โรงแรมฮาลาล: โอกาสใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการโรงแรมของประเทศไทย

24 มี.ค. 2564 | 01:00 น.

โรงแรมฮาลาล: โอกาสใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการโรงแรมของประเทศไทย : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ  โดย ผศ.ดร.มนชยา อุรุยศ คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,664 หน้า 5 วันที่ 25 - 27 มีนาคม 2564

จากจำนวนประชากรมุสลิมที่มีมากถึง 1 ใน 4 ของประชากรโลกและมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนในประชากรโลกเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ประกอบกับศักยภาพทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นในโลกมุสลิมส่งผลให้การท่องเที่ยวฮาลาล (Halal Tourism) ซึ่งเป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ขัดต่อหลักศาสนาอิสลามเริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นที่น่าจับตามองมากยิ่งขึ้น ซึ่งการขยายตัวของนักท่องเที่ยวมุสลิมก็จะนำไปสู่ความต้องการของผลิตภัณฑ์การท่องเที่ยวฮาลาลที่มีความหลากหลายมากขึ้น อาทิ สายการบินฮาลาล ร้านอาหารฮาลาล และโรงแรมฮาลาล คาดการณ์ได้ว่าหลังจากการได้รับวัคซีนโควิดครอบคลุมหลายภูมิภาคมากยิ่งขึ้น การท่องเที่ยวจะกลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง ดังนั้น การพัฒนาการท่องเที่ยวเพื่อรองรับการขยายตัวของกลุ่มโลกมุสลิมจึงเป็นประเด็นที่นานาประเทศน่าจะกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง 

แม้การท่องเที่ยวฮาลาลได้เริ่มเข้ามามีบทบาทและเป็นที่น่าจับตามองมากขึ้นในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี ธุรกิจโรงแรมที่สอดคล้องกับหลักการฮาลาลยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่ในประเทศไทย เนื่องจากปัจจุบันยังมีโรงแรมที่รองรับตลาดฮาลาลโดยตรงน้อยมาก และส่วนมากจะเป็นโรงแรมระดับ 2-3ดาว ที่ยังไม่มีการจัดการตามมาตรฐานโรงแรมฮาลาลอย่างเต็มรูปแบบนอกเหนือจากบริการอาหารฮาลาล 

ต้นปี 2559 ได้มีการเปิดโรงแรมฮาลาล สมบูรณ์แบบแห่งแรกและยังคงเป็นแห่งเดียวในประเทศไทย คือ โรงแรมอัล มีรอซ โดยโรงแรมได้ประกาศตัวอย่างเป็นทางการในฐานะผู้นำด้านธุรกิจโรงแรมฮาลาลที่ได้มาตรฐาน the Leading Halal Hotel จากองค์กร Gulf Halal ประเทศดูไบ โดยมีเป้าหมายมุ่งเจาะตลาดมุสลิมระดับไฮเอนด์และลูกค้าทั่วไป ในภูมิภาคเอเชีย ตะวันออกกลาง และยุโรป

คำถามที่น่าสนใจคือ การเกิดขึ้นของโรงแรมอัล มีรอซ จะเป็นการบุกเบิกให้โรงแรมอื่นๆ พัฒนามาเป็นโรงแรม ฮาลาลสมบูรณ์แบบ หรือมีการเปิดโรงแรมใหม่ๆ ที่เป็นโรงแรมฮาลาลสมบูรณ์แบบ เพื่อรองรับกับการขยายตัวของกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมจำนวนมากหรือไม่ 

การที่ผู้ประกอบการในภาคการโรงแรมจะเลือกเป็นโรงแรมฮาลาล หรือไม่ ขึ้นกับว่าการเป็นโรงแรมฮาลาลสามารถทำกำไรให้กับธุรกิจได้มากกว่าการเป็นโรงแรมทั่วไปหรือไม่ เพราะแน่นอนว่าการที่จะได้มาตรฐานโรงแรมฮาลาลที่เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติได้นั้น จำเป็นต้องมีการลงทุนในโรงแรมเพิ่มเติมมากกว่าโรงแรมทั่วไปอย่างมาก กล่าวคือ มีกฎเกณฑ์ที่เพิ่มเติมถึง 13 ข้อในการกำกับโรงแรม อีก 4 ข้อสำหรับร้านอาหารของโรงแรม และอีก 6 ข้อสำหรับสปา ห้องออกกำลัง และสระว่ายนํ้า

จะเห็นได้ว่าการจะเป็นโรงแรมฮาลาลสมบูรณ์แบบได้นั้น ก่อให้เกิดต้นทุนที่เพิ่มขึ้นสำหรับผู้ประกอบการ อย่างไรก็ดี หากการเป็นโรงแรมฮาลาล สมบูรณ์แบบ สามารถเพิ่มรายได้ให้กับโรงแรมอย่างมีนัยสำคัญ และนำมาซึ่งผลกำไรที่สูงกว่าการเป็นโรงแรมทั่วไป ก็เป็นการสมควรที่ผู้ประกอบการควรจะเลือกเข้าสู่อุตสาหกรรมโรงแรม ฮาลาล ในช่วงที่ตลาดโรงแรมฮาลาลยังเป็นตลาดที่มีผู้เล่นน้อยราย และอุปทานของโรงแรมฮาลาลเองยังตํ่ากว่าอุปสงค์อยู่มาก

การที่เราทราบว่าอุปทานของโรงแรมฮาลาลเองยังตํ่ากว่าอุปสงค์อยู่มาก เห็นได้จากนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมจำนวนมากที่เข้ามาเที่ยวในประเทศไทยส่วนใหญ่ได้เข้าพักในโรงแรมทั่วไปที่ไม่ใช่โรงแรมฮาลาล ซึ่งถ้าเราเชื่อว่านักท่องเที่ยวชาวมุสลิม มีความเคร่งครัดต่อหลักศาสนา เมื่อใดก็ตามที่มีทางเลือกที่ถูกต้องตามหลักศาสนา พวกเขาก็จะเปลี่ยนไปพักโรงแรมฮาลาลทันที แต่หากการเลือกที่จะเข้าพักโรงแรมขี้นอยู่กับปัจจัยอื่นๆ ที่สำคัญ อาทิ ราคา หรือ ความสะดวกสบายด้านอื่น พวกเขาก็อาจจะไม่คำนึงถึงความเป็นโรงแรมฮาลาลก็ได้ 

การเลือกหรือไม่เลือกสินค้า หรือ บริการฮาลาล ของผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยวชาวมุสลิม และเพราะเหตุผลใด จึงเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับทั้งผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมเอง และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวางนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวของประเทศ หากความยืดหยุ่นของอุปสงค์ (Demand Elasticity) ของการเข้าพักโรงแรมต่อความถูกต้องตามหลักอิสลามมีค่าสูง

การที่ประเทศไทยจะมีอุปทานของโรงแรมฮาลาลเพิ่มขึ้น ย่อมจะดึงดูดให้กลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมที่ไม่เลือกที่จะเดินทางมาเที่ยวประเทศไทยตอนแรก เนื่องจากไม่มีตัวเลือกโรงแรมฮาลาลที่เพียงพอ ก็จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้น นำมาซึ่งรายได้จากการท่องเที่ยวจากกลุ่มที่ขึ้นชื่อว่าเป็นกลุ่มลูกค้าศักยภาพได้อย่างมาก

 

เพื่อตอบโจทย์วิจัยว่าอุตสาหกรรมโรงแรมฮาลาล ควรได้รับการสนับสนุนหรือไม่ มนชยา อุรุยศ (2562) ได้ทำการศึกษาทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ด้วยข้อมูลปฐมภูมิเพื่อให้สามารถตอบโจทย์วิจัยได้อย่างมีความถูกต้องทางวิชาการ และไม่เอนเอียงตามความรู้สึกในประเด็นที่เกี่ยวกับความต้องการเข้าพักโรงแรมฮาลาล ของนักท่องเที่ยว

โดยได้ทำการสำรวจนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างประเทศใน 5 จังหวัดท่องเที่ยวหลัก คือ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และ สงขลา จำนวน 1,672 คน โดยประมาณเกือบสองในสามเป็นนักท่องเที่ยว มุสลิม การวิเคราะห์ใช้แบบจำลองทางเลือก (Experimental Choice Model) เพื่อใช้ในการคำนวณหาค่าความเต็มใจที่จะจ่าย (Willingness to Pay) และทำการประมาณทางเศรษฐมิติเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบของปัจจัยต่างๆ ที่มีต่อสัดส่วนราคาห้องพักที่นักท่องเที่ยวเต็มใจ ที่จะจ่ายสำหรับโรงแรมฮาลาล ต่อราคาห้องพักที่นักท่องเที่ยวเต็มใจจะจ่ายสำหรับโรงแรมทั่วไป เรียกสั้นๆ ว่า ฮาลาลพรีเมียม

 

โรงแรมฮาลาล: โอกาสใหม่สำหรับอุตสาหกรรมการโรงแรมของประเทศไทย

 

ตัวแปรที่พิจารณาคือ การเลือกหรือไม่เลือกพักโรงแรมหนึ่งๆ และตัวแปรอิสระคือคุณลักษณะของโรงแรมได้แก่ ระดับความเป็นฮาลาล ที่ตั้งโรงแรม สิ่งอำนวยความสะดวก และราคาห้องพัก ทั้งนี้งานวิจัยได้ควบคุมปัจจัยอื่นๆ คือ ลักษณะเฉพาะของแต่ละบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ ศาสนา สัญชาติ รายได้ การศึกษา และรูปแบบการท่องเที่ยว ได้ผลประมาณการตามคาดหมาย กล่าวคือ โอกาสในการเลือกโรงแรมฮาลาลทั้งฮาลาลเต็มรูปแบบและฮาลาลเฟรนด์ลี่ คือโรงแรมที่มีความเป็นมิตรกับมุสลิมของกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิม จะสูงกว่ากลุ่มนักท่องเที่ยวอื่นๆ มาก

อาทิ ในกรุงเทพฯ โอกาสที่โรงแรมฮาลาลเต็มรูปแบบจะถูกเลือกมีค่าถึง 6.04 เท่าของโอกาสที่โรงแรมทั่วไปจะถูกเลือก แต่สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ไม่ใช่มุสลิม โอกาสในการเลือกโรงแรมฮาลาลเต็มรูปแบบมีค่าน้อยกว่า 1 คือเท่ากับ 0.71 หมายความว่า เมื่อโรงแรมเป็นโรงแรมฮาลาลเต็มรูปแบบจะทำให้โอกาสที่จะถูกเลือกน้อยกว่าโรงแรมทั่วไปหากกลุ่มนักท่องเที่ยวไม่ได้เป็นมุสลิม

โดยกลุ่มตัวอย่างที่ไม่ใช่มุสลิมจะให้ ความสำคัญกับสถานที่ตั้งของโรงแรม และสิ่งอำนวยความสะดวก สูงกว่ากลุ่มตัวอย่างที่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวมุสลิมค่อนข้างมาก

นอกจากนี้ พบว่าความเต็มใจที่นักท่องเที่ยวมุสลิมในกรุงเทพฯ เต็มใจจะจ่ายให้กับทำเลที่ตั้งและสะดวกสบายของที่พักอยู่ที่ 770 บาท และ 651 บาท ตามลำดับ ในขณะที่ความเต็มใจที่จะจ่ายให้กับความเป็นโรงแรมฮาลาลเฟรนด์ลี่เท่ากับ 1,892 บาท ซึ่งสูงกว่าทำเลที่ตั้งหรือความสะดวกสบายของที่พักถึงเกือบ 3 เท่า และความเต็มใจที่จะจ่ายขยับเพิ่มขึ้นไปอีกเป็น 3,204 บาท หากโรงแรมนั้นเป็นโรงแรมฮาลาลเต็มรูปแบบ

 

งานวิจัยยังได้ใช้แบบจำลอง Porter’s five force มาวิเคราะห์ความสามารถในการทำกำไรของอุตสาหกรรมโรงแรมฮาลาลและพบว่าอุตสาหกรรมโรงแรมฮาลาล มีความสามารถในการทำกำไรในระดับสูง เนื่องจากการเป็น Niche Market หรือตลาด Blue Ocean ของอุตสาหกรรมโรงแรมฮาลาลที่ยังมีจำนวนคู่แข่งขันไม่สูง ทำให้เราเห็นโอกาสในการทำกำไรของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมโรงแรมฮาลาล และเพิ่มรายได้ด้านท่องเที่ยวของประเทศได้ โดยเฉพาะในช่วงเศรษฐกิจตกตํ่า การวางตำแหน่งการตลาดของโรงแรมที่เหมาะสมจะเป็นภูมิคุ้มกันของธุรกิจได้ กล่าวคือ หากโรงแรมมีความแตกต่างพอ กลยุทธ์การลดราคาเพื่อเพิ่มอุปสงค์ห้องพักก็จะมีความจำเป็นลดลง

จากการศึกษาในงานวิจัยนี้ ได้ข้อสรุปว่า นักท่องเที่ยวมุสลิมในประเทศไทย ทั้งจากมาเลเซีย อินโดนีเซีย ภูมิภาคตะวันออกกลาง หรือ คนไทยมุสลิมเอง มีความเต็มใจที่จะจ่ายสำหรับการเข้าพักโรงแรมฮาลาลเป็นบวก ทั้งโรงแรมฮาลาลเฟรนด์ลี่และโรงแรมฮาลาลเต็มรูปแบบ

สะท้อนว่า ในตลาดท่องเที่ยวของประเทศไทย ยังมีอุปสงค์แฝง (Hidden Demand) หรือ อุปสงค์เงียบ (Silent Demand) ต่อโรงแรมที่พักที่มีความถูกต้องตามหลักชะรีอะฮ์อยู่มาก การที่เราเห็นว่านักท่องเที่ยวชาวมุสลิมในปัจจุบันก็เข้าพักโรงแรมทั่วไปอย่างกว้างขวาง ไม่ได้หมายความว่า นักท่องเที่ยวกลุ่มนี้จะไม่เลือกพักในโรงแรมฮาลาล หากมีจำนวนโรงแรมฮาลาลในประเทศไทยเพิ่มขึ้น

การที่เราไม่เห็นตัวเลขการเข้าพักโรงแรมฮาลาลในประเทศไทยมากในปัจจุบันก็เพราะยังไม่มีอุปทานโรงแรมฮาลาลในประเทศไทยมากนั่นเอง ประเด็นที่สำคัญ คือ ประเทศไทยควรจะสร้างอุปทานของโรงแรมฮาลาลเพื่อรองรับอุปสงค์แฝงนี้หรือไม่ งานวิจัยคาดการณ์ว่า หากมีการเปิดโรงแรมฮาลาลในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น น่าจะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวมุสลิมที่แต่เดิมไม่สนใจประเทศไทยเพราะประเทศไทยขาด facility ของการท่องเที่ยวฮาลาลให้เข้ามาเที่ยวได้กลุ่มผู้ประกอบการจำเป็นต้องปรับลักษณะของโรงแรมให้มีความเป็นฮาลาล ที่สำคัญที่สุดคือการมีครัวฮาลาลที่ได้รับการรับรอง (Halal certified) การรีแบรนด์ หรือแบรนด์โรงแรมว่าเป็นโรงแรมฮาลาลเฟรนด์ลี่ เป็นต้น 

กล่าวโดยสรุป นโยบายเพื่อรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยวมุสลิม ไม่ใช่เรื่องไกลตัว และไกลเกินไปในอนาคต แต่เป็นนโยบายที่มีความเป็นปัจจุบันมาก ก่อนที่ประเทศไทยจะตกขบวนในการเป็นแหล่งท่องเที่ยวฮาลาลใหม่ สำหรับกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพมากอย่างนักท่องเที่ยวมุสลิม