เรา(อาจไม่)ชนะ

22 ม.ค. 2564 | 05:39 น.

เรา(อาจไม่)ชนะ : คอลัมน์อยู่บนภู 3647 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3647 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 24-27 ม.ค.2564 โดย...กระบี่เดียวดาย

แม้รัฐบาลจะมีประสบการณ์การจ่ายเงินช่วยเหลือเยียวประชาชน ทั้งสถานการณ์ปกติและผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ทั้ง “เราไม่ทิ้งกัน-เราเที่ยวด้วยกัน-คนละครึ่ง” รวมทั้งการจ่ายเงินชดเชยในรูปแบบต่างๆ มาหลายปีดีดักและล่าสุด “เราชนะ”

 

แต่อาจต้องยอมรับระบบข้อมูลเทคโนโลยี หรือการเข้าถึงตัวตนของประชาชน ยังขาดความเสถียรและแม่นยำมากพอที่จะเยียวยาได้ตรงจุด ตรงเป้าหมายได้มากเพียงพอ

 

เมื่อประกาศเงื่อนไขผู้ที่ได้รับการเยียวยา “เราชนะ” ผ่านครม. เสียงความไม่พอใจ เสียงคัดค้านจึงดังขึ้นอย่างเกรียวกราว ทั้งจากเกษตรกรที่ไม่มั่นใจในเงื่อนไขว่าตนเองจะอยู่ในกลุ่มได้รับเยียวยาหรือไม่

 

ไม่มั่นใจการคิดคำนวนฐานเงินฝากเป็นมาอย่างไร เป็นเงินหมุนเวียนหรือเงินคงเหลือในบัญชี ไม่มั่นใจในเรื่องของเงินได้พึงประเมิน

 

ไม่มั่นใจว่าจะได้รับเยียวยาหรือไม่ เมื่อตัวเองไม่มีสมาร์ทโฟน ไม่มั่นใจเพราะลำพังตัวเองแค่รับจ้างกรีดยางอยู่ในสวน รับจ้างแบกกระสอบข้าวอยู่ในหัวไร่ปลายนา

 

ไม่มั่นใจเมื่อไม่ได้เงินสดเข้าบัญชี แล้วจะไปเบิกจากที่ไหน มาซื้อลูกชิ้นมาทอดขายได้อย่างไร

 

ผสมโรงเข้ากับคนใกล้ชิดรัฐบาลด้วยกัน อย่างพรรคร่วมรัฐบาลบางพรรค ที่ออกมาตีกินแถลงทิ่มตรงๆ ไปที่รัฐบาล ไปที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ว่าจะมีผู้หลุดออกไปจากการเยียวยา ให้นายกฯหาทางแก้ไขเป็นการเร่งด่วน

 ทั้งการประสานงานด้านข้อมูล การไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างหน่วยงานรัฐ ในเรื่องข้อมูลดูจะเป็นปัญหา

 

มีปัญหาเมื่อให้กระทรวงเกษตรฯ เป็นผู้รับผิดชอบขึ้นทะเบียน ส่งชื่อจ่ายเงินคราวก่อน มีบางกรณีที่เออเรอร์ คนที่ไม่มีชื่อเป็นเกษตรกรกลับได้รับเงินเยียวยา

 

กระทั่งข้อมูลทะเบียนเกษตรกรต่างๆ เพื่อรับเงินชดเชยในโครงการต่างๆ มีตัวเลขที่เกิดการตั้งคำถามในแง่ปริมาณผลผลิต จำนวนเงินชดเชย ผู้ที่ได้รับเงินชดเชยไม่สู้จะสอดคล้องต้องกัน

 

ในอดีตรัฐบาลก่อนนู้น เคยเกิดเหตุลักษณะคล้ายกัน ที่ตัวเลขผลผลิตข้าวโดยรวมสูงเกินขีดความสามารถผลิตปกติทะลุไปถึงเฉียด 40 ล้านตันในภาพรวม ซึ่งก็เป็นข้อสงสัยในระบบการลงทะเบียน การทำประชาคมที่รัดกุมเพียงพอหรือไม่มาแล้ว

 

ล้วนเป็นช่องว่าง จุดอ่อน “เราชนะ” ที่ไม่ปึงปังเปรี้ยงปร้างเหมือนคนละครึ่ง ที่อาจต้องพิจารณาโครงการหรือโมเดลที่สำเร็จโครงการหนึ่ง อาจใช้ไม่ได้กับอีกโครงการหนึ่ง

 

อย่างไรก็ดีทั้งกระทรวงการคลัง และ สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯมองเห็นปัญหา แต่ต้องยอมรับว่าการให้ข้อมูลข่าวสารของรัฐบาลค่อนข้างจำกัดและอธิบายไม่เป็น

 แน่นอนเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ ธรรมดาอยู่ดี ที่ย่อมถูกเขวี้ยงก้อนหินเข้าใส่

 

ทั้งที่เจตนา ที่ไม่ให้เงินสดเพราะเพื่อลดเสี่ยงการต้องเข้าแถวต่อคิวเบิกเงินสดหน้าธนาคาร

 

ทั้งที่เจตนา ไม่ต้องการให้นำเงินสดไปซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นต่อการครองชีพ ไม่ต้องการให้เงินไปลงขวดเหล้าหรือบุหรี่หรือลอตเตอรี่ หวยใต้ดิน

 

ทั้งที่เจตนาเพียงเพื่อให้ใช้เงินส่วนนี้หมุนเวียนกันอยู่ในระดับฐานราก ใช้กับในร้านค้าในหมู่บ้าน ชุมชน ตัดบัญชีกันในร้านค้าในท้องถิ่น หาได้ให้ไปใช้ในห้าง ในเมือง

 

ทั้งที่เจตนาให้นำเงินเยียวยาส่วนนี้ไปซื้ออาหาร ของจำเป็นอื่นและลดภาระการใช้เงินส่วนนี้เพื่อนำเงินไปใช้จ่ายอย่างอื่น เช่น ค่าเช่าบ้าน

 

ทั้งที่เจตนาให้นำเงินที่จำกัดที่รัฐจัดสรรให้ส่วนนี้ไปประคับประคองสถานการณ์ หาใช่การแจกเงินแบบหว่านให้ไปใช้กันแบบรัฐเป็นเจ้าสัวไม่

 

ทั้งที่เจตนาให้เงินไปที่กลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ข้อมูลชัดเจนพอสมควร

 

ส่วนเกษตรกรผู้ไม่ถือบัตร ผู้ตกหล่น ผู้ไม่มีสมาร์ทโฟน ให้เจ้าหน้าที่ของธนาคารรัฐที่กระจายอยู่แทบทุกอำเภออำนวยความสะดวกดำเนินการให้ผู้ตกหล่น

 

อาจจะต้องเพิ่มเติมชุดปฏิบัติการพิเศษ หน่วยเคลื่อนที่เร็ว อันมีทั้ง ธกส. กรุงไทย ประสานเข้ากับฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทยลงไปดำเนินการให้กับผู้ที่เข้าไม่ถึงช่องทางจริงๆ

 

เพื่อให้การบรรเทาทุกข์ทั่วถึง และต้องไม่ลืมว่า “เราชนะ” ยังไม่ครอบคลุมการช่วยเหลือบรรเทาทุกข์ในกลุ่มอื่นๆ

 

คงต้องผ่านปัญหาเฉพาะหน้าไปก่อน พร้อมกับการเริ่มคิด ต้องคิดวางแผนระยะถัดไปในการผลักดันให้เศรษฐกิจฟื้นตัว ซึ่งต้องยอมรับว่าขณะนี้ยังไม่เห็นแผนหรือแนวทางใดออกมาจากรัฐเลย

 

การเยียวยาเฉพาะหน้าอาจจะผ่านพ้นได้แบบทุลักทุเล

 

แต่เราอาจไม่ชนะ ถ้าวันนี้ยังไม่เตรียมการ ยังไม่ลงมือ !!