วัคซีนโควิด-19 หมอยงไขปมเหตุใดไม่ให้เอกชนนำเข้า

08 มี.ค. 2564 | 00:55 น.

วัคซีนโควิด-19 หมอยงไขปมเหตุใดไม่ให้เอกชนนำเข้า ระบุปัจจุบันทั่วโลกจะขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉินที่รัฐบาลจะต้องรับผิดชอบเอง

รายงานข่าวระบุว่า ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสเฟซบุ๊ก (Yong Poovorawan) ภายใต้หัวข้อ โควิด วัคซีน มีคนถามมามากมาย ทำไมไม่ให้เอกชนนำเข้า

              ต้องเรียนว่า วัคซีนโควิด ในปัจจุบัน ทั่วโลก จะขึ้นทะเบียนแบบใช้ในภาวะฉุกเฉิน EUA (Emergency Use Authorization) เกือบทั้งหมด ดังนั้นการใช้ในแต่ละประเทศ รัฐบาลของแต่ละประเทศจะต้องรับผิดชอบเอง บริษัทผู้ผลิตจึงจะไม่เจรจากับภาคเอกชน และไม่เข้ามารับผิดชอบร่วมด้วย ในกรณีที่เกิดมีอาการแทรกซ้อน หรืออาการไม่พึงประสงค์ การส่งมาจำหน่ายในต่างประเทศ ส่วนใหญ่จึงต้องการติดต่อกับภาครัฐเท่านั้น

              ภาคเอกชน เมื่อติดต่อกับบริษัทผู้ผลิต บริษัทจะไม่ติดต่อด้วย จะต้องได้รับการรับรอง ร้องขอ หรือสั่งจองจากภาครัฐ หรือตัวแทนภาครัฐเช่น องค์การเภสัช หรือหน่วยงานอื่น ที่ภาครัฐมอบหมายเท่านั้น วัคซีนหลายบริษัทขณะนี้ อยากขายเพราะได้ราคาดีมาก

หมอยง

              ในอนาคตหลังจากที่ประเทศทางตะวันตกได้ให้วัคซีนกับประเทศของตัวเองมากพอแล้ว วัคซีนก็จะเริ่มล้น และบริษัทก็ต้องการจะขายเอากำไร อย่างในอเมริกาตั้งเป้าการฉีดให้ได้ตามเป้าหมายภายในเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นปริมาณการใช้วัคซีนก็จะลดลง บริษัทที่ผลิตถึง 3 บริษัทก็ต้องการส่งออก หรือขายนั่นเอง

ดังนั้น ตามหลักความจริงแล้ว ภาคเอกชนจะไม่สามารถ ที่จะนำเข้ามาได้เลย ถึงแม้จะเป็นตัวแทน ให้ทางบริษัทมาขึ้นทะเบียนกับ อย. ทางบริษัทจะไม่สนใจ ที่จะมาขึ้นทะเบียน ถ้าภาครัฐไม่ร้องขอ บริษัทจะต้องการหนังสือรับรองแสดงเจตจำนง (LOI) จากทางภาครัฐ หรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น

              จนกว่าในอนาคต ที่ได้ขึ้นทะเบียนเต็มรูปแบบ และรับประกันความผิดชอบแล้ว ภาคเอกชนจึงจะสามารถนำเข้ามาได้ หรือนำมาขึ้นทะเบียนได้ อย่างวัคซีนหลายชนิดที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ที่อยู่นอกแผนการให้วัคซีนแห่งชาติ เช่นวัคซีนผู้ใหญ่ป้องกันปอดบวม วัคซีนเด็ก 5 โรค 6 โรค เพราะใช้ในยามปกติอยู่แล้ว และขึ้นทะเบียนได้ในภาวะปกติ

              ทางออกที่จะให้ภาคเอกชน ได้ร่วมจัดซื้อ ลงทุน หรือบริการวัคซีน ช่วยภาครัฐได้ โดยเฉพาะพวกนายทุนใหญ่ๆ ที่ส่งฝากถามผมมา ภาคเอกชนจะต้องรวมตัวกัน เจรจากับภาครัฐ และทางฝ่ายรัฐ หรือตัวแทนภาครัฐ จะต้องเป็นคนเจรจากับบริษัทวัคซีน จะต้องรับรอง หรือมีเงินกองทุน รับผิดชอบ กรณีมีปัญหาของวัคซีน เช่นอาการไม่พึงประสงค์ เพราะถือว่าเป็นการแบ่งเบาภาครัฐ ภาครัฐจะต้องออกหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) Letter of Intent หนังสือนี้จะต้องเป็นของภาครัฐ หรือตัวแทนภาครัฐเท่านั้น แสดงเจตนาต่อคู่สัญญาก่อนที่จะเซ็นสัญญาร่วมกัน ถ้าไม่มีหนังสือแสดงเจตจำนง บริษัทวัคซีนต่างๆก็จะไม่มาขึ้นทะเบียน ก็เป็นไปไม่ได้ที่ภาคเอกชน จะนำเข้ามา

              โดยหลักการแล้ว บริษัทใหญ่ๆ นายทุนใหญ่ๆ ก็อยากจะช่วยเหลือภาครัฐนำเข้าวัคซีน ที่เห็นเป็นข่าวอยู่เสมอ ที่ต้องการให้เศรษฐกิจฟื้นเร็ว แต่ในความเป็นจริง ภาคเอกชน หรือนายทุนที่จะช่วยเหลือ เช่นโรงงานต่างๆ สภาอุตสาหกรรม แหล่งท่องเที่ยว ถ้าทางภาครัฐ ไม่เข้าร่วมเจรจา กับบริษัทวัคซีนแล้ว ก็จะเป็นการยากที่จะมีการนำเข้ามาในช่วงนี้ จนกว่าจะมีการขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแบบเต็มรูปแบบ ไม่ใช่ภาวะฉุกเฉิน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :