“ด้วงอิฐ” ภัยร้ายแรงของอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก : กรณีศึกษาจากออสเตรเลีย

11 ธ.ค. 2563 | 08:10 น.

ออสเตรเลีย ได้ออกมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของ "ด้วงอิฐ" ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นภัยร้ายแรงของอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก

คอลัมน์ : ชี้ช่องจากทีมทูต

โดยศูนย์ธุรกิจสัมพันธ์ กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงแคนเบอร์รา

- - - - - - - - - - - - - -

“ด้วงอิฐ” หรือ “Khapra beetle” เป็น ภัยร้ายแรงต่ออุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก เนื่องจากเป็นแมลงศัตรูพืชในโรงเก็บสินค้า สามารถแพร่ขยายพันธุ์ได้ง่าย ซึ่งหากติดมากับสินค้าแล้วจะเข้าทำลายสร้างความเสียหายให้กับผลผลิตในโรงเก็บสินค้า จึงเป็นสาเหตุที่หลายประเทศรวมถึงออสเตรเลียได้ออกมาตรการ กฎระเบียบ และข้อกำหนดในการนำเข้าสินค้าเกษตรอย่างเคร่งครัด

 

  ขนาดและรูปลักษณ์ของเจ้าด้วงอิฐ

“ด้วงอิฐ” ภัยร้ายแรงของอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก : กรณีศึกษาจากออสเตรเลีย

ด้วงอิฐ มีถิ่นกำเนิดในประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาล ภูฏาน และมัลดีฟ มีลำตัวขนาดเล็ก สีน้ำตาลหรือมีจุดดำกระจัดกระจายบนปีกอย่างไม่มีรูปร่างแน่นอน ตัวหนอนและตัวเต็มวัยของด้วงอิฐมีความทนทานต่ออากาศที่ร้อนหรือแห้งได้เป็นเวลานาน และสามารถดำรงชีวิตชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องกินอาหารเป็นเวลานานถึง 9 เดือน ทั้งนี้ อาหารที่ด้วงชนิดนี้โปรดปราน ได้แก่ ข้าวสาลี มอลต์ และข้าวบาร์เลย์ ส่งผลให้ด้วงอิฐเป็นแมลงที่อุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลกต่างหวาดกลัวและเฝ้าระวัง

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เวียดนามเนรมิต"เมืองใหม่" ปั้น Silicon Valley แห่งเอเชียในโฮจิมินห์

เกียวโต: เมืองแห่งบริษัท Venture (ตอนจบ)

ส่องเทรนด์เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular economy)ในสเปน

ส่องเทรนด์ออกกำลังกายจีน โอกาสใหม่ของธุรกิจไทย

 

ออสเตรเลีย เป็นหนึ่งในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรค่อนข้างสูง โดยในปี 2562 ออสเตรเลียนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารจากทั่วโลกมูลค่าสูงถึง 23,580 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 507,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 8.17 จากปี 2561 โดยออสเตรเลียนำเข้าสินค้าจากไทยเป็นอันดับที่ 4 มีมูลค่าถึง 1,276 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือประมาณ 27,527 ล้านบาท โดยในปี 2562 มีการนำเข้าสินค้าจากไทยเพิ่มขึ้น 59.92 ล้านดอลลาร์ออสเตรเลีย หรือร้อยละ 4.86 จากปี 2561 จึงเป็นสาเหตุหลักที่ออสเตรเลียต้องมีกฎระเบียบเกี่ยวกับการนำเข้าสินค้าอย่างเคร่งครัด

“ด้วงอิฐ” ภัยร้ายแรงของอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก : กรณีศึกษาจากออสเตรเลีย

เมื่อวันที่ 28 สิงหาคม 2563 กระทรวงเกษตร น้ำ และสิ่งแวดล้อมออสเตรเลีย (Department of Agriculture, Water and the Environment) ได้ประกาศ มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของด้วงอิฐจากการนําเข้าสินค้าเกษตร ระยะที่ 1-2 ซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีประเด็นสำคัญ ดังนี้

 

ระยะที่ 1 ห้ามนําเข้าสินค้าเกษตรจํานวน 18 ชนิด ได้แก่ (1) ข้าว (Rice) (2) ถั่วลูกไก่ (Chickpeas) (3) เมล็ดพืชในวงศ์แตง (Cucurbit seed) (4) เมล็ดยี่หร่า (Cumin seed) (5) เมล็ดคําฝอย (Safflower seed) (6) เมล็ดถั่วฝักเมล็ดไม่กลม (Bean seed) (7) ถั่วเหลือง (Soybean) (8) ถั่วเขียว (Mung beans) และถั่วพุม (Cowpeas) (9) ถั่วเลนทิล (Lentil) (10) ข้าวสาลี (Wheat) (11) เมล็ดผักชี (Coriander seed) (12) เมล็ดขึ้นฉ่าย (Celery seed) (13) ถั่วลิสง (Peanuts) (14) พริกแห้ง (Dried chillies/capsicum) (15) ถั่วปากอ้า (Faba bean) (16) ถั่วแระ (Pigeon Peas) (17) เมล็ดถั่วฝักเมล็ดกลม (Pea seed) และ (18) เมล็ดเฟนเนล (Fennel seed) มาในออสเตรเลีย ในลักษณะของส่วนตัวที่ไม่ใช่สัมภาระติดตัว (Unaccompanied Personal Effects) หรือสินค้าที่มีมูลค่าไม่เกิน 1,000 ดอลลาร์ออสเตรเลีย มีผลตั้งแต่วันที่ 3 กันยายน 2563

 

นอกจากนี้ ยังได้บังคับใช้กับการขนส่งทางอากาศและทางเรือที่มีมูลค่าน้อย (low value air and sea freight) อีกด้วย ทั้งนี้ หากมีการตรวจพบว่ามีการนําผลิตผลพืชที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 18 รายการข้างต้นเข้าสู่ประเทศออสเตรเลียจะต้องถูกส่งกลับประเทศต้นทางหรือทําลายทิ้ง

“ด้วงอิฐ” ภัยร้ายแรงของอุตสาหกรรมเกษตรทั่วโลก : กรณีศึกษาจากออสเตรเลีย

ระยะที่ 2 ห้ามไม่ให้ผู้โดยสารต่างประเทศจากทุกประเทศนําผลิตผลพืชที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 18 รายการติดมาในกระเป๋าสัมภาระเดินทาง (Accompanied baggage) หรือส่งผลิตผลพืชที่มีความเสี่ยงสูงทั้ง 18 รายการมายังประเทศออสเตรเลียทางไปรษณีย์ (Mail articles) หากถูกตรวจพบ ต้องถูกทําลายทิ้ง โดยจะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่กลางเดือนตุลาคม 2563 เป็นต้นไป

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการดังกล่าวจะไม่มีผลบังคับใช้กับ (1) สินค้าที่ผ่านการแปรรูปด้วยความร้อนซึ่งมีการผลิตและบรรจุภัณฑ์เพื่อการค้า เช่น การนําไปผ่านความร้อนอีกครั้งหนึ่ง ลวก ปิ้ง ทอด ต้ม และทําให้พอง (2) สินค้าที่ผ่านการฆ่าเชื้อหรือหมักด้วยข้าวมอลต์ (3) อาหารแช่แข็งและผลิตผลพืชแช่แข็งที่ผลิตเพื่อการค้า และ (4) ผักสดและน้ำมันที่ผลิตมาจากผักหรือเมล็ดพันธุ์

 

นอกเหนือจากมาตรการระยะที่ 1-2 แล้ว กระทรวงเกษตร น้ำ และสิ่งแวดล้อมออสเตรเลียยังได้กําหนดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาด ระยะที่ 3-5 เพื่อเป็นการเพิ่มข้อกําหนดด้านสุขอนามัยพืชสําหรับการนําเข้า                 เชิงพาณิชย์อีกด้วย และคาดว่าจะมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 2563 ที่จะถึงนี้

ปัจจุบัน หลายประเทศ อาทิ กัมพูชา อินเดีย ลาว เมียนมา เวียดนาม ติมอร์เลสเต และศรีลังกา พบการระบาดของด้วงอิฐ ในขณะที่ประเทศไทยยังไม่พบการระบาดดังกล่าว

 

อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ และควรปฏิบัติตามมาตรการฉุกเฉินสําหรับด้วงอิฐของออสเตรเลีย อย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ฝ่ายออสเตรเลีย  รวมถึงประเทศอื่น ๆ ที่จะนำเข้าสินค้าเกษตรไทยต่อไป

 

พบกับอัพเดทความเคลื่อนไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]