาสำคัญหลายเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องผู้ป่วยโรคไตระยะสุดท้ายทีได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม (ESRD-HD) ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ใช้เวลาประชุม 4 ชม.กว่า ได้บทสรุปดังนี้

ในขณะที่จำนวนผู้ป่วย Covid-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในระลอกใหม่นี้ ขณะนี้มีผู้ป่วย ESRD-HD ที่ติดเชื้อมีจำนวนประมาณ 40 ราย อยู่ใน กทม. 25 ราย มีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 10%

ผู้ป่วย ESRD-HD ที่มีการติดเชื้อ ตามนโยบายของ สธ.จะต้องรับ admit เข้าโรงพยาบาลทุกราย แต่ด้วยปัญหาเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ในปัจจุบัน จึงต้องใช้เวลาในการรอคอย และต้องลดจำนวนรอบ HD ลง รวมถึงบางรายต้องมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการรักษาเป็นแบบ CRRT ในผู้ป่วย admit ทาง สปสช.มีเกณฑ์ในการเบิกจ่ายเรื่องอุปกรณ์สิ้นเปลืองจำเป็นซึ่งกำลังดำเนินการปรับปรุงข้อมูลเพื่อให้รวมค่าตัวกรองที่ต้องใช้ครั้งเดียวทิ้งไปด้วย

ESRD-HD ที่มีประวัติเสี่ยงสูง (PUI) หรือมีอาการต้องรอผลการตรวจเชื้ออยู่บ้าน จะให้ admit ทุกรายทำได้ยาก จึงต้องให้อยู่ที่บ้าน การทำ HD ต้องทำตามคำแนะนำของสมาคมโรคไต ซึ่งศูนย์ไตเทียมต่าง ๆ ต้องใช้ค่าใช้จ่ายในการทำ HD ในผู้ป่วยเหล่านี้เพิ่มขึ้น ที่ประชุมเห็นว่าควรเพิ่มค่าทำ HD เป็น 4,000 บาทต่อครั้ง เช่นเดียวกับผู้ป่วย HIV โดยสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยจะเร่งจัดทำข้อมูลเสนอทั้งสามกองทุนพิจารณา

ในกรณีที่ ESRD-HD ติดเชื้อและเป็น PUI เพิ่มขึ้นอีก อาจต้องมีการเตรียมการสร้างโรงพยาบาลสนามเฉพาะสำหรับผู้ป่วย ESRD-HD แต่มีปัญหาเรื่องการบริหารจัดการ โดยเฉพาะเรื่องของบุคลากรที่จะต้องมาปฏิบัติงาน

ประชุมคณะทำงานพัฒนาระบบบริการด้านโรคไตและการบำบัดทดแทนไตฯ วาระพิเศษ

ถึงแม้แพทย์โรคไตและพยาบาลไตเทียมจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว แต่ยังมีพยาบาลไตเทียม (40%) และผู้ช่วยจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับวัคซีน โดยเฉพาะพยาบาลไตเทียมที่ทำงานในศูนย์ไตเทียมนอกโรงพยาบาล จึงต้องขอให้ผู้เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการให้กับบุคลากรทางการแพทย์เหล่านี้ด้วย

ผู้ป่วย ESRD-HD จะเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่จะต้องได้รับวัคซีนในเดือนมิถุนายนนี้ แต่ผู้ป่วยจำนวนมากปฏิเสธการรับวัคซีน สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทยยืนยันว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 มีประโยชน์มากกว่าโทษสำหรับผู้ป่วย ESRD-HD รวมถึงผู้ป่วยล้างไตทางช่องท้อง (PD) และผู้ป่วยปลูกถ่ายไต (KT) จึงต้องเร่งประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้ผู้ป่วย ESRD ได้รับวัคซีนให้มากที่สุด

ขอบคุณผู้เข้าร่วมการประชุมทุกท่าน ทั้งคณะทำงาน และผู้แทนของกรรมการไต สปสช.เขตทุกเขต และ ผู้เกี่ยวข้อง ที่ร่วมการประชุมกันอย่างพร้อมเพรียง หวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาผลกระทบของโควิด-19 กับผู้ป่วยโรคไตได้ระดับหนึ่ง

ต้องขอความร่วมมือผู้ป่วยโรคไตช่วยระมัดระวังตัวเองด้วยการ อยู่บ้าน (ไม่ต้องให้ใครมาเยี่ยม) เว้นระยะห่าง ไม่ปกปิดข้อมูลหากท่านสัมผัสผู้ติดเชื้อ หลีกเลี่ยงการใช้รถสาธารณะ ล้างมือบ่อย ๆ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลารวมถึงเวลาฟอกเลือด ไม่รับประทานอาหารระหว่างการฟอกเลือด และต้องควบคุมอาหารและน้ำ เพราะหากท่านมีความเสี่ยงหรือติดเชื้อ อาจต้องรอคอยผลการตรวจก่อนการฟอกเลือด และเมื่อได้มีโอกาสฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 แล้ว ขอให้รับการฉีดโดยพร้อมเพรียงกัน ซึ่งนอกจากจะช่วยป้องกันความรุนแรงของโรคหากมีการติดเชื้อแล้ว ยังช่วยสังคมในการทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่อีกด้วยครับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :