ฐานะการคลัง โจทย์ใหญ่รัฐบาลคุมโควิดระบาด

24 ธ.ค. 2563 | 23:00 น.

คงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถานการณ์ติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นในประเทศไทย จะกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยอย่างแน่นอน 

ล่าสุดเมื่อวันที่วันที่ 23 ธันวาคม 2563 ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ประเมินว่า เศรษฐกิจปีนี้หดตัวน้อยกว่าคาด แต่ไปข้างหน้ามีความไม่แน่นอนสูง โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะหดตัวที่ร้อยละ 6.6 ดีกว่าที่ประเมินไว้ในรายงานนโยบายการเงินฉบับเดือนกันยายน สะท้อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นมากหลังมาตรการควบคุมการระบาดของโรคโควิด-19 ผ่อนคลายลง รวมถึงเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวเร็วกว่าที่คาด และมาตรการกระตุ้นของภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ 

 

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัวที่ร้อยละ 3.2 ลดลงจากการประเมินครั้งก่อน หลักๆ มาจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมาอยู่ที่ 5.5 ล้านคน จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในต่างประเทศที่ยืดเยื้อและรุนแรงกว่าที่คาด ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เปิดรับได้จะจำกัดกว่าที่ประเมินไว้ อีกทั้งการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในไทยที่น่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปีหน้าเพิ่มเติม 

 

ขณะที่ปี 2565 คาดว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายร้อยละ 4.8 ตามการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จากผลการได้รับวัคซีนที่แพร่หลายขึ้นเป็นสำคัญ

 

ธปท.ชี้ว่าแนวโน้มของเศรษฐกิจในระยะถัดไปยังมีความไม่แน่นอนสูง ที่สำคัญได้แก่ สถานการณ์โรคโควิด-19 ในไทยที่อาจรุนแรงขึ้นและลุกลามกว่าที่คาด รวมถึงความไม่แน่นอนของประสิทธิภาพและการกระจายวัคซีนป้องกัน โควิด-19 ดังนั้น มาตรการภาครัฐจำเป็นต้องมีความต่อเนื่อง และต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงาน เพื่อประคับประคองให้เศรษฐกิจสามารถฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

 

หากย้อนกลับไปดูในช่วงการระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก จะพบว่ามาตรการด้านการคลังของรัฐบาลเป็นตัวช่วยสำคัญในการพยุงเศรษฐกิจไทยไม่ให้ทรุดหนัก โดยเฉพาะการนำเงินจาก “พ.ร.ก.เงินกู้ 1 ล้านล้านบาท” มาใช้ในลักษณะแจกเงินถึงมือประชาชนโดยตรง หรือ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากเจ้าไวรัสตัวจิ๋ว โควิด-19 ไม่ให้ดำดิ่งลงไปมาก

 

เมื่อดูข้อมูลจากคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้เงินกู้ตามพ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท จะพบว่า นับตั้งแต่เกิดการระบาดของโควิด- 19 ถึงวันที่ 2 ธันวาคม 2563 รัฐบาลใช้เงินกู้จากพ.ร.ก.ไปแล้ว 490,208.89 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 509,791.10 ล้านบาท 

 

อย่างไรก็ตาม จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกใหม่ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ทำให้มีคำถามตามมาว่า เงินกู้และงบประมาณที่รัฐบาลมีอยู่จะเพียงพอสำหรับการแก้ปัญหา เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ รวมไปถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 หรือไม่ 

เพราะกรอบวงเงินกู้ 1 ล้านล้านบาทที่มีวงเงินเหลืออยู่ 509,791.10 ล้านบาท นั้นจะพบว่ามีการกำหนดกรอบการใช้ออกเป็น 3 แผนงานหลัก ดังนี้

 

1. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุ ประสงค์ทางการแพทย์และสาธารณสุข เพื่อแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 กรอบวงเงิน  45,000 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 2,555.49 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน  42,444.50 ล้านบาท 

 

2. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุ ประสงค์เพื่อช่วยเหลือ เยียวยา ชดเชยให้กับภาคประชาชน เกษตรกร และผู้ประกอบการ กรอบวงเงิน 555,000 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว  365,657.72 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 134,342.28 ล้านบาท

 

3. แผนงานหรือโครงการที่มีวัตถุ ประสงค์เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 กรอบวงเงิน 400,000 ล้านบาท วงเงินที่อนุมัติแล้ว 120,053.383 ล้านบาท คงเหลือวงเงิน 279,946.617 ล้านบาท 

 

ฐานะการคลัง โจทย์ใหญ่รัฐบาลคุมโควิดระบาด

 

 

ตามข้อกำหนดของพ.ร.ก.เงินกู้ กำหนดกรอบวงเงินที่จะนำมาใช้แก้ปัญหาและเยียวยาไว้อย่างชัดเจนว่าจะต้องใช้เงินในก้อนที่ 1 และ 2 เท่านั้น ซึ่งขณะนี้มีวงเงินเหลือ 176,786.78 ล้านบาท หากสถานการณ์การระบาดระลอกใหม่ไม่รุนแรงและยืดเยื้อ เงินกู้ที่เหลืออยู่น่าจะเพียงพอสำหรับการแก้ปัญหา แต่ถ้าการแพร่ระบาดของโควิด-19 รุนแรงกว่าที่คาดเงินกู้ในส่วนนี้อาจไม่เพียงพอ 

 

แต่รัฐบาลก็ยังสามารถงบกลาง 2 รายการ เงิน 110,032.7 ล้านบาท มาใช้ในการแก้ปัญหาเพิ่มเติม ประกอบด้วย 1. งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ปี 2564 จำนวน 69,707.1 ล้านบาท และ 2. งบกลางรายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยา ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 วงเงิน 40,325.6 ล้านบาท

 

ถึงตรงนี้คงพอจะอุ่นใจกันบ้างว่างบประมาณและเงินกู้ที่ใช้สำหรับการแก้ไขปัญหา เยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด- 19 ระลอกใหม่น่าจะเพียงพอ

 

อย่างไรก็ตาม ยังมีเรื่องที่น่าเป็นห่วง นั่นคือ ฐานะการคลังของประเทศ ที่จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจที่ขยายน้อยกว่าที่คาดการณ์ ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่ที่รองนายกฯ “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” กับ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” ต้องเร่งหาทางแก้ไข 

 

 

สะท้อนตัวเลขจากรัฐบาลจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในเดือน ตุลาคม 2563 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2564 พบว่ารัฐบาลมีรายได้สุทธิหลังหักจัดสรรให้อปท. จำนวน 167,358 ล้านบาท หดตัวร้อยละ -30.6 ต่อปี 

 

โดยรายได้หลักๆ ของรัฐบาลหดตัวแทบทุกด้านไม่จะเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม หดตัวร้อยละ -10.4 ต่อปี ภาษีเงินได้นิติบุคคล หดตัวร้อยละ -25.6 ภาษีนํ้ามัน หดตัวร้อยละ -38.7 ต่อปี ภาษีรถยนต์ หดตัวร้อยละ -22.8 ต่อปี รวมไปถึงรายได้รัฐวิสาหกิจนำส่งหดตัวร้อยละ -70.9 ต่อปี จากการนำส่งรายได้ตํ่ากว่าเป้าของรัฐวิสาหกิจในกลุ่มพลังงาน 

 

การจัดเก็บรายได้ที่หดตัวอย่างมากเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 และการนำมาตรการทางภาษีมาใช้พยุงเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่าเมื่อเกิดการระบาดของโควิดระลอกใหม่ ย่อมส่งผลให้เศรษฐกิจที่คาดว่าจะค่อยๆ กลับมาฟื้นตัวในช่วงต้นปี 2564 ต้องลากยาวออกไปอีกอย่างน้อย 3-4 เดือน ซึ่งจะกระทบโดยตรงต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 2564 ตํ่ากว่าเป้าหมายที่วางไว้ ถึงเวลานั้นรัฐบาลอาจต้องดึงเงินคงคลังออกมาใช้หรือกู้เงินมาโปะงบประมาณเพิ่มเติม

 

คงพอจะเห็นภาพกันแล้วว่าสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทย อันเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัวของคนไม่กี่คนที่จากการลักลอบนำเข้าแรงงานต่างด้าวผิดกฏหมาย สร้างปัญหาให้กับประเทศอย่างมหาศาล โดยเฉพาะฐานะการคลัง ซึ่งจะโจทย์ใหญ่ของรัฐบาลในการควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 

 

 

คอลัมน์ถอดสูตรคุย โดย บรรทัดเหล็ก

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3,639 หน้า 10 วันที่ 27 - 30 ธันวาคม 2563