คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (6)

17 ม.ค. 2564 | 03:00 น.

คำวินิจฉัยซื้อเทสโก้3แสนล. ทำไม กขค.ไฟเขียวกลุ่มซีพี (6) : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3645 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 17-20 ม.ค.2564 โดย...บากบั่น บุญเลิศ

มาติดตามมติของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) ที่อนุญาตให้ทางกลุ่มบริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ทางทางกลุ่มซีพี ออลล์ถือหุ้น 40%, เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้งถือหุ้น 40% และ ซี.พี. เมอร์แชนไดซิ่ง ซึ่งเป็นบริษัทลูกของเจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ถือหุ้น 20% ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด รายได้ปีละ 187,958 ล้านบาท และ Tesco Store (Malaysia) Sdn. Bhd. ด้วยวงเงินถึง 10,576 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือตกประมาณ 338,445 ล้านบาท

 ผลที่ตามมาคือ ทำให้ค่ายซีพี ของ เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์ มีธุรกิจค้าปลีก-ค้าส่ง ในเครือข่ายมากที่สุดในประเทศ จากเดิมที่มีร้านสะดวกซื้อเซเว่น-อีเลฟเว่น 12,089 สาขา แม็คโคร 136 สาขา ซีพีเฟรชมาร์ท 400 สาขา ซูเปอร์มาร์เก็ต ซีพี เฟรช 1 สาขา ล่าสุดการได้เทสโก้ โลตัส มาเพิ่มอีก 2,046 สาขา จะทำให้ค่าย ซี.พี.มีจำนวนสาขาร้านค้าปลีกทั้งสิ้น 14,312 แห่งทั่วประเทศ

 หลายคนเห็นว่าผูกขาด แต่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้า บอกว่า ไม่ผูกขาด แม้มีอำนาจเหนือตลาดกันเป็นตอนที่ 6 ในเรื่องความคิดเห็นของคณะกรรมการเสียงข้างน้อย ในประเด็นที่เป็นหัวใจหลักคือ...

 2.ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจ

 2.1 ไม่มีความจำเป็นในทางธุรกิจหรือส่งเสริมการประกอบธุรกิจแต่อย่างใด ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจไม่ได้มีความจำเป็นเพื่อความอยู่รอดในทางธุรกิจแต่อย่างใด ในทางตรงกันข้าม ยังมีสถานะเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และมีส่วนแบ่งตลาดที่สูงมากในตลาดค้าปลีกสมัยใหม่อีกด้วย นอกจากนี้ การขายกิจการเทสโก้ โลตัส ของ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ยังมีผู้ประกอบธุรกิจอื่นสนใจ เสนอซื้อแข่งด้วยอีกหลายราย รวมทั้งไม่ได้เป็นการส่งเสริมการประกอบธุรกิจโดยรวมของประเทศที่มากพอ ที่จะอนุญาตให้มีการรวมธุรกิจเมื่อเปรียบเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการรวมธุรกิจดังกล่าว

 2.2 การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ เนื่องจากการรวมธุรกิจมีโอกาสทำให้เกิดการผูกขาดหรือครอบงำทางเศรษฐกิจขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะผู้ขออนุญาต มีสถานะเป็นผู้ผลิตสินค้าสำคัญหลายประเภททั้งในส่วนของสินค้าเกษตรและสินค้าเกษตรแปรรูป  สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในชีวิตประจำวันครบวงจรตั้งแต่ระดับต้นนํ้าถึงปลายนํ้า หากมีการอนุญาตให้รวมธุรกิจเกิดขึ้นจะทำให้ผู้ขออนุญาตมีกิจการค้าส่งค้าปลีกสมัยใหม่ ที่มีส่วนแบ่งตลาดอยู่ในระดับสูงทุกรูปแบบการค้า (ตั้งแต่ระดับค้าปลีกขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก)  ซึ่งเป็นการรวมธุรกิจในแนวนอน (Horizontal Merger) อันจะทำให้การแข่งขันในตลาดค้าปลีกดังกล่าวลดลง  เมื่อรวมกับกิจการค้าส่งที่ผู้ขออนุญาตมีอยู่แล้วจะส่งผลให้สามารถควบคุมช่องทางการจำหน่ายสินค้า ที่จะกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคได้หมด

 ด้วยปัจจัยเหล่านี้ จะทำให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจทางเศรษฐกิจสูงมาก ส่งผลให้สามารถครอบงำเศรษฐกิจการค้าของประเทศได้โดยง่าย ซึ่งมีส่วนทำให้ ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมขยายตัวมากยิ่งขึ้น

 2.3 ผลกระทบต่อคู่แข่ง ผู้ขออนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดและมีส่วนแบ่งตลาดในระดับสูงทุกรูปแบบของการค้าส่งและค้าปลีก จะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็น คู่แข่งทางธุรกิจที่มีอยู่หรือผู้ประกอบธุรกิจรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดจะยิ่งเข้าสู่ตลาดยากยิ่งขึ้น เพราะคู่แข่ง ที่จะสามารถแข่งขันได้ในตลาดจะต้องมีการใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจและการตลาดที่เน้นการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน ตลอดจนการลดราคาแข่งขัน เพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดได้แม้จะมีผลดีในระยะสั้น แต่หากผู้ประกอบธุรกิจรายใดไม่สามารถปรับตัวได้ก็อาจจะต้องออกจากตลาดไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คู่แข่งที่เป็นผู้ประกอบธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ในที่สุดอาจทำให้ทางเลือกของผู้บริโภคลดน้อยลง

 ทั้งนี้ จากผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตฯ มีข้อมูลปี 2562 บ่งชี้ว่าจังหวัดที่มีกิจการของร้านค้าปลีกขนาดเล็กในระดับจังหวัด ที่มีเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้ประกอบธุรกิจ ซึ่งมีอำนาจเหนือตลาดในทุกจังหวัด (มีส่วนแบ่งตลาดเกินกว่าร้อยละ 50 มีจำนวน 76 จังหวัด และเป็นผู้ประกอบธุรกิจสามรายแรก ที่มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันเกินกว่าร้อยละ 75 มีจำนวน 1 จังหวัด)

 โดยในจำนวนนี้ มี 74 จังหวัด ที่มีกิจการของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส อยู่ด้วยกัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

  2.3.1 จังหวัดที่มีร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้นำตลาดอันดับแรก และร้านเทสโก้  โลตัส เอ็กซ์เพรส เป็นคู่แข่งสำคัญอันดับที่สอง จำนวน 54 จังหวัด

 2.3.2 จังหวัดที่มีร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้นำตลาดอันดับแรก และร้านเทสโก้  โลตัส เอ็กซ์เพรส เป็นคู่แข่งสำคัญอันดับที่สาม จำนวน 14 จังหวัด นอกจากนี้มีจังหวัดที่ร้านเทสโก้ โลตัส  เอ็กซ์เพรส ไม่อยู่ในสามอันดับแรกอีกจำนวน 6 จังหวัด

 2.3.3 จังหวัดที่มีร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น เป็นผู้นำตลาดอันดับแรก แต่ไม่มีร้านเทสโก้ โลตัส  เอ็กซ์เพรส ในพื้นที่จังหวัดนั้น จำนวน 3 จังหวัด

 แม้การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะไม่ก่อให้เกิดการผูกขาดตลาดโดยสมบูรณ์ (มีผู้ประกอบธุรกิจเพียงรายเดียว) แต่หลังการรวมธุรกิจทำให้ส่วนแบ่งตลาดของร้านเซเว่น-อีเลฟเว่น และเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มีส่วนแบ่งตลาด รวมกันยิ่งสูงขึ้นถึงร้อยละ 83.05 ในขณะที่คู่แข่งขันในอันดับรองลงมา ได้แก่ แฟมิลี่มาร์ท/ ท็อปส์ เดลี่  มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 4.79 และร้านมินิบิ๊กซี มีส่วนแบ่งตลาดเพียงร้อยละ 3.24

 ซึ่งเห็นได้ชัดว่า โอกาสที่จะแข่งขันเพื่อให้เติบโตอยู่ในระดับเดียวกันนั้นเป็นไปได้ยากอย่างมากและอาจไม่สามารถแข่งขันได้อย่างเท่าเทียมกัน รวมถึงร้านค้าปลีกขนาดเล็กในพื้นที่ซึ่งส่วนใหญ่เป็นร้านค้าปลีกดั้งเดิม จนต้องออกจากตลาดไปในที่สุด

 2.4 ผลกระทบต่อผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) การรวมธุรกิจในครั้งนี้จะส่งผล กระทบอย่างมากต่อผู้ผลิตสินค้าและวัตถุดิบ เนื่องจากเป็นการรวมธุรกิจระหว่างผู้ประกอบธุรกิจร้านค้าปลีก สมัยใหม่รายใหญ่ซึ่งเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด โดยภายหลังการรวมธุรกิจส่งผลให้ผู้ขออนุญาตและ บริษัทในเครือเป็นผู้ประกอบธุรกิจร้านจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคครบทุกรูปแบบ ทั้งร้านค้าส่ง ร้านไฮเปอร์มาร์เก็ต ร้านซูเปอร์มาร์เก็ต และร้านค้าปลีกขนาดเล็ก อันเป็นผลให้ผู้ขออนุญาตมีอำนาจเหนือตลาดสูงขึ้นจากเดิม

 ส่งผลให้มีอำนาจต่อรองกับผู้ผลิตสินค้าหรือวัตถุดิบ (Supplier) มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะผู้ผลิต ที่เป็น SMEs ที่อาจไม่มีอำนาจต่อรองมาก จึงมีโอกาสสูงที่จะถูกเอารัดเอาเปรียบอย่างไม่เป็นธรรมในการกำหนด เงื่อนไขทางการค้า หรืออาจอยู่ในภาวะจำยอมที่จะต้องรับเงื่อนไขตามที่ผู้ขออนุญาตรวมธุรกิจเสนอ โดยไม่มีข้อต่อรองใด ๆ

 เนื่องจากหากไม่ยินยอมดำเนินการในลักษณะดังกล่าวก็ไม่สามารถที่จะวางสินค้า จำหน่ายหรืออาจถูกปิดกั้นช่องทางการจำหน่ายและต้องล้มเลิกกิจการไปในที่สุด หรืออยู่ในฐานะเป็นผู้รับจ้างผลิต เพียงอย่างเดียว 

 2.5 ผลกระทบต่อผู้บริโภคโดยรวม ผลของการรวมธุรกิจครั้งนี้ทำให้จำนวนคู่แข่งขัน ในตลาดลดน้อยลง โดยเฉพาะร้านค้าปลีกขนาดเล็ก ซึ่งจากข้อมูลผลการศึกษาของคณะอนุกรรมการ พิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจฯ มีจำนวน 36 จังหวัด คิดเป็นร้อยละ 47 ของประเทศ ที่ผู้ขออนุญาตมีส่วนแบ่งตลาดหลังรวมธุรกิจสูงมากกว่าร้อยละ 95 และในจำนวนนี้มี 5 จังหวัด ที่มีส่วนแบ่งตลาด เกือบร้อยละ 100 จะมีผลให้ผู้บริโภคในพื้นที่จังหวัดดังกล่าวมีทางเลือกในการซื้อสินค้าลดลง

 แม้ว่าในระยะสั้น อาจไม่มีผลต่อผู้บริโภคทั้งในด้านราคาหรือประเภทสินค้าที่มีให้เลือก แต่ในระยะยาวแล้วอาจมีผลต่อทางเลือกของผู้บริโภค ทั้งประเภทชนิดสินค้าและระดับราคา อาจมีการกำหนดตามความต้องการหรือนโยบายของ กลุ่มบริษัทที่เป็นของผู้ขออนุญาต

 นอกจากนี้ หากมีการลงทุนเพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ในตลาดค้าส่งค้าปลีก ซึ่งจะมีต้นทุนค่อนข้างสูง ผู้บริโภคอาจเป็นผู้ต้องรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ 

  อาศัยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กรรมการการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างน้อย จึงวินิจฉัยว่า เห็นควรไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ

 อย่างไรก็ตาม หากมีการอนุญาตให้รวมธุรกิจควรจะต้องมีการกำหนดเงื่อนไข ด้านโครงสร้างที่สามารถแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวของตลาดที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม (เนื่องจากในการลงมติ ของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้าได้กำหนดแนวทางการลงมติไว้ว่า หากมีการลงมติไม่อนุญาตสามารถ ให้ความเห็นต่อที่ประชุมได้ แต่ไม่สามารถพิจารณาการกำหนดมาตรการเยียวยาได้ กรรมการแข่งขันทางการค้าเสียงข้างน้อย จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพิจารณามาตรการเยียวยาดังกล่าว

 ทั้งนี้ ในต่างประเทศ หากมีการอนุญาตให้รวมธุรกิจแล้วส่วนใหญ่จะต้องมีมาตรการเยียวยาด้านโครงสร้างเพื่อแก้ไขปัญหาการกระจุกตัวสูง ของโครงสร้างตลาด เช่น การให้ขายกิจการบางส่วน หรือการให้ปรับรูปแบบกิจการเป็นรูปแบบอื่น เป็นต้น

 นี่คือความคิดเห็นของคณะกรรมการเสียงข้างน้อย ในประเด็นขัดต่อเจตนารมณ์ของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ. 2560 หรือไม่ ท่านคิดเห็นประการใด...