ส่อง SME ในแผนปฎิรูป (ฉบับแก้ไข)

23 ก.พ. 2564 | 08:20 น.

ที่จริงแล้ว แผนปฎิรูปประเทศมีการกำหนดเป็นราชกิจจานุเบกษา ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2561 ซึ่งมีทั้งหมด 11 ด้าน และมีการเพิ่มเป็น 13 ด้านในปี 2563 ก็พอเข้าใจได้ว่าการทำแผนออกมานั้น ทุกหน่วยงานจะพยายามผลักดันทุกเรื่องเข้าไปในแผนปฏิรูปเพื่อกันไม่ให้ตกขบวนรถไฟ เดี๋ยวของบประมาณยาก

ซึ่งต่อมาทางรัฐสภาได้เสนอให้รัฐบาลปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศใหม่ โดยคัดเลือกเฉพาะกิจกรรมที่จะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อประชาชนอย่างมีนัยสำคัญ หรือเรียกกันว่า Big Rock โดยถือหลักว่าเป็นประเด็นเร่งด่วน สำคัญ และมีการดำเนินงานแบบบูรณาการร่วมกันหลายหน่วยงาน และวัดผลได้อย่างเป็นรูปธรรมในปี 2564-2565

              ในต้นปี 2564 ทางคณะปฎิรูปประเทศด้านต่าง ๆ ก็นำเสนอแผนปฏิรูปประเทศใหม่แล้วเสร็จทั้ง 13 ด้าน และวันนี้ขออนุญาตคุยในเรื่องแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับ SME เพราะในแผนดังกล่าวจะมี Big Rock ใน 5 กิจกรรม คือ การสร้างเกษตรมูลค่าสูง การส่งเสริมและการพัฒนาท่องเที่ยวคุณภาพสูง การเพิ่มโอกาสของผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กในอุตสาหกรรมและบริการเป้าหมาย การเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนไทยในภูมิภาค และการพัฒนาศักยภาพคนเพื่อเป็นพลังในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งทั้ง 5 ด้านนั้นก็จะมีประเด็นย่อยแยกลงไปในแต่ละด้าน

            ในส่วนของการเพิ่มโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SME นั้น จะสังเกตว่าในแผนนี้จะเน้นความสำคัญไปที่อุตสาหกรรมและบริการเป้าหมายเป็นหลัก โดยแบ่งออกเป็น 5 ประเด็น คือ ออกมาตรการช่วยเหลือให้ SME สามารถเข้าถึงแหล่งทุน โดยเฉพาะ SME ที่ขาดสภาพคล่องในช่วงวิกฤติโควิด

            ส่งเสริมให้ SME ปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุคดิจิลทัล พัฒนาระบบนิเวศเพื่อรองรับ Startup เพิ่มสัดส่วนการซื้อสินค้าและบริการของภาครัฐจาก SME พัฒนาระบบนิเวศของ SME ให้มีผู้ประกอบการที่สามารถแข่งขันได้ในระยะยาว

หากใครมีโอกาสดูในรายละเอียดของแต่ละประเด็นของกิจกรรมด้าน SME แล้ว คงคิดเหมือนผมว่า เกือบทุกด้านได้มีการดำเนินงานมาแล้วทั้งนั้นหรือไม่ก็ทำอยู่ และที่สำคัญมีหลายหน่วยงานที่ทำ เคยนับได้ประมาณกว่า 27 หน่วยงาน ในวันนี้มีเรื่องที่ทำให้ SME และที่สำคัญต่างคนต่างทำ หน่วยงานที่เป็นแม่งานหลัก คือ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ก็ไม่ได้มีแผนหรือการกำกับ ติดตาม และดูแลเพื่อให้เกิดการสนับสนุนและสอดคล้องกันของทุกส่วนในการพัฒนา SME ได้อย่างมีประสิทธิภาพในภาพรวม

ซึ่งก็ตรงกับประเด็นที่ 5 เรื่องการพัฒนาระบบนิเวศที่สามารถสนับสนุนผู้ประกอบการได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ ข้อมูลรวมทั้งหมด การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการตลาด การบริหาร การผลิต และอื่น ๆ ของ SME ที่ยั่งยืน ครบถ้วน

ลองมองจากตัวของผู้ประกอบการ SME นะครับ สมมติในจังหวัดหนึ่ง หากผู้ประกอบการมีปัญหาธุรกิจอะไรสักอย่างหรือหลายอย่างประดังเข้ามา ผมว่า SME หลายราย เขาจะไม่รู้ว่าต้องหันหน้าไปหาใคร หรือแบกปัญหาไปปรึกษากับหน่วยงานใด ทั้ง ๆ ที่มีหลายหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับ SME เราต่างคนต่างทำ ทำไปตามทิศทางที่ได้จัดสรรงบประมาณมาจากส่วนกลาง

พอ SME เดินแบกปัญหามาหา คนของเราพร้อมที่จะตอบหรือช่วยเขาได้หรือไม่ หรือเราพร้อมที่บอกจะว่าโครงการไม่มี งบหมด หรือไม่ได้ทำเรื่องนี้ และชี้มือไปอีกหน่วยงานอื่น ๆ ถ้าเป็นอย่างนั้น เราไม่เข้าใจการเป็นนักพัฒนา และไม่ควรทำหน้าหน้าที่เป็นนักพัฒนา ซึ่งจะเป็นคุณประโยชน์กับประเทศมากกว่า

              มองจากมุมผู้ประกอบการแล้ว ผมว่าเขาคงอยากมีหน่วยงานหนึ่งที่พร้อมจะอยู่เคียงข้างเมื่อเขาประสบปัญหาหรืออยากหาคำปรึกษา หน่วยงานนี้อาจเปรียบเสมือน สถานีอนามัย ที่สามารถรักษาอาการเจ็บปวด ไข้หวัด ปฐมพยาบาล หรืออื่น ๆ ที่ไม่หนักสาหัสนัก แต่สามารถช่วยเขาในเบื้องต้นได้ ซึ่งในประเทศอื่น ๆ เขาก็มีหน่วยงานประเภทนี้ในพื้นที่ต่าง ๆ ซึ่งจะมีบุคลากรให้คำปรึกษาเบื้องต้นกับผู้ประกอบการธุรกิจที่เข้ามาขอรับการช่วยเหลือ อาทิ ด้านกฏหมาย บัญชีและการเงิน เทคนิค และการบริหาร เพื่อวินิจฉัยอาการและบรรเทาปัญหาเบื้องต้น

หากไม่ยากหรือหนักหน่วงก็จัดการให้ แต่ถ้าพบว่าหนักหน่วงเกินกำลัง เขาก็จะส่งต่อไปหน่วยงานเฉพาะด้านนั้น ๆ เช่น ด้านการตลาด ด้านพัฒนาการออกแบบ ด้านเทคโนโลยี ฯลฯ ในพื้นที่หรือนอกพื้นที่

 

 

ผมก็เชื่อว่าวันนี้ หากเราสร้างระบบนิเวศการช่วยเหลือ SME ที่มีการเชื่อมโยงบูรณาการของหน่วยงานในพื้นที่ เราก็น่าจะทำได้ ทุกวันนี้เราก็มีหน่วยงานในพื้นที่ด้านต่าง ๆ ครบพอสมควรทั้งรัฐและเอกชนที่พร้อมจะสานเป็นร่างแหของกระบวนการช่วยเหลือ SME ในพื้นที่ รูปแบบการร่วมมือกันเราก็เคยมี เรียกว่าลอกจากญี่ปุ่นมาเลย เรียกว่า RISMEP หรือ Regional Integration SME promotion ที่หลายหน่วยงานมาร่วมมือกันทำงาน

แต่อาจไม่ได้ผลเหมือนญี่ปุ่น ผมไม่รู้เพราะอะไร อาจเป็นเพราะที่นี่คนไทยเป็นคนทำ เราทำแบบไทย ๆ ก็เลยได้ผลแบบไทย ๆ มั้ง แต่ผมยังเชื่อว่าแบบวิธีนี้น่าจะเป็นสิ่งที่ดีต่อ SME มากที่สุด เพียงแต่ต้องปรับให้เข้ากับแบบไทย ๆ คือต้องมีเจ้าภาพและผู้รับผิดชอบร่วมทุกหน่วยในระดับประเทศ ผ่านโครงสร้างการพัฒนา SME ในระดับประเทศที่สั่งการลงมาในพื้นที่  

ผมนึกตัวอย่างง่าย ๆ ว่า ถ้า SME รายหนึ่งถูกวินิจฉัยเบื้องต้นโดยแม่งานในจังหวัดนั้น ๆ ว่ามีปัญหาทางการตลาด แต่ผลิตภัณฑ์ดี สามารถขายออนไลน์ได้ ดังนั้น เขาต้องถูกส่งไปเรียนรู้เรื่องการขายออนไลน์ ซึ่งมีอีกหน่วยงานหนึ่งในพื้นที่ดูแล และหากต้องการใช้งบประมาณด้วย เรื่องทั้งหมดก็จะถูกส่งต่อไปยัง SME D Bank สาขาในพื้นที่นั้นที่รับมอบมาตรการทางการเงินในภาพใหญ่ลงมา เรื่องทั้งหมดของผู้ประกอบการรายนี้จะถูกติดตามผลอย่างต่อเนื่องจากระบบเชื่อมโยงและติดตามอย่างมีประสิทธิภาพ โดยหน่วยงานที่เป็นแม่งานในจังหวัด ซึ่งผมยังเชื่อใจ สสว. ในจังหวัดนั้น ๆ

วันนี้ผมเชื่ออย่างสนิทใจว่า สสว. สามารถทำหน้าที่นี้ได้ดีในฐานะผู้กำกับนโยบาย และวางระบบนิเวศของการพัฒนา SME ให้ครบ โดยมีหน่วยงานอื่น ๆ เป็นหน่วยปฏิบัติ และในจังหวัดก็เป็นแม่งานในการกำหนดนโยบาย SME จังหวัดนั้น ๆ เพื่อให้เชื่อมกับนโยบายระดับประเทศที่สำนักงานใหญ่เป็นผู้ดูแล เพราะวันนี้ในแผนปฏิรูปประเทศด้านเศรษฐกิจก็กำหนดไว้ชัดเจนว่ามอบให้ สสว. บรูณาการในการทำงานของหน่วยงานทุกหน่วยที่เกี่ยวกับ SME และให้งานออกมาเป็นรูปธรรมในปี 2564 – 2565

หวังว่าคงเป็นมติใหม่ของการพัฒนา SME ในแบบวิถีใหม่ ที่เป็นที่ SME สามารถฝากความหวังไว้ได้งานนี้วัดฝีมือและวิสัยทัศน์ผู้บริหารองค์กรที่ดูแล SME ทุกหน่วย โดยเฉพาะ สสว. ว่าสามารถทำงานประเภทย้ายภูเขาได้หรือไม่