มองเมียนมา มองไทย

02 มี.ค. 2564 | 09:08 น.

มองเมียนมา มองไทย : คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3658 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 4-6 มี.ค.2564 โดย...กาแฟขม

**** หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจฉบับ3658 ระหว่างวันที่ 4-6 มีนาคม 2564 ลึก ตรงประเด็น เห็นโอกาส ยืนหยัดรับใช้ผู้อ่าน ผู้ชม ทุกแพลตฟอร์ม

****สัญญาณที่น่ากังวลและต้องเร่งขจัดแก้ไข ดังออกมาจากปาก ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ทำรายงานหลักประกันรายได้ของผู้สูงอายุ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น พบปัญหาการออมเงินให้เพียงพอต่อการใช้ในวัยเกษียณ เป็นเป็นปัญหาระยะยาวของไทยที่ต้องมีการวางแผนแก้ไขอย่างเป็นระบบ ดังที่ทราบไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุตั้งแต่ปี 2548 และในปี 2576 สังคมไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอด แต่การออมเงินเพื่อรองรับการใช้จ่ายหลังจากเกษียณคนจำนวนมากมีเงินไม่เพียงพอใช้จ่ายหลังเกษียณ ประเมินว่าการดำรงชีวิตหลังเกษียณในเมืองต้องมีเงินเก็บ 4.3 ล้านบาท ในชนบทต้องมีเงินเก็บ 2.8 ล้านบาท แต่ขณะนี้ที่พอทำได้ 2.8 ล้านบาทนั้นมีแค่ 1.2 แสนครัวเรือนเท่านั้น นั่นหมายถึงคนไทยออมต่ำมาก ที่สำคัญการบำรุงจัดสรรจากรัฐในการดูแลสังคมสูงวัย จะยิ่งมีภาระสูงขึ้นเมื่อมีการออมต่ำ คิดๆ แก้ๆ วางแผนกันให้ดีๆ

**** เดือดขึ้นมาโดยพลัน เมื่อตำรวจปฏิบัติการสลายการชุมนุมกลุ่ม REDEM เมื่อ 28 ก.พ.2564 เมื่อความอดทนอดกลั้นเกินขีดสุดก็ทะลักทะลาย การสลายชุมนุมมีทั้งการใช้รถฉีดน้ำ แก๊สน้ำตา กระสุนยางบาดเจ็บกันไปตามๆกัน เจ้าหน้าที่ตำรวจล้มตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่ก็มี แต่คำถามมีอยู่ว่าปฏิบัติการนี้เกินกว่าเหตุหรือไม่ เป็นไปตามขั้นตอนหรือไม่

**** แน่นอนเมื่อมีการไล่ปราบ มีความรุนแรงย่อมส่งผลให้ภาพลักษณ์ของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีตกต่ำดำดิ่งลงไปอีกในทางการเมือง มีการมองภาพที่ละม้ายคล้ายเหมือนระหว่างไทยกับเมียนมา แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จะเป็นนายกฯ มาจากการเลือกตั้ง แต่แกะภาพรัฐบาลที่กองทัพหนุนหลังไม่ออก เมื่อมองจากภายนอกที่มองเข้ามา มองเมียนมา มองไทยอยู่ในระนาบเดียวกันไปแล้ว ที่เมียนมามีประชาชนเป็นแสนออกมาประท้ววงไล่เผด็จการทหาร มีการล้อมปราบ จับกุม คุมขัง ใช้ทั้งกระสุนยาง กระสุนจริงปราบปรามบาดเจ็บล้มตายไปหลายๆ คน นานาชาติประณามรัฐบาลทหารเมียนมา แม้กระทั่งทูตเมียนมาประจำสหประชาชาติก็ประท้วงชูสามนิ้วไม่เอาเผด็จการทหาร แต่ก็ถูกปลดไปเรียบร้อยโดยพลัน ไทยจะดำเนินการอย่างไรก็คิดกันให้รอบคอบ อดทนอดกลั้นกันให้มาก ความรุนแรงมีแต่ความสูญเสียและไม่ก่อให้เกิดผลดีกับใครทั้งสิ้น

**** ฝ่ายผู้ชุมนุมก็ต้องตระหนัก เมื่อจัดการชุมนุมและไม่มีแกนนำที่แสดงตนชัดเจน ขึ้นชื่อว่าม็อบ อารมณ์ย่อมนำไปสู่ความบ้าคลั่งโดยง่ายและไร้การควบคุม นั่นหมายถึงกำลังล้อเล่นกับชีวิต และก็ต้องประณามฝ่ายผู้ชุมนุมด้วยเช่นกัน กับการกระทำที่เกินขอบเขต ในการยั่วยุ โหมไฟ ไม่ใช่หลักการชุมนุมโดยสงบ สันติ อหิงสา แต่กระทำเสมือนว่าต้องการให้เกิดความรุนแรง เพื่อชี้นิ้วครอบไปยังผู้มีอำนาจให้เกิดผลสะเทือน เตือนกันไว้ตรงนี้เลิกคิดซะทีกับวีรชนบนหลุมศพ และให้ดูตัวอย่างการชุมนุมที่ละเมิดกฎหมาย ล้วนแล้วแต่มีปลายทางที่ขาดอิสรภาพ ตรองกันให้ดี ตั้งสติกันให้มั่น ดร.ป๋วย อึ้งภากรณ์ ผู้ทีมีคุณูปการยิ่งต่อสังคมไทยเคยเขียนให้ข้อคิดในบทความ คุณภาพแห่งชีวิต ปฏิทินแห่งความหวัง : จากครรภ์มารดาถึงเชิงตะกอน  “เมื่อจะตาย ก็ขออย่าให้ตายอย่างโง่ๆ อย่างบ้าๆ คือตายในสงครามที่คนอื่นก่อให้เกิดขึ้น ตายในสงครามกลางเมือง ตายเพราะอุบัติเหตุรถยนต์ ตายเพราะน้ำหรืออากาศเป็นพิษ หรือตายเพราะการเมืองเป็นพิษ”

**** เสียงเรียกร้องหนาหูและดังขึ้นๆ จากภาคเอกชน ในการปรับครม.รัฐบาล “ประยุทธ์2/3” ขอให้ปรับเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ แก้ปัญหาปากท้อง หาคนที่เหมาะสม มีความรู้ความสามารถในการทำงานเข้ามา โดยเฉพาะรัฐมนตรีที่เรียกว่าทีมเศรษฐกิจ ต้องหาคนที่เข้าใจเศรษฐกิจเข้ามา เพราะเหตุว่ากำลังเข้าสู่ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อว่าจะต้องทำอย่างไรต่อไป หลังโควิดเล่นงานซะพังพาบไปทั้งระนาบแล้ว บ้างก็ว่าไทยในเวทีโลกไร้ความหมายลงไปทุกทีๆ ต้องกอบกู้กันเร่งด่วนก่อนจะหายไปถาวร ว่าแต่ว่าจะแหกปากตะโกนร่ำร้องให้ปรับๆ ให้ดี มีประสิทธภาพอย่างไร นายกฯ จะกล้าก้าวข้ามข้อจำกัดทางการเมืองเพื่อบ้านเมืองหรือไม่ เมื่อที่เห็นๆ มีแต่แย่งชามข้าวกัน ไม่มีผู้เสียสละ ไม่มีผู้ประมาณตน มีแต่ผู้ไม่รู้ แต่กลับคิดว่าตัวเองรู้และกระสันเข้าสู่ตำแหน่ง ประเทศนี้วังเวงจริง ไม่ว่ารัฐบาลเลือกตั้ง หรือรัฐบาลเลือกตั้งแบบครึ่งๆ กลางๆ เข้ามาบริหารก็อีหรอบเดียวกันหมด