“อนุทิน” ยัน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มาแน่ มิ.ย.นี้

23 เม.ย. 2564 | 05:20 น.

“อนุทิน” ยัน วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า มาแน่ มิ.ย.นี้ ขอความร่วมมือปชช.อย่าจับกลุ่มรวมตัวกัน ย้ำ ทุกฝ่ายพยายามทำให้ดีที่สุด เผย มอบหมายให้ สบสช.จัดชุดตรวจตัวเอง-กระจายตามบ้าน หลังรถพยาบาลไปรับผู้ป่วยช้า

23 เมษายน 2564 ที่ทำเนียบรัฐบาล นายอนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรี และรมว.สาธารณสุข เปิดเผยถึงความคืบหน้าในส่วนวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าว่า บริษัทฯจะส่งมาตามกำหนดการที่ทำข้อตกลงกับรัฐบาลซึ่งเราได้เซ็นสัญญากันเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว แล้วจะส่งให้เราได้ในเดือนมิถุนายนปีนี้ เราจะให้เขาทำให้เร็วกว่าก็ไม่ได้ เพราะขั้นตอนความปลอดภัยต้องเป็นไปตามกระบวนการเพราะที่เขาชมว่า คุณภาพการผลิตวัคซีนในไทยดีเยี่ยมนั้นเพราะเราทำตามขั้นตอนทุกอย่าง

ส่วนกรณีการจัดเตรียมโรงพยาบาลสนามหลังตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด -19 ล่าสุดขึ้นไปกว่า 2,000 ราย ว่า โรงพยาบาลสนามนั้นมีการเตรียมอยู่ทุกที่ ส่วนตัวเลขผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นมาในช่วงนี้นั้นก็จะอยู่ในเมืองใหญ่ๆ เช่น ใน กทม.ที่ตัวเลขยังรายงานมาไม่ทัน ทางกรมควบคุมโรคจึงไปไล่เรียงมารายงาน เราไม่ได้ปิดบังข้อมูล แต่บางทีมันค้างอยู่ในระบบ

เมื่อถามว่า ตัวเลขที่สูงขึ้นจะสามารถทำให้จบภายในเดือน เม.ย.นี้ได้ ใช่หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ต้องพยายามทำให้ดีที่สุด ทั้งมาตรการตอนนี้ ในส่วนของการเดินทางก็ลดลงมา แต่ยังไม่เท่าปีที่แล้ว ผับ บาร์ สถานบันเทิง การรวมกลุ่มกันเยอะๆ ตอนนี้ก็ลดน้อยลงตามมาตรการของ ศบค.ซึ่งก็ต้องรอรอบกัน เพราะตัวเลขวันนี้ ไม่ได้ติดเชื้อเมื่อวาน แต่ติดมาตั้งแต่รอบช่วงสงกรานต์ เราก็หวังว่า ตั้งแต่เขาได้รับยา หรือคนที่ไม่แสดงอาการในวงรอบสองสัปดาห์ น่าจะหายและไม่มีกลุ่มก้อนใหม่ขึ้นมาก็น่าจะลดล ตามหลักระบาดวิทยา

สำหรับกรณีของหญิงสูงอายุติดเชื้อ 3 รายในบ้าน แล้วรถพยาบาลไปรับไม่ทัน จนเสียชีวิต 1 รายนั้น นายอนุทิน รองนายกฯ กล่าวว่า ทราบเรื่องนี้แล้ว และให้กรมการแพทย์สอบถามไปยัง กทม.ว่า จะต้องปรับปรุงระบบอย่างไร แยกแยะอย่างไรว่า คนไข้มีความฉุกเฉิน ต้องแยกประเภทให้ได้ ทั้งนี้ ยืนยันว่า ทุกฝ่าย ทุกหน่วยงานทำงานเต็มที่ และตนบอกไปยังทั้งกรมการแพทย์ กรมควบคุมโรค และทุกหน่วยในระบบสาธารณะสุข ว่าต้องการจะทำสิ่งใด แล้วต้องการงบประมาณสนับสนุน หรือจะผลักดันเรื่องเข้า ศบค.หรือ ครม.ตนเตรียมปากกาเซ็น พร้อมที่จะสนับสนุนทุกเรื่อง

ทั้งนี้ สำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สบสช.) ได้จัดชุดตรวจตัวเองอยู่ที่บ้าน ทั้งเครื่องวัดไข้ เครื่องวัดค่าออกซิเจน เครื่องวัดความดัน และให้แต่ละโรงพยาบาลคอยสำรวจว่าคนไข้คนไหนมีเชื้อ แล้วยังรอเตียงอยู่ที่บ้าน ก็ขอให้จัดชุดตรวจนี้เข้าไปก่อน ถ้าตรวจแล้วมีค่าเกินปกติสมควรที่จะถึงมือแพทย์ก็จะมีการลัดคิว

“ภายใต้มาตรการที่ใช้อยู่ คำว่า ควบคุมได้คือไม่ให้แพร่ระบาดไปเกินระดับที่ตั้งเกณฑ์ไว้ ซึ่งตอนนี้ตัวเลขก็นิ่งมาประมาณสัปดาห์พันถึงสองพัน ยังเป็นไปตามที่คาดหวัง เมื่อเราใช้มาตรการแล้วมันไม่เพิ่ม ก็หวังว่า หลังจากนี้สองสัปดาห์ตัวเลขน่าจะลงมา”

เมื่อถามว่า ในทางการแพทย์คนที่เคยติดเชื้อแล้ว จะต้องลงทะเบียนเพื่อฉีดวัคซีน หรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ส่วนนี้ต้องถามแพทย์ เรามีคณะกรรมการบริหารจัดการการฉีดวัคซีน และมีคณะกรรมการดูเรื่องความปลอดภัยของการฉีดวัคซีน ตนยังไม่เคยถามเขาเรื่องนี้ ตนมีหน้าที่ไปหาวัคซีน หายา หางบประมาณ ที่จะมาบริการประชาชนให้ดีที่สุด ส่วนเรื่องวิชาการให้ติดตามจากกระทรวงสาธารณสุขที่มีแถลงทุกวันอยู่แล้ว

"ถ้าคนให้ความร่วมมือมากทีสุดในช่วงนี้ อยู่บ้านให้มากที่สุดเท่าที่ทำได้ ทำงานที่บ้าน หลีกเลี่ยงการพบปะผู้คนเยอะๆ หลีกเลี่ยงการรวมกลุ่มกันเยอะๆ มันช่วยได้จริงๆอะไรที่เป็นการรมกลุ่มของคนเราต้องระมัดระวัง นี่คือสิ่งทีผมกังวล"

เมื่อถามว่า ได้มีการตรวจสอบกรณีกระแสว่ามี ไฮโซ 6 คน เป็นต้นตอแพร่ระบาดคลัสเตอร์สถานบันเทิงแล้วหรือไม่ นายอนุทิน กล่าวว่า ตรงนี้เป็นเรื่องของตำรวจ สาธารณสุขมีหน้าที่คอยรักษา จะให้ไปถือปืนห้ามคนเข้าผับ บาร์ก็ไม่ได้ ให้สงสารคนสาธารณะสุขบ้าง เขาต้องคอยตามเช็ค ตามรับคนมารักษาพยาบาล ให้เขาทำงานด้านสาธารณสุขเต็มที่ การป้องกันตัวเองเราก็บอกหมดแล้วว่า ต้องทำอย่างไร

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง