ถอดรหัส RCEP 8 ปีที่รอคอย ชัยชนะการค้าเสรีนิยม

16 พ.ย. 2563 | 01:20 น.

รายงานพิเศษ : ถอดรหัส RCEP 8 ปีที่รอคอย ชัยชนะการค้าเสรีนิยม

“ฐานเศรษฐกิจ” เกาะติด การประชุมสุดยอดความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ครั้งที่ 4 (Regional Comprehensive Economic Partnership: RCEP) ซึ่งเป็นหนึ่งในการประชุมนอกเหนือจากการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 37 ผ่านระบบประชุมทางไกล เมื่อวันที่ 15 พ.ย.2563 

 

ซึ่งผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจา 5 ประเทศ ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ซึ่งครั้งนี้ยังไม่มีอินเดียร่วมเจรจา ได้ลงนาม RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค ผ่านการประชุมทางไกล หลังการเจรจายาวนานถึง 8 ปี 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

สรุป “RCEP” คือ? ไทยได้ประโยชน์อย่างไรกับข้อตกลงการค้าเสรีใหญ่สุดของโลก

นายกฯจีน ประกาศชัยชนะ 15 ประเทศลงนาม “RCEP”

พาณิชย์ แนะภาคธุรกิจใช้ประโยชน์ “RCEP”

“จุรินทร์”ย้ำ ไทยได้ประโยชน์จาก RCEP

 

สำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุในการรายงานข่าวว่า “ข้อตกลง RCEP ทำให้ความตกลงดังกล่าวกลายเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยคิดเป็นประมาณ 30% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) โลก ทั้งนี้ การลงนาม RCEP ครั้งนี้แสดงถึงบทบาทนำของอาเซียนในการสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคี โครงสร้างการค้าใหม่ในภูมิภาค และการอำนวยความสะดวกด้านการค้าอย่างยั่งยืน

ในการประชุม นายเหวียน ซวน ฟุก นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานอาเซียน กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นการรับฟังรายงานผลความสำเร็จของการเจรจาและร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามความตกลง RCEP ร่วมกับผู้นำและผู้แทนของประเทศสมาชิก RCEP ทั้ง 15 ประเทศ และสมาชิก RCEP ได้แสดงเจตจำนงที่จะลงนามในความตกลง RCEP 

ถอดรหัส RCEP 8 ปีที่รอคอย ชัยชนะการค้าเสรีนิยม

“โดยยินดีที่ได้เห็นถึงความพยายามของประเทศสมาชิกในการเจรจาร่วมกันมาตลอดระยะเวลากว่า 8 ปี ซึ่งความตกลง RCEP ถือเป็นการส่งเสริมการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก และถือเป็นการส่งสัญญาณให้ทั่วโลกได้เห็นถึงความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจร่วมกัน” นายกรัฐมนตรีเวียดนาม กล่าว

 

ขณะที่ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน ระบุว่า การลงนามความตกลง RCEP คือความสำเร็จของประเทศสมาชิกอาเซียนและจีนในการส่งเสริมความร่วมมือด้านเศรษฐกิจร่วมกัน 

 

“การลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) ในการประชุมสุดยอด RCEP ครั้งที่ 4 เมื่อ 15 พ.ย.63 เป็นความสำเร็จของความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียน และเป็นชัยชนะของความร่วมมือระหว่างประเทศที่มีความหลากหลายทางเศรษฐกิจและการค้าแบบเสรีนิยมด้วย” 

ถอดรหัส RCEP 8 ปีที่รอคอย ชัยชนะการค้าเสรีนิยม

หลี่ เค่อเฉียง แสดงความมั่นใจว่าความตกลง RCEP ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกและมีความหลากหลายทางเศรษฐกิจจะส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาและสร้างความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาค รวมทั้งทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นตัวและขยายตัวเพิ่มขึ้นในอนาคต

ขณะที่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีของไทย ได้กล่าวถ้อยแถลงว่า มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่การประชุมครั้งนี้สามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้ และจะได้ร่วมเป็นสักขีพยานในการลงนาม RCEP ซึ่งถือเป็นความตกลงการค้าเสรีฉบับประวัติศาสตร์ โดยทราบดีว่าประเทศสมาชิกต้องเผชิญกับความท้าทายมากมาย เนื่องจากความแตกต่างของระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจ และความอ่อนไหวที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ และล่าสุดจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19


ถอดรหัส RCEP 8 ปีที่รอคอย ชัยชนะการค้าเสรีนิยม  

 

ความตกลง RCEP เป็นความตกลงการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีคุณภาพ มาตรฐานสูง และมีนัยสำคัญต่อการยกระดับความสามารถในการแข่งขันและผลประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ของทุกประเทศ พร้อมเชื่อว่า การรวมตัวกันของประเทศสมาชิกจะเสริมสร้างให้ภูมิภาค RCEP มีสภาวะแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการค้าการลงทุนจากทั่วโลก ทำให้ประเทศสมาชิกมีความสามารถและความยืดหยุ่นในการรับมือกับปัญหาความท้าทายทางเศรษฐกิจได้มากขึ้นในอนาคต รวมทั้งจะเป็นเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกไปสู่การค้าที่เสรีมากขึ้น ส่งผลให้ภูมิภาคและประชาชนของพวกเราได้รับประโยชน์อย่างเท่าเทียมและยั่งยืนต่อไป

 

ส่วน นาย Simon Birmingham รมว.กระทรวงพาณิชย์ออสเตรเลีย มีถ้อยแถลงว่า รัฐบาลออสเตรเลียคาดหวังว่าการร่วมลงนามความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership-RCEP) จะช่วยฟื้นฟูความสัมพันธ์กับจีน ทั้งนี้ ออสเตรเลียกับจีนซึ่งเป็นประเทศคู่ค้าที่ใหญ่ที่สุดของออสเตรเลียมีปัญหาความสัมพันธ์ หลังจากออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการสืบสวนต้นตอของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) จนสร้างความไม่พอใจให้กับจีน โดยจีนสั่งห้ามนำเข้าสินค้าออสเตรเลียหลายรายการเฉพาะอย่างยิ่งสินค้าเกษตรมูลค่าหลายพันล้านเหรียญสหรัฐ 

 

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลจีนยังคงสั่งห้ามนำเข้าสินค้าจากออสเตรเลียหลายรายการจากการเปิดเผยของ กต.จีน เมื่อต้น พ.ย.63