วัคซีนโควิดกับภารกิจกู้โลก?

17 ก.พ. 2564 | 03:50 น.

วัคซีนโควิดกับภารกิจกู้โลก? : คอลัมน์เศรษฐเสวนา จุฬาฯทัศนะ โดย... ดร.ศรุตา เบญจานุวัตรา คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,654 หน้า 5 วันที่ 18 - 20 กุมภาพันธ์ 2564

การระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 2 ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ได้สร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจและสังคมไทยอย่างเห็นได้ชัด จากวันนั้นจนถึงวันนี้ในระยะเวลาแค่สองเดือน เรามีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นถึงกว่าสองหมื่นราย โดยส่วนใหญ่เป็น การติดเชื้อภายในประเทศ เศรษฐกิจไทยที่ชะลอตัวอย่างหนักอยู่แล้วก่อนหน้านั้นก็ยิ่งโดนซํ้าเติม หลายธุรกิจที่ได้รับผล กระทบหนักในช่วงล็อกดาวน์รอบแรก และเพิ่งเริ่มจะฟื้นตัวได้บ้างก็กลับทรุดลงไปอีก 

ภาคการท่องเที่ยวที่เริ่มจะกลับมาคึกคักเพราะเข้าสู่ฤดูกาลท่องเที่ยวหน้าหนาวในปลายเดือนธันวาคม ก็กลับซบเซาลงไปอีก โรงแรมที่พักหลายแห่งโดนยกเลิกการจอง ร้านอาหารไม่ค่อยมีคนเข้าไปใช้บริการ การจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดลงอย่างเห็นได้ชัดถึงแม้จะมีโครงการคนละครึ่งมาช่วยแบ่งเบาบ้างแล้วก็ตาม ขนาดเทศกาลตรุษจีนที่เป็นเทศกาลสำคัญสำหรับคนไทยเชื้อสายจีนก็ยังเงียบเหงากว่าปีก่อนๆ อย่างชัดเจน 

ดูเหมือนว่าความหวังเดียวของประเทศไทยและทุกประเทศทั่วโลกตอนนี้ คือ วัคซีนโควิด-19 ถึงแม้ว่าตามปกติแล้วการผลิตวัคซีนที่มีประสิทธิภาพจะต้องใช้เวลาในการวิจัย พัฒนา ทดลองในสัตว์ และทดลองในคนเป็นระยะเวลาที่นานกว่านี้มาก อีกทั้งปัญหาของเชื้อไวรัสกลายพันธุ์ที่ยังไม่มีวัคซีนใหม่ออกมารองรับ แต่ในสถานการณ์ฉุกเฉินแบบนี้หลายประเทศก็ยอมเสี่ยงกับวัคซีนที่อาจมีประสิทธิภาพไม่เต็มร้อย และได้เริ่มฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้กับประชาชนในประเทศของตัวเองกันไปแล้วตั้งแต่กลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นประเทศสหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร สิงคโปร์ เยอรมนี เป็นต้น 

โดยวัคซีนที่แต่ละประเทศสั่งซื้อมาใช้ก็มีทั้งของบริษัท Pfizer-BioNTech บริษัท Moderna บริษัท AstraZeneca และ บริษัท Sinovac ซึ่งแผนการกระจายวัคซีนของหลายประเทศก็มีความคล้าย คลึงกัน โดยเริ่มจากการฉีดวัคซีนให้กับบุคลากรทางการแพทย์และประชาชนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงก่อน  

สำหรับประเทศไทย คาดว่าเราจะได้รับวัคซีนจากบริษัท Sinovac จำนวน 2 แสนโดสแรกในเดือนกุมภาพันธ์นี้ และอีก 1.8 ล้านโดสจะทยอยส่งมาในเดือนมีนาคมและเมษายน ส่วนวัคซีน AstraZeneca จำนวน 26 ล้านโดสที่ผลิตโดยบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ คาดว่าเราจะได้รับในเดือนมิถุนายนนี้ แต่กว่าเราจะฉีดวัคซีนให้กับประชาชนในประเทศได้ครบ หรืออย่างน้อยให้มากพอที่จะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่หรือที่เรียกว่า Herdimmunity อย่างเร็วก็คงเป็นช่วงปลายปี 2564 

ในระหว่างนี้ที่เรายังต้องรอวัคซีนเดินทางมาถึงและผ่านการตรวจสอบจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เราคงไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากปฏิบัติตัวในแบบที่เราได้ทำกันมาตลอด 1 ปีที่ผ่านมา คือเว้นระยะห่างทางสังคม ใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ และการ์ดอย่าตก 

การปฏิบัติตัวแบบนี้จะยังคงมีความสำคัญอย่างมากไปอีกนาน อย่างไรก็ตาม วิถีเหล่านี้ไม่เพียงพอที่จะเยียวยาและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่ามากจนเกินไป และตอนนี้เรายังไม่มีภาคส่วนอื่นมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจทดแทนได้ 

 

ดังนั้น ถึงแม้ว่าสถานการณ์โควิด ในประเทศไทยจะยังดีกว่าอีกหลายๆ ประเทศในแง่ของจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิต แต่ถ้าเรายังมีการติดเชื้อจากภายในประเทศอยู่ทุกวันแบบนี้ กิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในประเทศจะไม่สามารถดำเนินได้เท่าที่ควร ความหวังที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจจากภายในประเทศ ที่ตามปกติก็ไม่ได้เป็นตัวขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยอยู่แล้ว ก็คงเป็นแค่ความหวังต่อไป  

นอกจากนี้ การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างจริงจังเหมือนสมัยก่อนมีโควิด-19 ก็คงต้องเลื่อนออกไปอีก ทั้งๆ ที่ตอนนี้คนบางกลุ่มที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวต่างประเทศอย่างมาก อาจมีอาการที่เรียกว่า “ใกล้จะลงแดง” จากการที่ไม่ได้เดินทางท่องเที่ยวไปต่างประเทศมาเป็นปีแล้ว และคนกลุ่มนี้พร้อมที่จะพุ่งออกไปเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยนอกประเทศของตัวเองทันที ที่สถานการณ์เริ่มปลอดภัย และ ไม่จำเป็นต้องมีการกักตัว 

 

วัคซีนโควิดกับภารกิจกู้โลก?

 

ประเทศไทยซึ่งเคยเป็นประเทศท่องเที่ยวยอดนิยมติดอันดับโลกมาตลอด ก็จะเป็นจุดหมายปลายทางลำดับต้นๆ ที่นักท่องเที่ยวต่างชาติจะแห่กันมาเที่ยวอย่างแน่นอนถ้าเค้าคิดว่าประเทศไทยปลอดภัยเพียงพอ แต่ถ้าประเทศไทยยังไม่เริ่มฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศ และยังไม่สามารถควบคุมสถานการณ์การติดเชื้อภายในประเทศได้ นักท่องเที่ยวกลุ่มที่ใกล้จะลงแดงนี้คงเลือกไปเที่ยวประเทศอื่นที่ปลอดภัยกว่าและให้ความมั่นใจกับเค้าได้มากกว่า เป็นการเสียรายได้ก้อนใหญ่ที่ควรจะเข้าประเทศ ไทยไปอย่างน่าเสียดาย 

และในทางกลับกัน ถ้าประชาชนในประเทศไทยยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างทั่วถึง เราเองก็คงยังไม่สะดวกใจที่จะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเท่าใดนักหรอก เพราะไม่แน่ใจว่านักท่องเที่ยวที่เข้ามาจะปลอดภัยจากโควิด-19 ร้อยเปอร์เซ็นต์จริงหรือไม่ และ วัคซีนโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวฉีดมามีประสิทธิภาพในการป้องกันเต็มร้อยหรือเปล่า ถ้าต่างฝ่ายต่างระแวงซึ่งกันและกันแบบนี้แล้วจะท่องเที่ยวใช้จ่ายเงินให้สนุกได้อย่างไร   

 

การจัดหาและการกระจายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพให้กับประชาชนในประเทศอย่างเพียงพอโดยเร็วที่สุด จะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจค่อยๆ เริ่มกลับ มาดำเนินตามปกติได้มากขึ้น ความเชื่อมั่นจากผู้บริโภคและนักลงทุนจะค่อยๆ กลับมา รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศก็เริ่มจะดูมีความหวังมากขึ้น และถ้าภาคการท่องเที่ยวกลับมาคึกคักได้ใกล้เคียงกับระดับก่อนมีโควิด-19 ได้เมื่อไหร่ เศรษฐกิจไทยก็จะกลับมาแข็งแกร่งในแบบ “แข็งนอกอ่อนใน” ได้เหมือนเดิม  

อย่างไรก็ตาม อย่าฝากความหวังที่วัคซีนจนเกินไป เพราะวัคซีนโควิด-19 ไม่ได้มีพลังเหนือธรรมชาติที่จะมากู้โลกของเราได้อย่างรวดเร็วเหมือนเหล่า ซุปเปอร์ฮีโร่ในหนังฮอลลีวู้ด กว่าเราจะฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศได้มากเพียงพอ กว่าประเทศอื่นๆ จะฉีดวัคซีนให้ประชาชนในประเทศของตัวเองได้มากเพียงพอ กว่าทุกประเทศจะรักษาผู้ที่ติดเชื้อให้หายขาดได้ (เกือบจะ) ทั้งหมด กว่าฝ่ายสาธารณสุขจะรับมือและควบคุมเชื้อโรคที่กลายพันธุ์ได้ ต้องใช้เวลาอีกนานกว่าโลกป่วยๆ ใบนี้จะกลับมาสุขภาพดีเพียงพอที่จะดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้คึกคักเหมือนเดิม 

นอกจากนี้ยังมีความเป็นไปได้สูงที่วัคซีนโควิด-19 อาจยังไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคได้มาก อย่างที่เราอยากให้เป็นในเร็ววันนี้ และสถานการณ์การติดเชื้ออาจยืดเยื้อออกไปได้อีกเป็นปีๆ ความไม่แน่นอนอีกมากทั้งทางด้านสาธารณสุขและด้านเศรษฐกิจยังรออยู่ข้างหน้า 

ดังนั้น รัฐบาลและประชาชนควรเร่งเตรียมแผนสำรองไว้ด้วย เพื่อรองรับในกรณีที่สถานการณ์ไม่เป็นอย่างที่เราหวัง โดยเฉพาะการหาภาคส่วนใหม่มาเป็นพระเอกนางเอกดาวรุ่งช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างจริงจังเสียที