เชียงใหม่ย้ำชัด "วัคซีนโควิด-19"ฉีดให้กลุ่มเป้าหมายก่อน ไม่ได้มีกลุ่ม VIP

02 มี.ค. 2564 | 23:15 น.

เชียงใหม่ยืนยันการฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นไปตามแผนงานที่กระทรวงสาธารณสุขวางไว้ ย้ำไม่ได้มีกลุ่ม VIP ไม่เลือกปฏิบัติกับใครเป็นกรณีพิเศษ

นายวีระพันธ์ ดีอ่อน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยว่า แนวทางการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของจังหวัดเชียงใหม่มีคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่เป็นผู้ดำเนินการบริหารจัดการวัคซีนตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด 
นอกจากนี้ทางคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ยังได้พิจารณาแบ่งการบริหารจัดการวัคซีนออกเป็น 2 ส่วน ได้แก่


ส่วนแรกคือการจัดสรรให้กลุ่มบุคคลเสี่ยง ได้แก่ บุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วย, ผู้ปฏิบัติหน้าที่ด่านหน้าที่มีความเสี่ยงสัมผัสกับผู้ป่วย และกลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่าง ๆ และผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ซึ่งมีโอกาสเสี่ยงที่จะติดโควิด-19


ส่วนที่สอง คือกลุ่มคนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งทางคณะกรรมการโรคติดต่อได้มีความเห็นร่วมกันว่าจะแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่


-กลุ่มที่ 1 คือพื้นที่อำเภอเมืองเชียงใหม่ และพื้นที่อำเภอชั้นในของจังหวัดเชียงใหม่ ประกอบด้วย อำเภอแม่ริม, อำเภอสันกำแพง, อำเภอหางดง, อำเภอสารภี และสันทราย รวม 6 อำเภอ 

-กลุ่มที่ 2 คือกลุ่มอำเภอที่มีแนวเขตติดต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน ประกอบด้วยอำเภอเชียงดาว, อำเภอฝาง, อำเภอไชยปราการ, อำเภอกัลยาณิวัฒนา และเวียงแหง 


-กลุ่มที่ 3 อีก 14 อำเภอที่เหลือ จะได้ดำเนินการพิจารณาตามสัดส่วนต่อไป
 

การฉีดวัคซีนโควิด-19 เชียงใหม่  เป็นไปตามเป้าหมายสธ. ไม่เลือกปฏิบัติกับใครเป็นพิเศษ

สำหรับการให้วัคซีนเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2564  ถือเป็นการ คิก-ออฟ การให้วัคซีนกับพี่น้องประชาชนทุกกลุ่มที่โรงพยาบาลนครพิงค์ ส่วนแผนงานหลังจากนี้จะทยอยฉีดวัคซีนโควิด - 19 แก่ทุกกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่องตามแผนที่ได้วางไว้จนหมดวัคซีนในลอตที่ 1 ที่มีจำนวน 3,500 โดส ซึ่งจะใช้ 2 โดส ต่อ 1  คน รวมคนที่จะได้รับวัคซีนในลอตแรก จำนวน 1,750 คน 

 

วันที่ 1 มีนาคม 2564 ได้มีการฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์

"วันที่ 1 มีนาคม 2564 ได้มีการฉีดวัคซีนให้แก่บุคลากรทางการแพทย์ จำนวน 73 คน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งเจ้าหน้าที่รัฐอื่น ๆ เจ้าหน้าที่ อสม. ฝ่ายความมั่นคง ที่เป็นด่านหน้าในการปฎิบัติงานโควิด-19 และมีหน่วยงาน องค์กรภาคเอกชนที่ต้องปฎิบัติงานด้านการท่องเที่ยว จำนวน 67 คน"


ทั้งนี้ เมื่อฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์ครบหมดแล้ว ก็จะไปสู่กลุ่มเป้าหมายที่เป็นบุคคล และกลุ่มเสี่ยงต่าง ๆ ในพื้นที่ ซึ่งจังหวัดเชียงใหม่มีประชากรกว่า 1.6 ล้านคน เมื่อหักจำนวนผู้ตั้งครรภ์และเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปีแล้ว จะมียอดประชากรประมาณ 1.2 ล้านคน ซึ่งคาดว่าจะใช้วัคซีนถึง 2.5 ล้านโดส เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ครอบคลุมของจังหวัดเชียงใหม่


"คาดว่าทั้งหมดนี้จะใช้เวลา 180 วัน (6 เดือน) ในการดำเนินการ และขอยืนยันเพื่อให้ประชาชนสบายใจ มีความมั่นใจได้ว่า ทางรัฐบาลและจังหวัดเชียงใหม่ ดำเนินการเป็นไปตามกรอบแนวทางทุกประการ"