จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์... ถึงเปิดประเทศใน 120 วัน

30 มิ.ย. 2564 | 04:50 น.

จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์... ถึงเปิดประเทศใน 120 วัน :คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย ดร.ศรุตา เบญจานุวัตรา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,692 หน้า 5 วันที่ 1 - 3 กรกฎาคม 2564

ใกล้เข้ามาแล้วสำหรับภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ (Phuket Sandbox) กับความหวังที่ประเทศไทยจะเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้อีกครั้ง เพื่อต่อลมหายใจให้กับเศรษฐกิจไทยก่อนที่ผู้ประกอบการและคนทำงานในภาคการท่องเที่ยวจะล้มหายตายจากไปกันหมด โดยโครงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจะนำร่องที่จังหวัดภูเก็ต ส่วนจังหวัดอื่นๆจะทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวเมื่อพร้อมภายใน 120 วัน

อย่างที่รู้กันว่าเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นหลัก และโรคระบาดโควิด-19 ได้ทำให้การดำเนินกิจกรรมการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นไปได้อย่างยากลำบาก ส่งผล กระทบอย่างหนักต่อเศรษฐกิจไทยที่ไม่มีภาคส่วนอื่นมาช่วยประคองในวันที่การส่งออกมีการขยายตัวเป็นลบหรือวันที่ไม่มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเที่ยวในประเทศเลยแม้แต่คนเดียว ถึงแม้ว่าปีที่แล้วประเทศไทยประสบความสำเร็จในการควบคุมจำนวนผู้ติดเชื้อจากในประเทศได้เป็นอย่างดี แต่ก็แลกกับการที่เศรษฐกิจหยุดชะงักอย่างหนัก พอปลายๆ ปีที่แล้วการท่องเที่ยวในประเทศเริ่มจะฟื้นตัว แต่แล้วประเทศก็เจอกับโควิด-19 ระลอกที่สองและสามตามกันมาติดๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจในประเทศทรุดลงไปอีก

มาถึงวันนี้ ด้านการส่งออกซึ่งเป็นภาคส่วนหลักของเศรษฐกิจไทยได้ส่งสัญญาณที่ดีขึ้น เห็นได้จากตัวเลขมูลค่าการส่งออกของเดือนพฤษภาคม 2564 ที่มีการขยายตัวสูงถึง 41.59% เมื่อเปรียบเทียบกับตัวเลขมูลค่าการส่งออกของเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว (มูลค่าการส่งออกของเดือนพฤษภาคม 2563 มีการหดตัวถึง 22.5% ซึ่งเป็นการหดตัวที่หนักที่สุดครั้งแรกในรอบ 10 ปี) การส่งออกที่เริ่มขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้อานิสงส์จากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มฟื้นตัว หลายประเทศเริ่มมีมาตรการผ่อนคลาย และประเทศคู่ค้าหลักของไทยหลายประเทศเริ่มกลับมามีกิจกรรมทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นจนเกือบเท่ากับสมัยก่อนมีโรคระบาดโควิด-19

อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่การระบาดระลอกที่สองของโควิด-19 จนถึงวันนี้ก็ผ่านมาแล้วครึ่งปี เรายังควบคุมจำนวนผู้เสียชีวิตและผู้ติดเชื้อจากในประเทศไม่ได้ วิกฤตเตียงคนไข้ไม่พอรองรับเกิดขึ้นให้ใจหายใจควํ่าเป็นระยะๆ โดยเฉพาะการระบาดระลอกที่สามที่เกิดขึ้นช่วงก่อนหยุดสงกรานต์ที่ผ่านมา ได้ส่งผลให้เกิดการระบาดเป็นวงกว้างไปทั่วประเทศ จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่จากในประเทศยังไม่มีแนวโน้มว่าจะลดจำนวนลง และจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่งแตะ new high ไปเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาก

วัคซีนที่เป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศที่เราต่างรอคอยกันอย่างใจจดใจจ่อก็กลับมีประสิทธิภาพที่ไม่น่าพอใจ นอกจากอาการแพ้วัคซีนและผลข้างเคียงจากวัคซีนที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับวัคซีนทุกชนิดอยู่แล้ว (โดยเฉพาะวัคซีนที่ถูกคิดค้นขึ้นในระยะเวลาสั้นมากและได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกเพียงเพื่อใช้งานในกรณีฉุกเฉิน/กรณีพิเศษ) จากผลการวิจัยและการเก็บข้อมูลซึ่งยังมีไม่มากนักในขณะนี้ ประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ และป้องกันการแพร่เชื้อของวัคซีนหลักของไทยในเวลานี้ ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างตํ่า ซึ่งไม่เพียงพอที่จะใช้ลดการระบาดของโควิด-19 ได้

 

นอกจากนี้ ความเร็วในการฉีดวัคซีนให้กับประชาชนยังค่อนข้างช้า อีกทั้งในช่วงวิกฤติอย่างนี้ สังคมไทยที่ระบบอุปถัมภ์และความเหลื่อมลํ้าได้ฝังรากลึกก็แสดงตัวตนออกมาอย่างชัดเจน บุคคล VIP บางกลุ่มได้ลัดคิวฉีดวัคซีนก่อนบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนในกลุ่มเสี่ยง ส่งผลให้คนที่ควรจะได้รับวัคซีนก่อนกลับได้รับวัคซีนล่าช้า

อีกทั้งวัคซีนยังขาดแคลนและการจัดหาวัคซีนยังหาความแน่นอนไม่ได้ ซึ่งอาจเป็นเรื่องที่พอเข้าใจได้ เพราะทุกประเทศทั่วโลกต่างแย่งชิงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดให้คนในประเทศของตนเองกันทั้งนั้น ก็คงต้องขึ้นอยู่กับความสามารถในการต่อรองของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว ว่าจะทำได้ดีและคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมมากน้อยแค่ไหน

 

จากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์... ถึงเปิดประเทศใน 120 วัน

 

 

ความพยายามของรัฐบาลในการจะเปิดประเทศภายใน 120 วัน และรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ เป็นสิ่งที่เข้าใจได้ และควรทำเป็นอย่างมากเมื่อเราพร้อม ถึงแม้จะสร้างความกังวลให้หลายภาคส่วนก็ตาม เพราะเราไม่สามารถจะปิดประเทศไปจนถึงวันที่โควิด-19 หายไปจากโลกนี้ได้ เราต้องหาทางที่จะอยู่ร่วมกับโรคระบาดนี้ต่อไปอย่างดีที่สุดให้ได้

แต่การจัดการเตรียมความพร้อมอย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ เป็นสิ่งที่สำคัญมากที่จะทำให้ประเทศไทยเปิดรับนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจฟื้นตัวได้อีกครั้ง โดยที่ไม่เกิดการระบาดระลอกใหม่ตามมา

อย่างไรก็ตาม หากดูจากสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศไทย ประเภทของวัคซีนที่เรามีในตอนนี้ และความเร็วในการฉีดวัคซีนให้ประชาชนแล้วการเปิดประเทศเร็วเกินไป จะไม่เป็นผลดีหลายประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ที่ควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ค่อนข้างดีจนคลายล็อกดาวน์หรือเปิดประเทศได้แล้ว กลับพบกับการติดเชื้อหรือการระบาดรอบใหม่จนต้องล็อกดาวน์อีกครั้ง

และมีหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ และ อิสราเอล ที่ได้ระดมฉีดวัคซีนให้กับประชาชน แต่กลับมีการติดเชื้อในกลุ่มที่ฉีดวัคซีนแล้ว จนต้องล็อกดาวน์ หรือ จำกัดการเดินทางของคนในประเทศอีกครั้ง

ดังนั้น การเปิดประเทศโดยที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ในการป้องกันการติดเชื้อและป้องกันการแพร่เชื้อได้ จะเพิ่มความเสี่ยงให้ต้องล็อกดาวน์ประเทศกันอีกครั้ง นอกจากนี้ หากเรายังควบคุมสถานการณ์โควิด-19 ในประเทศได้ไม่ดีเท่าที่ควร เราจะไม่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชั้นดีเข้าประเทศได้อย่างที่เราอยากได้อยู่ดี

 

สิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรทำโดยเร็วที่สุดคือ จัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพดีที่สุดมาให้คนในประเทศให้เร็วที่สุด ตราบใดที่วัคซีนหลักของเรายังไม่มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อและการแพร่เชื้อได้เพียงพอ จำนวนคนติดเชื้อจากในประเทศก็จะไม่มีทางลดลง ภูมิคุ้มกันหมู่จะไม่เกิดขึ้น และความหวังว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเที่ยวในประเทศไทยเป็นจำนวนมากเหมือนเมื่อก่อน ก็จะมาไม่ถึงสักที

อีกทั้ง ถ้าวัคซีนหลักที่ประเทศไทยสั่งเข้ามามีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ประชาชนก็ต้องเข้ารับการฉีดวัคซีนเข็มที่สามและสี่เพิ่มอยู่ดี เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณแผ่นดินอย่างไม่คุ้มค่าสักเท่าไหร่

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือ เราต้องรีบหาภาคส่วนเศรษฐกิจอื่นมาทดแทน หรือ เสริมภาคการท่องเที่ยว ที่ยังป่วยหนักโดยเร็วที่สุด

เป็นที่น่าเสียดายที่ในช่วงที่ผ่านมายังไม่มีความพยายามอย่างเพียงพอในการหาภาคส่วนเศรษฐกิจใหม่นี้ ทั้งๆ ที่เราก็อยู่กับโควิด-19 กันมาปีกว่าๆ แล้ว อาจจะเป็นเพราะเรามีความหวังว่าเดี๋ยววัคซีนก็จะมาแล้ว แล้วทุกอย่างจะกลับเข้าสู่สภาวะปกติเหมือนก่อนหน้านั้น ที่ประเทศไทยเป็นสถานที่ท่องเที่ยวระดับโลกที่สร้างรายได้เข้าประเทศมหาศาลได้อย่างง่ายๆ

แต่ครั้งนี้หนทางคงอีกยาวไกลตราบใดที่โควิด-19 ยังกลายพันธุ์อยู่ตลอดเวลา และการพัฒนาวัคซีนยังตามหลังอยู่หนึ่งก้าวเสมอ