พรก. ช่วยเหลือและฟื้นฟูฯ: ทำอะไร ได้ขนาดไหน

06 มิ.ย. 2564 | 04:25 น.

พระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบการธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดต่อเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 9 เมษายน 2564 นั้น หัวใจ พรก. นี้ก็คือ การเปิดโอกาสให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถปล่อยกู้ให้กับสถาบันการเงิน เพื่อนำไปปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการในอัตราดอกเบี้ยต่ำได้ โดยมีวงเงินทั้งหมด 350,000 ล้านบาท และมีข้อกำหนดบางอย่างให้สถาบันการเงินปฏิบัติตาม ส่วนมากเป็นเงื่อนไขที่สะดวกและผ่อนปรนกว่าเดิมเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพสามารถเข้าถึงมาตรการนี้ได้มากขึ้น ซึ่งเป็นความพยายามของรัฐบาลที่จะเข้าไปให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจโดยเฉพาะกลุ่มวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่ได้รับผลกระทบจากโควิดให้มีศักยภาพ สามารถประคับประคองธุรกิจและการจ้างงานต่อไปได้ 
    อย่างไรก็ตาม พรก. นี้มีข้อจำกัดหลายอย่างเพิ่มเติมจากเดิม เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้ประกอบการหลายรายที่ไม่สามารถเข้าร่วมมาตรการฟื้นฟูตาม พรก. ก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะคนที่ไม่เคยเป็นหนี้ หรือผ่อนชำระให้ธนาคารจนครบแล้วก่อนปี 2562 หมดโอกาสเข้าร่วมมาตรการนี้ เพราะ พรก. ฉบับก่อนกำหนดยอดสินเชื่อใหม่ในมาตรการนี้ที่ 20% ของยอดหนี้คงค้างที่ปลายปี 2562 คนที่จ่ายหนี้เก่งหรือไม่เคยกู้ก็จะเสียโอกาสไปมาก นอกจากนี้ ผู้ประกอบการหลายรายที่แบกภาระหนี้อยู่ แม้ว่าธุรกิจตอนนี้ยังพอจะไปได้ แต่โควิดคราวนี้ดูแล้วท่าทางจะยืดเยื้อยาวนานและรุนแรง ไม่รู้จะจบเมื่อไร อย่างไร ตนเองอาจหมดแรงก่อนหากยังแบกภาระหนี้เดิมนี้นานต่อไป ทำให้รัฐบาลจึงออกมาตรการใหม่มาเสริมตาม พรก. นี้  
    พระราชกำหนดฉบับนี้มีสองมาตรการสำคัญในการช่วยเหลือผู้ประกอบการ เรียกสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ และมาตรการพักทรัพย์พักหนี้
    มาตรการที่หนึ่ง คือ มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการธุรกิจหรือเรียกง่าย ๆ ว่าสินเชื่อฟื้นฟูผู้ประกอบการวงเงินรวม 250,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยที่เหมาะสม และมีการปรับปรุงเงื่อนไขบางประการจากเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่ไม่เคยมีสินเชื่อกับสถาบันการเงินหรือลูกหนี้ใหม่สามารถเข้าร่วมมาตรการนี้ได้ (ของเดิมให้เฉพาะลูกหนี้ที่ยังมีหนี้ค้างกับสถาบันการเงินเท่านั้นที่กู้ได้) แต่สามารถกู้ได้ไม่เกินรายละ 20 ล้านบาท ส่วนลูกหนี้รายเดิม พรก. ฉบับใหม่นี้จะขยายวงเงินสินเชื่อให้มีความคล่องตัวขึ้นแต่ก็อยู่ในวงเงินไม่เกิน 30% ของวงเงินสินเชื่อคงเหลือ ซึ่งใน พรก. เดิมกำหนดยอดสินเชื่อใหม่ไว้เพียง 20% ของหนี้คงค้าง ถือว่าช่วยขยายวงเงินสินเชื่อให้เหมาะสมยิ่งขึ้น
    สำหรับอัตราดอกเบี้ยในมาตรการนี้จะมีการปรับจากเดิมที่ไม่เกิน 2% ต่อปีได้ระยะเวลาสองปีเป็นอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยไม่เกิน 5% ต่อปีตลอดระยะเวลาห้าปี แต่ทั้งนี้ก็ยังคงอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ในสองปีแรกไว้ โดยไม่มีการเรียกเก็บดอกเบี้ยในช่วงหกเดือนแรกและที่สำคัญมาตรการนี้ก็จะขยายจากเดิมสองปีออกไปเป็นเวลาห้าปี 
อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้มีการกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับการค้ำประกันสินเชื่อ โดยผู้เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องเข้าร่วมการค้ำประกันสินเชื่อจากบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ซึ่งผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าธรรมเนียมที่ร้อยละ 1.75 โดยรัฐจะชดเชยค่าธรรมเนียมแทนลูกหนี้ที่ร้อยละ 3.5 ตลอดระยะเวลาสัญญาค้ำประกันไม่เกิน 10 ปี (เพิ่มจากเดิม 5 ปี) 
    ประเด็นการที่ให้ลูกหนี้ทุกคนต้องค้ำประกันกับ บสย. ซึ่งมองในมุมของผู้ประกอบการหรือลูกหนี้ก็ถือว่ามีภาระที่เพิ่มขึ้นเพราะต้องจ่ายอัตราค้ำประกันให้กับ บสย. ร้อยละ 1.75 ทำให้มีภาระทางการเงินรวมร้อยละ 3.75 ต่อปี (ดอกเบี้ยเงินกู้ร้อยละ 2) ซึ่งผู้ประกอบการบางรายที่มีสินทรัพย์ค้ำประกันกับสถาบันการเงินครบเพียงพออยู่แล้วก็ถือว่าเป็นการเสียเปล่า 
    แต่ผมก็เข้าใจในมุมมองของรัฐที่ออกกติกานี้มา เพราะต้องการสร้างแรงจูงใจให้กับสถาบันการเงินที่จะปล่อยสินเชื่อให้กับลูกหนี้ได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เนื่องจากในพระราชกำหนดนี้ได้กำหนดภาระค้ำประกันหนี้ทั้งพอร์ตของสถาบันการเงินไว้ที่ 40% ซึ่งสูงกว่าสัดส่วนในอดีต ดังนั้น หากไม่กำหนดให้ลูกหนี้ทุกรายที่เข้าโครงการนี้ต้องค้ำประกันสินเชื่อกับ บสย. แล้วก็จะมีเพียงลูกหนี้ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะถูกส่งเข้า บสย. และจะทำให้โอกาสที่พอร์ตสินเชื่อรวมของสถาบันมีความเสี่ยงสูง ส่งผลต่อโอกาสที่รัฐบาลต้องชดเชยจำนวนมากอีกด้วย
    สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการนี้ รัฐพยายามลดภาระทางการเงินให้กับผู้ประกอบการมากที่สุด ในส่วนดอกเบี้ยนั้น ลูกหนี้มีเวลาปลอดหนี้ 6 เดือนแรก โดยรัฐบาลเป็นผู้จ่ายดอกเบี้ยแทนให้ ซึ่งกำหนดให้ธนาคารเจ้าหนี้รวบรวมเอกสารดอกเบี้ยส่วนนี้ส่งธนาคารแห่งประเทศไทยภายหลังสองปีของโครงการ จากนั้นรัฐบาลจะเป็นผู้จ่ายชดเชยส่วนนี้ให้สถาบันการเงิน รวมทั้งการลดหย่อนค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวกับการจำนองและการจดทะเบียนสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ
    มาตรการที่สอง คือ มาตรการสนับสนุนการรับโอนทรัพย์สินหลักประกันหรือ “มาตรการพักทรัพย์พักหนี้” ในวงเงิน 100,000 ล้านบาท มาตรการนี้มีกลไกในการพักทรัพย์พักหนี้ โดยให้สถาบันการเงินรับโอนทรัพย์สินที่เป็นหลักประกันของผู้ประกอบการเพื่อชำระหนี้ โดยมีข้อตกลงกันไว้ว่าจะให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการคนเดิมซื้อทรัพย์สินกลับคืนเป็นอันดับแรก (Frist rights) หรือสามารถเช่าทรัพย์ได้ในระยะเวลา 3 ปี (อาจขยายได้ถึง 5 ปี) ในราคาซื้อขายที่มีการตกลงกันไว้ก่อน ซึ่งลูกหนี้ก็จะสามารถนำทรัพย์สินนั้นไปใช้ดำเนินธุรกิจต่อไปได้ แต่คงต้องมีค่าเช่าหรือการแบ่งปันรายได้ตามเงื่อนไขที่ตกลงกันระหว่างเจ้าหนี้กับลูกหนี้ และเมื่อลูกหนี้ต้องการซื้อทรัพย์สินคืนจากเจ้าหนี้ก็จะสามารถใช้สิทธินั้นได้ในช่วงระหว่างที่สัญญากันไว้โดยราคาซื้อคืนจะไม่เกินราคารับโอนบวก Carrying cost
    การดำเนินมาตรการนี้ ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถเพิ่มสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจและลดภาระหนี้สินทั้งในส่วนเงินต้นและดอกเบี้ย สามารถประคับประคองธุรกิจต่อไปได้ ไม่ถูกกดราคาทรัพย์สิน (Fire sale) จนต่ำมากเกินไป รวมทั้งผู้ประกอบการสามารถมีโอกาสกลับมาเปิดกิจการได้อีกครั้งหนึ่งในอนาคต ซึ่งในระหว่างการโอนทรัพย์ให้กับเจ้าหนี้นั้น ผู้ประกอบการสามารถตกลงทำสัญญากับเจ้าหนี้ในการที่จะดำเนินธุรกิจต่อไปได้  
    นอกจากนี้ รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังก็จะยกเว้นภาษีอากรที่เกิดขึ้นจากการตีโอนทรัพย์ภาษีเงินได้สำหรับเจ้าหนี้และลูกหนี้ ทั้งขารับโอนและขาคืนทรัพย์ รวมทั้งการลดหย่อนภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะอากรแสตมป์ รวมทั้งการยกเว้นค่าธรรมเนียมที่เกี่ยวข้องกับการธุรกรรมต่าง ๆ ในมาตรการนี้ 
    มาตรการทั้งสองส่วนในพระราชกำหนดนี้ สาระสำคัญก็คือ เป็นการเปิดทางให้ธนาคารแห่งประเทศไทยมีอำนาจให้กู้ยืมเงินแก่สถาบันการเงินเป็นการเฉพาะคราวเพื่อให้ชาวบ้านการเงินนำไปให้ผู้ประกอบธุรกิจกู้ยืมหรือใช้ประโยชน์ตามที่กำหนดไว้ในพระราชกำหนดนี้ และกลุ่มเป้าหมายของ พรก. นี้เน้นความช่วยเหลือไปที่ผู้ประกอบการหรือธุรกิจที่ยังมีคงศักยภาพอยู่ ผมเน้นคำว่า “ผู้มีศักยภาพ” ที่ยังดำเนินธุรกิจต่อไปได้ 
    แต่หากไม่เข้ามาช่วยเหลือแล้วอาจจะลำบากมากขึ้น แน่นอนว่าเงื่อนไขที่ออกมานั้นยังขึ้นอยู่กับการพิจารณาขั้นสุดท้ายเป็นราย ๆ ของสถาบันการเงินที่เป็นเจ้าหนี้เป็นสำคัญ ก็หวังว่าสถาบันการเงินจะผ่อนปรนลงจริง ๆ ไม่งั้นก็กลายเป็นคนอยากกู้ไม่ได้กู้ คนไม่ต้องการกู้ก็ไปอ้อนวอนเขากู้ และผู้ประกอบการที่มีปัญหาในสภาวะนี้ ก็ถูกเมินต่อไป  

บทความที่เกี่ยวข้อง :