จับตา สถานการณ์ในเมียนมา

08 ก.พ. 2564 | 01:00 น.

จับตา สถานการณ์ในเมียนมา : คอลัมน์ เมียงมอง เมียนมา โดยกริช อึ้งวิฑูรสถิตย์

 

ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังจากเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ในประเทศเมียนมา ผมได้รับเชิญไปสัมภาษณ์และออกอากาศหลากหลายรายการในทุกๆสื่อ เรียกว่าไม่ขาดสายเลยครับ สิ่งหนึ่งที่จะนำมาเล่าตลอด คือความเป็นประชาธิปไตยของแต่ละประเทศนั้นแตกต่างกันมาก และการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เกิดขึ้นเหนือความคาดหมายจริงๆ สถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมากๆ จนกระทั่งทำให้เราเอง หากละสายตาจากข่าวภายในเมียนมา แค่ไม่กี่ชั่วโมง ข่าวที่เคยวิเคราะห์ไว้ อาจจะไม่ทันเหตุการณ์แล้วก็ได้ครับ

ในช่วงที่ผ่านมาไม่กี่วันนี้ แรกๆก็คิดในใจว่า ประชาชนชาวเมียนมา ที่เคยได้บทเรียนจากการประท้วงและถูกกองกำลังรักษาความสงบในประเทศ ใช้กำลังเข้าปราบปราม คงจะไม่กล้าที่จะเดินออกมาบนท้องถนน ที่ไหนได้ บ่ายของวันเสาร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ กลับมีคนออกมาเดินขบวน เรียกร้องประชาธิปไตยกันหนาตาทีเดียว เริ่มจากเขตเลดัน เมืองย่างกุ้ง  ต่อมาในเมืองมัณฑะเลย์ เมืองพะโค เมืองตองจี เมืองหลวงของรัฐฉานตอนใต้ และในวันอาทิตย์ก็ลามไปยังเมืองอื่นๆอีกหลายเมือง เช่นที่เมืองเมียวดี ฝั่งตตรงข้ามแม่สอด และเมืองอื่นๆอีกหลายเมือง ได้มีผู้เรียงร้องประชาธิปไตยออกมาเดินขบวนตามท้องถนน เท่าที่ดูด้วยสายตา แต่ละเมืองน่าจะมีมากเกินหลายพันคนเลยที่เดียว

ในขณะที่ในเมืองย่างกุ้งเอง ตอนสองทุ่มตรงก็ยังมีการแสดงออกด้วยอารยะขัดขืน ด้วยการเคาะตีหม้อกระทะดังสนั่นไปทั่วเมืองติดต่อกันมาสามสี่วันแล้ว และในวันอาทิตย์เริ่มขยายเวลาตีหม้อตีกระทะ เป็นตอนเช้า เที่ยง และบ่าย ค่ำ สี่เวลาเป็นระยะๆ ในภาคส่วนอื่นๆเช่น บุคลากรทางการแพทย์และแรงงาน เริ่มจะมีปฎิกริยาออกมาอย่างต่อเนื่องและ ผมคาดว่าอาจจะลามไปทั่วทุกหน่วยงานก็เป็นได้ เหตุการณ์เช่นนี้ ถ้าในมุมมองของผม ที่เคยอยู่ในเหตุการณ์ตอนที่ทหารออกมาปราบปรามสลายการชุมนุมในช่วงที่มีการประท้วงเรื่องที่รัฐบาลสั่งให้ลอยตัวค่าน้ำมันในช่วงต้นๆของปีค.ศ. 2000  จึงพอจะเห็นภาพความเด็ดขาดของทหารเมียนมาได้เป็นอย่างดี และน่ากังวลใจเป็นอย่างยิ่งครับ

แน่นอนว่ายุคสมัยนี้ได้เปลี่ยนไปเยอะมากแล้ว อีกทั้งการข่าวที่ออกมาทางสื่อต่างๆ แม้ว่ารัฐบาลใหม่ของเมียนมา จะได้ทำการตัดการสื่อสารในรูปแบบต่างๆออกไป โดยในวันเสาร์ที่ 6 ไม่สามารถติดต่อสื่อสารกับภายในย่างกุ้งได้เลย จนกระทั้งบ่ายโมงของวันอาทิตย์ที่ 7 จึงสามารถติดต่อได้อีกครั้ง นั่นเป็นเพราะเพื่อไม่ให้ฝ่ายที่จะทำการประท้วงปลุกระดมผู้คนออกมาเดินขบวนได้ แต่อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ออกมาทาง Facebook ของผู้คนที่อยู่นอกประเทศเมียนมา ก็ยังสามารถหาเสพได้ไม่ลำบากยากเย็นนัก ส่วนการประท้วงที่กำลังดำเนินต่อไปนั้น เท่าที่ดูด้วยสายตา ผมเห็นแต่คนหนุ่มคนสาวที่ออกมาเดินบนท้องถนน ส่วนคนที่มีอายุเกิน 50 ปีไปแล้ว จะเห็นน้อยมาก นี่เป็นสิ่งที่อยากจะนำมาเล่าให้ฟังครับ
   

การปฎิวัติรัฐประหารในเมียนมาเคยเกิดขึ้นมาแล้วสองครั้ง ครั้งนี้เป็นครั้งที่สาม ในครั้งแรก เกิดขึ้นในยุคปีค.ศ.1962 ในยุคนั้น ผู้คนยังไม่ได้เสพประชาธิปไตยเหมือนยุคหลังๆ จึงไม่ได้มีการเดินขบวนประท้วงกันบนท้องถนนมากนัก แต่พอครั้งที่สอง เกิดขึ้นในปีค.ศ.1988 ก็ได้มีการเดินขบวนกันเกิดขึ้นที่ถนนมหาบันดูล่า ถนนสุเหร่ ถนนโบโช๊ะอองซาน ถนนอะนอระธา เป็นต้น ซึ่งในยุคนั้นนักศึกษาปัญญาชนทั้งหลาย เริ่มที่จะลิ้มรสของประชาธิปไตยแล้ว จึงได้ออกมาเดินขบวนประท้วงรัฐบาล ที่ไม่ยอมรับผลของชัยชนะการเลือกตั้งของ ดอร์ ออง ซาน ซูจี ผลที่ตามมาก็เกิดการสลายการชุมนุม ด้วยการใช้กำลังเข้าปราบปราม มีการสังหารผู้ที่เดินขบวนบนท้องถนนอย่างน่าสยองขวัญ นักศึกษาได้หลบหนีออกนอกประเทศ เข้ามาที่ประเทศเพื่อนบ้านเช่นที่ประเทศไทยเรา ตามชายแดนเรายังมีร่องรอยของค่ายอพยพของนักศึกษาเมียนมาหลงเหลืออยู่บ้าง เพื่อที่จะเดินทางไปหลี้ภัยทางการเมืองในประเทศที่สามต่อไป  และมีบางส่วนที่ได้เดินทางไปประเทศที่สามแล้ว พอช่วงของประชาธิปไตยเกิดขึ้นใหม่ในเมียนมา เขาเหล่านั้นก็เดินทางกลับบ้านเกิดเมืองนอน ปัจจุบันนี้ ก็มีนักการเมืองหลายท่านที่เข้ามาเล่นการเมืองอยู่ในพรรค NLD และพรรคอื่นๆเต็มสภาฯไปหมด ถ้าได้ไปสอบถามประชาชนคนเมียนมาที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เขาจะเล่าให้ฟังถึงเหตุการณ์ครั้งนั้นได้ยังกับฟังนวนิยายเลยละครับ

อีกครั้งหนึ่งที่เกิดเหตุการณ์เดินขบวนบนท้องถนน ที่ผมเล่าในตอนต้นว่า ผมก็อยู่ในเหตุการณ์ครั้งนั้นด้วย คือเมื่อตอนปีค.ศ. 2006 หรือ 2007 ผมจำไม่ได้แล้วจริงๆครับว่าปีไหน สาเหตุที่เกิดการเดินขบวนคือ ในยุคก่อนหน้านั้นที่ประเทศเมียนมา รถยนต์ที่เป็นปัจจัยที่ 5 จะหามาครอบครองได้ยากมาก เพราะมีการห้ามนำเข้าโดยเสรี ต้องขอโควต้า รถหนึ่งคันมีค่ามหาศาล ผมซื้อรถตู้ไฮเอทมือสองเก่าๆคันหนึ่งมาใช้ ราคาแพงกว่ารถเบนซ์ในบ้านเราเสียอีก เพราะในยุคนั้นมีการห้ามนำเข้ารถยนต์ เพื่อไม่ให้เกิดการเสียดุลการค้า เพราะประเทศเมียนมาอยู่ในสภาวะถูกชาติตะวันตกคล่ำบาตรอยู่

ในขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินและดีเซล ตามราคาตลาดมืดแพงมาก ถ้าจำไม่ผิดลิตรละ 800-900 จ๊าด ในขณะที่มีรถยนต์สามารถใช้โควต้าที่รัฐบาลจัดสรรให้ แกลลอน(4ลิตร)ละ140 จ๊าด โดยรัฐบาลช่วยแบกภาระขาดทุนเพื่อช่วยให้ประชาชนสามารถดำรงค์ชีวิตอยู่ได้ แต่วันหนึ่งรัฐบาลจะจัดสรรให้ 4 แกลลอนต่อรถหนึ่งคัน ดังนั้นใครที่มีรถหนึ่งคัน พอไปเติมน้ำมันทุกวันกลับมา ก็มาสูบออกเก็บไว้ขายให้ตลาดมืดได้ รถหนึ่งคันสามารถเลี้ยงชีวิตคนทั้งบ้านได้อย่างสบายเลยครับ พอรัฐบาลประกาศเลิกอุ้มราคาน้ำมัน และปล่อยให้ราคาน้ำมันลอยตัว จึงมีผู้เสียผลประโยชน์ออกมาเดินขบวนประท้วง ทั้งพระสงฆ์องค์เจ้าและประชาชนทั่วไป ก็ไปจุดเทียนในเวลากลางวันที่ถนนสุเหร่ หน้าเจดีย์สุเหร่และหน้าอาคาร YCDC รัฐบาลจึงออกมาสลายการชุมนุมด้วยกำลัง มีผู้คนถูกสังหารไปไม่น้อย ในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีผู้สื่อข่าวจากญี่ปุ่นหนึ่งคน ถูกลูกหลงตายไปด้วย นับเป็นโศกนาฎกรรมอีกครั้งหนึ่งครับ

 

ดังนั้น พอผมเห็นข่าวมีผู้คน(ส่วนใหญ่เป็นวัยหนุ่มวัยสาว) ออกมาเดินขบวน ผมก็ได้แต่ภาวนาว่า ขออย่าให้ไปกระตุ้นต่อมความอดทนของผู้มีอำนาจแตกเลยครับ เพราะผมไม่อยากเห็นภาพอดีตออกมาฉายซ้ำอีกครั้งครับ เพราะอย่าลืมว่าประเทศเมียนมาเขามีการปกครองในรูปแบบของเขา ทหารเองเมื่อออกมาปราบปรามหรือสลายการชุมนุม เขาไม่ได้คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพเหมือนนานาประเทศหรอกครับ อีกอย่างหนึ่งเด็กๆที่ออกมาเดินขบวน เขายังเกิดไม่ทันยุคที่ผมเล่ามา เขายังไม่รู้หรืออาจจะรู้แต่ไม่กลัวก็ได้ แต่การสูญเสียของประชาชนนั้น เป็นสิ่งที่น่าเศร้านะครับ จึงได้แต่วิงวอนพระผู้เป็นเจ้า ขออย่าให้เกิดเหตุการณ์บานปลายเลยครับ.....