แค่‘เราชนะ’คงไม่พอ กับความลำบากยุคโควิด

29 ม.ค. 2564 | 09:30 น.

แค่‘เราชนะ’คงไม่พอ กับความลำบากยุคโควิด : คอลัมน์อินไซด์สนามข่าว โดย จีรพงษ์ ประเสริฐพลกรัง หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,648 หน้า 10 วันที่ 28 - 30 มกราคม 2564

โครงการเราชนะ ชัดเจนแล้วว่าไม่สามารถกดออกมาเป็นเงินสด ใช้จ่ายได้ตามอำเภอใจ ใครที่คิดไว้ว่าจะนำเงินเยียวยาจากรัฐบาล มาใช้หนี้ใช้สิ้น นำมาจ่ายค่างวดนั่นนี่โน่น หรือใช้จ่ายด้านอื่นๆ นอกเหนือจากการนำไปสแกนใช้สิทธิ์ในร้านค้าที่ร่วมโครงการคนละครึ่งและเราชนะ เท่านั้น

 

แต่แน่นอนว่า ในการคิดมาตรการต่างๆ รัฐมีเครื่องมือสำคัญที่นำมาขยายผลต่อยอดได้อีกด้วย “การรับฟังความคิดเห็นของประชาชน”

 

ผมไปเจอมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 12 มกราคม 2564 ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ที่ครม.มีมติรับทราบ “ผลการ สํารวจความคิดเห็นของประชาชนต่อการปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิตวิถีใหม่ พ.ศ. 2563” 

 

แค่‘เราชนะ’คงไม่พอ กับความลำบากยุคโควิด

 

 

ที่มีการสอบถามประชาชนเพื่อศึกษาการปรับเปลี่ยนการใช้ ชีวิตวิถีใหม่ของประชาชนคนไทยในสถานการณ์ ที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 และผล กระทบด้านรายได้รวมถึงความเชื่อมั่น ของประชาชนต่อมาตรการการป้องกันและการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาด และความสุขในการดํารงชีวิตของประชาชน ซึ่งความตั้งใจของผลการสํารวจนี้ เพื่อนำมาเป็นข้อเสนอแนะ เชิงนโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

 

ในโพลล์นี้ ผมสนใจในประเด็นที่พบว่า ประชาชน 71.2% ระบุว่าได้รับผลกระทบด้านรายได้ และมี 28.4% ระบุว่าไม่ได้รับผลกระทบ สําหรับผู้ที่ได้รับผล กระทบทางด้านรายได้ฯ มีวิธีการแก้ปัญหา 3 อันดับแรก คือ 74.1% ประหยัดเพิ่มขึ้น/ลดรายจ่ายครัวเรือน 44.3% ปรับเปลี่ยนชีวิตยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง และ 23.7% รอความช่วยเหลือจากรัฐบาล 

 

 

เมื่อผลสำรวจถามถึงประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้ต้องการให้รัฐบาลช่วยเหลือด้านใดบ้าง ผลสำรวจระบุ 3 อันดับแรก คือ 67.4% ลดราคาสินค้าบริโภคอุปโภคในชีวิตประจําวัน 51.1% แก้ไขปัญหาค่าครองชีพสูง และ 33.2% การช่วยเหลือจากภาครัฐ (ร้อยละ ๓๓.๒) จากผลการวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อนําเสนอแนะเชิง นโยบายต่อรัฐบาลและหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

 

นอกจากนี้ในผลสำรวจยังมีข้อเสนออีกว่า 1. ควรมีมาตร การจูงใจประชาชนให้ใช้เทคโนโลยีเพื่อลดการสัมผัสเชื้อโควิด-19 โดยการปรับเปลี่ยนชีวิตมาใช้เทคโนโลยีทํากิจกรรมต่างๆ ในชีวิตให้มากขึ้นและยังเป็นการสนับ สนุนให้ประชาชนได้เข้าถึงเทคโนโลยี เช่น การชําระค่าบริการต่างๆ ซื้อ/ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ ด้วยการลดภาษีรายได้บุคคลธรรมดา หรือรับส่วนลดในการซื้อสินค้า หรือประกวดการใช้เทคโนโลยี เพื่อทํากิจกรรมประจําวัน รอบสัปดาห์ รอบเดือน และรอบปีโดยให้รางวัลจูงใจกับผู้ชนะเลิศ

 

 

และ 2. ควรมีมาตรการส่งเสริม/สนับสนุนการจ้างงานสร้างอาชีพ หรือให้ประชาชน มีอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ โดยให้ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียงในการดําเนินชีวิต ด้วยการสร้างความรู้ ความเข้าใจผ่านทางสื่อทุกช่องทาง และควรหาแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยตํ่าให้กับผู้สนใจที่จะทําอาชีพเสริม โดยยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง

 

นี่คือบางส่วนของผลโพลล์ จากรัฐบาลเอง ที่ผมดึงเฉพาะประเด็นเศรษฐกิจปากท้องมาเล่าต่อ ซึ่งเป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องเปิดใจฟังประชาชน