ปฎิรูป “แรงงานต่างด้าว” ในวิกฤตซ้ำซ้อน

29 เม.ย. 2564 | 07:35 น.

ปฎิรูป “แรงงานต่างด้าว” ในวิกฤตซ้ำซ้อน : บทบรรณาธิการ ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3675 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 2-5 พ.ค.2564

 

     แม้ยังอยู่ในความมืดมนของสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกเม.ย.ที่พุ่งทะยาน ยอดผู้ติดเชื้อใหม่ยังทรงตัวในระดับสูง ขณะที่รัฐบาลปลุกความเชื่อมั่นว่าจะคุมสถานการณ์ได้ในต้นเดือนหน้า แต่ภาพรวมการส่งออกไทย 2 เดือนแรกปี 2564 ส่งสัญญาณฟื้นชัดเจนแล้ว โดยมีสินค้าส่งออกสำคัญ 8 ใน 10 อันดับแรก กลับมาขยายตัวเป็นบวก เป็นอีก 1 โอกาสของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยปีนี้ หากสามารถคุมการระบาดในประเทศได้

     ขณะที่ 3 ตลาดส่งออกหลัก คือ จีน สหรัฐอเมริกา และประชาคมยุโรป (อียู) ที่เศรษฐกิจฟื้นตัวชัดเจน หลังระดมฉีดวัคซีนจนตัวเลขการติดเชื้อรายใหม่เริ่มอยู่ในวงจำกัด หลายประเทศเริ่มใช้มาตรการฟื้นเศรษฐกิจ อาทิ สหรัฐอเมริกา ทุ่มงบกระตุ้น 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ เศรษฐกิจจีนไตรมาสแรกกลับมาโตพรวดถึง 18% คาดทั้งปีจีดีพีโต 6-8% สอดคล้องตัวเลขส่งออกไทยไปสหรัฐฯขยายตัว 15.03% ไปจีนโต 11.84% ญี่ปุ่นก็บวก 6.05% ออสเตรเลียขยายตัว 22.07 % 

​​​​​​​     ทำให้แวดวงผู้ส่งออกไทยเชื่อมั่นว่า การส่งออกไทยปีนี้จะเติบโตได้ที่ 4% แต่ทั้งนี้ต้องดูแลปัจจัยเสี่ยง คือ คุมการระบาดเชื้อโควิด-19 ให้ได้ เพื่อไม่ให้กระทบภาคการผลิต ดูแลเรื่องตู้สินค้าและค่าระวางเรือ เร่งเจรจาคู่ค้าเปิดตลาดเพิ่ม รวมถึงการปัญหาแรงงานที่ขาดแคลนในหลายภาคการผลิต ที่ทำให้ผู้ประกอบการไม่สามารถรับคำสั่งซื้อจากคู่ค้าได้

     ผลจากการระบาดเชื้อโควิด-19 รอบแรกเมื่อต้นปี 2563 ที่สร้างความตื่นตระหนกไปทั่ว หลายประเทศสั่งล็อกดาวน์ปิดประเทศสกัดการแพร่ระบาด มีการปิดโรงงาน แรงงานไม่มีรายได้ ทำให้แรงงานต่างด้าวในไทย ที่คาดว่ามีอยู่ถึง 3 ล้านคน บางส่วนทะลักกลับบ้าน การระบาดที่ยืดเยื้อเป็นระลอกใหม่ และระลอกเม.ย.ที่กำลังลุกลามเวลานี้ แรงงานต่างด้าวบางส่วนตกค้างไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานได้ เนื่องจากทั้งไทยและประเทศต้นทางยังปิดด่านห้ามคนเคลื่อนย้ายอยู่ เพื่อสกัดการแพร่เชื้อโควิด-19 

​​​​​​​     คาดกันว่ามีแรงงานเมียนมานับ 100,000 คน ที่รออยู่ตลอดแนวชายแดนเพื่อหาทางกลับเข้ามาทำงานในไทย ซ้ำเติมด้วยสถานการณ์รุนแรงทางการเมืองในเมียนมา ผลักดันให้เกิดคลื่นเมียนมาอพยพข้ามแดนเข้าไทยไม่หยุดหย่อน แม้เจ้าหน้าที่ไทยจะสนธิกำลัง ซีล ตลอดแนวชายแดน สกัดจับได้แทบทุกคืนตั้งแต่กลุ่มละ 20-50 คน ที่น่าห่วงคือเป็นการมาแบบยกครัว  แต่ที่เล็ดรอดผ่านได้สำเร็จไม่รู้เท่าไหร่ ซึ่งหากปล่อยเข้ามาฝังตัวอยู่ภายใน เพิ่มความเสี่ยงทั้งด้านการระบาดเชื้อโควิด-19 กระทบความมั่นคง และปัญหาสังคมในระยะยาว

​​​​​​​     เราเห็นว่าถึงเวลาต้องรื้อนโยบายแรงงานต่างด้าวขนานใหญ่ให้สอดคล้องกับสภาพที่เป็นจริง หารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อวางระบบร่วมกัน ให้แรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยอย่างถูกต้อง เป็นระบบ ตรวจสอบได้ และจัดระบบภายในที่เพิ่มต้นทุนการหลบหนีอยู่ใต้ดิน ควบคู่กับเพิ่มโอกาสสร้างหลักประกันแก่แรงงานต่างด้าวรายที่เข้ามาอย่างถูกต้องหรือเข้ามาอยู่ในระบบ  ขจัดการแสวงประโยชน์มิชอบโดยเจ้าหน้าที่รัฐและผู้เกี่ยวข้อง

​​​​​​​     ทั้งเพื่อประโยชน์ร่วมด้านเศรษฐกิจ และการสกัดการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19