หมอธีระเตือนจัดสงกรานต์-กระตุ้นท่องเที่ยวเสี่ยงโควิด-19 ระบาดซ้ำ

09 มี.ค. 2564 | 02:00 น.

หมอธีระเตือนจัดสงกรานต์-กระตุ้นท่องเที่ยวเสี่ยงโควิด-19 ระบาดซ้ำ ระบุสภถานการณ์ปัจจุบันคงอยู่ในภาวะปลอดโรคไม่ได้อีก

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า สถานการณ์ทั่วโลก 9 มีนาคม 2564...

              เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 302,707 คน รวมแล้วตอนนี้ 117,706,141 คน ตายเพิ่มอีก 6,319 คน ยอดตายรวม 2,610,563 คน

              อเมริกา เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 46,097 คน รวม 29,733,325 คน ตายเพิ่มอีก 737 คน ยอดตายรวม 538,460 คน

              อินเดีย ติดเพิ่ม 15,353 คน รวม 11,244,624 คน

              บราซิล ติดเพิ่ม 32,321 คน รวม 11,051,665 คน

กราฟแสดงตัวเลขจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19

              รัสเซีย ติดเพิ่ม 10,253 คน รวม 4,333,029 คน

              สหราชอาณาจักร ติดเพิ่มอีก 4,712 คน รวม 4,223,232 คน

อันดับ 6-10 เป็น ฝรั่งเศส ตุรกี อิตาลี สเปน และเยอรมัน ส่วนใหญ่ติดกันหลักพันถึงหลักหมื่นต่อวัน

              แถบอเมริกาใต้ ยุโรป เอเชีย อย่างโคลอมเบีย เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ ยูเครน แคนาดา รวมถึงบังคลาเทศ อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น และมาเลเซีย ยังติดกันเพิ่มหลักพันถึงหลักหมื่น

              แถบสแกนดิเนเวีย บอลติก และยูเรเชีย ก็ยังมีติดเชื้อเพิ่ม ส่วนใหญ่หลักร้อยถึงพันกว่า

              ในขณะที่แถบตะวันออกกลาง ประเทศส่วนใหญ่ยังติดเพิ่มหลักพัน

              เกาหลีใต้ติดเพิ่มหลักร้อย ส่วนเมียนมาร์ จีน สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และกัมพูชา ติดเพิ่มหลักสิบ ในขณะที่ฮ่องกง ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ติดเพิ่มต่ำกว่าสิบ

              มองดูการระบาดตอนนี้ อเมริกาและยุโรปบางส่วนดูมีแนวโน้มจัดการการระบาดได้ดีขึ้น เช่น สหราชอาณาจักร ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่อาการดูทรงๆ

              บางประเทศเข้าสู่ระลอกสี่ไปแล้ว เช่น สาธารณรัฐเช็ค อิสราเอล ในขณะที่เนเธอร์แลนด์กำลังอยู่ในช่วงที่จะเข้าสู่ระลอกสี่ มีจำนวนการติดเชื้อหลักหลายพันต่อวันมาอย่างต่อเนื่อง

              ใกล้บ้านเรา กัมพูชามีการติดเชื้อหลักสิบติดต่อมากว่าสองสัปดาห์ แต่หากไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ น่าจะจัดการได้ภายใน 2-4 สัปดาห์ถัดจากนี้เนื่องจากต้นทุนเดิมมีการติดเชื้อน้อยมา

เหลียวดูสถานการณ์ของเรา...

ต่างจากกัมพูชานะครับ ระลอกสองที่ผ่านมาของเรานั้นมีการติดเชื้อกระจายทั่ว และหลายพื้นที่รุนแรงมาก โดยไม่สามารถตรวจอย่างถ้วนทั่ว และเลือกดำเนินมาตรการให้คนไปมาหาสู่กันได้ ดังนั้นไม่ว่าจะวิเคราะห์มุมใด ก็คงได้ข้อสรุปไปในทางที่ว่าการติดเชื้อแพร่เชื้อในชุมชนนั้นมีแน่นอน ดังจะเห็นได้จากสถิติรายวันตลอดช่วงที่ผ่านมา ประเมินแล้วไม่มีโอกาสที่จะเห็นการปลอดเชื้อในประเทศได้

โจทย์จึงมี 2 ข้อหลักให้วิเคราะห์ และใช้วางแผนชีวิต

ข้อแรก โอกาสที่จะปะทุซ้ำเป็นระลอกสามแบบประเทศอื่นๆ ทั่วโลกมีมากน้อยเพียงใด?

ตอบ: ได้แลกเปลี่ยนไปแล้วหลายครั้ง นั่นคือ หากพ้นกลางเดือนมีนาคมไปแล้ว จำนวนการติดเชื้อต่อวันจะเป็นตัวกำหนดระยะคงที่ (grace period) ก่อนมีโอกาสปะทุซ้ำ กล่าวคือ หากกดการระบาดให้เหลือน้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้ ระยะคงที่นั้นก็จะยาว แต่หากจำนวนติดเชื้อต่อวันมีสูง ระยะคงที่ก็จะสั้นลงตามลำดับ เฉลี่ยแล้ว หากเป็นหลักสิบต่อวัน คาดว่าจะมีระยะเวลาราว 10 สัปดาห์ (72 วัน) บวกลบสองสัปดาห์ แต่หากเพิ่มขึ้นแต่ละหลัก ระยะคงที่จะสั้นลงราว 21 วันต่อหลักที่เพิ่มขึ้น แปลว่า ด้วยข้อมูลที่มี ช่วงที่ต้องระวังจะเกิดซ้ำคือ มิถุนายน

ข้อสอง ด้วยต้นทุนการติดเชื้อของไทยที่มีอยู่ในปัจจุบันและสถานการณ์เรื่องวัคซีนที่มีจำกัดทั้งในด้านปริมาณและชนิดวัคซีนที่ใช้อยู่ หากดำเนินมาตรการผ่อนคลาย จัดงานสงกรานต์ รวมถึงกระตุ้นท่องเที่ยวในประเทศผ่านรูปแบบต่างๆ ทั้งเที่ยวเอง และทัวร์ ดังที่มีข่าวออกมานั้น จะส่งผลต่อการระบาดหรือไม่?

              ตอบ: ส่งผลต่อโอกาสเกิดระบาดแน่นอน ตรงไปตรงมาตามหลักวิชาการแพทย์ครับ เมื่อใดที่ในพื้นที่นั้นมีคนติดเชื้ออยู่ หากมีกิจกรรมที่มีการรวมตัวของคน ทำให้แออัดมากขึ้น จำนวนกิจกรรมมากขึ้น โอกาสพูดคุยใกล้ชิดและสัมผัสกันย่อมมากขึ้น หากสุดท้ายแล้วไม่เกิดการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อมากขึ้น ก็คงต้องกลับไปทบทวนอย่างหนักว่าหลักวิชาการดังกล่าวนั้นคงใช้ไม่ได้อีกต่อไป

              ถามต่ออีกว่าจะมีทางลดความเสี่ยง ลดโอกาสในการติดเชื้อหรือแพร่เชื้อหรือไม่

              คงต้องบอกว่า ด้วยภาพการระบาดของเราในปัจจุบัน ไม่คิดว่าจะทำให้ปลอดโรคได้อีกแล้ว และมีแนวโน้มว่าหลายพื้นที่จะมีการติดเชื้อที่ชุมกว่าพื้นที่อื่นด้วยซ้ำ ดังนั้นการใช้ชีวิตทั้งอาศัยอยู่ในพื้นที่ ทำงาน และท่องเที่ยว จึงควรได้รับการปรับเปลี่ยนเพื่อลดความเสี่ยง ลดโอกาสในการแพร่เชื้อติดเชื้อ

              จะดีที่สุดหากรูปแบบธุรกิจค้าขายและการให้บริการ ควรนำมาตรการต่างๆ ในการควบคุมป้องกันโรคไปทำอย่างเคร่งครัด และทำอย่างถาวร เพื่อปกป้องทั้งลูกค้าและตัวธุรกิจเอง หากต้องการจะอยู่ไปในระยะยาวโดยไม่เจอระบาดซ้ำในกิจการของตนเองหรือพื้นที่ที่ตั้ง

              แต่หากยังดำเนินไปแบบเดิม หรือทำบ้างไม่ทำบ้าง ก็อาจแจ็คพอตเจอการติดเชื้อ ต้องปิดกิจการเป็นระยะ หรืออาจปิดยาวหากเกิดการระบาดมาก

              ดังนั้นหากมีการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจท่องเที่ยวตามข่าวที่ออกมา ก็คงต้องร่วมด้วยช่วยกันป้องกันตัวให้ดี ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้าง รวมถึงลูกค้าที่ไปใช้บริการต่างๆ

ใส่หน้ากากเสมอ ล้างมือบ่อยๆ อยู่ห่างคนอื่นหนึ่งเมตร ลดละเลี่ยงการกินดื่มร่วมกัน และคอยสังเกตอาการตนเอง หากไม่สบาย ควรงดการเที่ยว การปฏิบัติงาน และไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน

ด้วยรักและปรารถนาดี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :