ใจค้ำชีวิตจิตขุนชีวา

14 พ.ค. 2564 | 23:00 น.

ใจค้ำชีวิตจิตขุนชีวา : คอลัมน์เปิดมุกปลุกหมอง โดย... ดร.สุรวงศ์ วัฒนกูล

ผมเคยบินเดี่ยวเข้าไปกินก๋วยเตี๋ยว ร้านสะเดาะเคราะห์ (นามสมมุติ) สั่ง เส้นหมี่ เสด็จพี่บริกรเอา เส้นใหญ่ มาเสิร์ฟให้ ผมก็ท้วงเขาไปว่า “น้องครับ ผมสั่งเส้นหมี่?” ถ้าเป็นเด็กเสิร์ฟสายวัด ก็คงจะพูดว่า “พุทโธ ธัมโม สังโฆ โปรดอโหสิกรรม อย่าถ่ายคลิปซึ่งกันและกันเลย จัดไป…เปลี่ยนให้ทันที!”

ผมฝันกลางวันไปเอง เขาปล่อยควันดำทันทีว่า “อ้าว…เหรอ ลูกค้าเยอะก็หลุดกันบ้างนะพี่” นั่นไง มันโยนบาปใส่ลูกค้า “ถ้าจะขอเปลี่ยนชามใหม่ ต้องรอกันนานเลยนะ!” มันขู่ซึ่งหน้าว่าถ้าเรื่องมากก็มีแววจะอดกิน

นึกว่าจะจบแค่นั้น ทะลึ่งปฐมนิเทศซะกลางร้านเฉยเลย “ไม่ต้องซีเรียส เส้นหมี่ก็แป้ง เส้นใหญ่ก็แป้ง!” 

ชีวิต คือ ตัวเป็นๆ ที่ยังกินได้และยังหายใจอยู่ตามฟอร์มของสัตว์โลก ชีวา คือ ตัวเป็นๆ ที่ยิ้มแฉ่งโยกตัวกระดุกกระดิกเข้ากับจังหวะดนตรีแฮปปี้เบิร์ธเดย์ด้วยสีหน้าที่พออกพอใจ เพราะรู้สึกได้ว่าตัวเองโชคดีมีความสุข

คนเราจะมี “ชีวา” สักกี่มากน้อยนั่นก็แล้วแต่ว่าเขาจะมี “Hap” หล่อเลี้ยงเพียงใด Hap คือ รากศัพท์ของคำว่า happiness หรือ ความสุข อังกฤษยุคเก่าใช้คำว่า Hap ในการทักทายให้พรเสริมกำลังใจให้รู้สึกว่ามี Chance Luck Fortune คือ โอกาสดี โชคดี ชะตาดี ผู้ได้รับก็มี “ความสุข”

สุข แปลว่า สบาย นัยกว้างคล้ายแพนกล้องผ่านวิว สบาย แปลว่า สะดวก หรือ อยู่ดี นัยคล้ายตั้งหน้ากล้องแช่ภาพต้นไม้ สะดวก คือ ราบรื่นคล่องตัวมิติดขัด อยู่ดี คือ กำลังเป็นดังที่ปรารถนา นัยทั้งสองประเด็นคล้ายตั้งหน้ากล้องซูมดู กิ่ง ใบ ดอก ในระยะใกล้ สรุปว่า “สุข” เท่ากับ ปลอดโปร่งใจได้สิ่งที่หวังดังฝัน

มีอยู่คืนหนึ่ง ผม กับ อ.สุขุม นวลสกุล มีนัดกันที่ ร้านข้าวต้มเหลาเหลา ลูกคนเล็กเข้ามารับออร์เดอร์

ท่านเปรยขึ้นว่า “ผมอยากทานราดหน้าเส้นใหญ่?” เธอก็บอกด้วยความสุภาพว่า “เส้นใหญ่หมดค่ะ!” ท่านแนะนำโดยไม่ลังเลว่า “คุณก็ไปทำให้มันมีขึ้นมาสิ?” เธอนิ่งนิดหนึ่งแล้วอมยิ้มและตอบรับว่า “ได้ค่ะ!” นั่งรอไม่นานก็ได้ทานสมใจนึก ผมอดใจไม่ได้ถามเธอว่า “น้องไปเอาเส้นมาจากไหน?” เธอยิ้มแล้วก็บอกว่า “หนูไปขอปันเขามาจากร้านก๋วยเตี๋ยวที่อยู่เลยร้านเราไปหน่อยหนึ่งนี่แหละค่ะ!”

วันไหนอยู่บ้านคนเดียว ผมจะวางแผน ลวนลามไข่เค็ม กับ แทะเล็มมาม่า เป็นการหม่ำเพื่อหวังจะ บำบัดชีวิต วันใดที่ผมไป ปลุกปล้ำปูอลาสก้า กับ แต๊ะอั๋งไข่ปลาคาเวียร์ เป็นการกินเพื่อมุ่งที่จะบำรุงชีวา อันที่จริงคนที่ออกไปกินมื้อค่ำ กะลิ้มกะเหลี่ยน้ำตกส้มตำ กับ ลูบๆ คลำๆ ข้าวเหนียว ถือว่าเป็นพวกเดียวกัน

กับคนที่ไปกระแซะปลากระพงทอดกรอบ หรือ อ็อฟกุ้งก้ามกราม เพราะว่า เขาออกไปหาอาหารจานโปรดสนองความอยาก โดยไม่ต้องหมกมุ่นวุ่นวายกับการปรุงหรือล้างจาน แสดงว่า เขาประสงค์จะเสพความอิ่มใจ!

ร้านหอยทอดที่เดอะมอลล์งามวงศ์วาน เชฟสาวอึดยืนอบซาวน่าท้าไอกระทะอยู่คนเดียว ลูกค้ายืนรอคิวรอไม่ขาดสาย เธอกำลังเอาตะหลิวเคาะรังแกเหยื่อในกระทะ ผมเข้าไปยกมือไหว้บอกทั้งคนรอคิวกับเชฟสาวว่า “ผมไม่ได้แซงคิวนะครับ จะขออนุญาตปรึกษาเชฟสั่งหอยทอดจานพิเศษแป๊บนึงได้ไหมอ่ะ?” ทุกคนหันมามองผมจนตัวผมหดเล็กลงกลายเป็นจุลภาคหนึ่งจุด เธอยิ้มแล้วบอกว่า “ได้ค่ะ!” ผมรีบอธิบายแข่งกับสายตาบรรดาม็อบหอยทอดว่า “น้องเอาหอยใส่ให้เต็มตะหวัก เอาตะหวัก จุ่มลงในหม้อแป้ง เทแป้งออกไปครึ่งตะหวัก หลังจากเทใส่กระทะแล้วน้องก็เอาไข่มาตอกใส่สองฟอง น้องจะคิดกี่ตังค์ว่ากันมาเลย อย่างนี้จะได้ไหมครับ?”

เธอยิ้มแป้นคล้ายๆ แอบขำแล้วก็ตอบว่า “80 บาท…จัดไป!” ผมไปต่อท้ายคิวขยับมาเรื่อยๆ จนฝันเป็นจริง

อีตอนที่เดินถือจาน “หอยทอดสั่งตัด” ผ่านคนที่เพิ่งจะมาเข้าคิวเขามองตามทำตาโตและคงนึกในใจว่าทำไมจานนี้ 50 บาท หอยเหลื่อมล้ำแยะ ไข่เหลื่อมล้ำเยอะ ไม่ยุติธรรมเลยวุ้ย?

เคยเห็นร้านก๋วยเตี๋ยวเขาติดตั้งป้ายสไตล์แนวไว้ว่า เมีย 4 หมี่เกี๊ยว ชั่วคราว 30 ค้างคืน 35 

ชั่วคราว คือ ธรรมดา สไตล์นี้กินเพื่อ ประทัง ชีวิต แต่ ค้างคืน คือ พิเศษ สไตล์นี้กินเพื่อ ประเทือง ชีวา

ปลื้มล้นเข่ง กับ เซ็งล้นหม้อ เป็น อารมณ์คู่กรรม ระหว่าง ซตพ. ขนานกับ กขค ที่ไม่มีวันจะสิ้นเชื้อ

ซตพ. คือ ไลฟ์สไตล์ ซึ่งต้องพิสูจน์ เป็นคนที่เอาใจคน มีเหตุผลในการวางตัวเพราะจำได้ว่าเคยโดนทัวร์ลง ส่วน กขค คือ ไลฟ์สไตล์ ก้างขวางคอ เป็นคนที่ เอาใจตน โดนโควิดเบิ้ลซ้ำเบิ้ลซากหน้ากากให้ฟรีก็ไม่สวม!

หน้า 6 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,679 วันที่ 16 - 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2564