ผลประโยชน์ สลาก 2 แสนล้าน แก้กันอย่างไร “แพงเอาๆ”

10 ต.ค. 2563 | 05:01 น.

ผลประโยชน์ สลาก 2 แสนล้าน แก้กันอย่างไร “แพงเอาๆ” : คอลัมน์ทางออกนอกตำรา ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3617 หน้า 6 ระหว่างวันที่ 11-14 ต.ค.2563 โดย... บากบั่น บุญเลิศ

บรรดาคอหวย บรรดาผู้ค้าสลากจับตากันดีๆ นะครับ

 

สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล กำลังปรับโครงสร้างการกระจายสลากที่มียอดขายแสนล้าน รวมถึงการแก้ไขปัญหาสลากเกินราคากันอีกครั้งในเร็วๆ นี้ เพื่อแก้ไขปัญหาสลากเกินราคาที่แก้กันมาแล้ว 6-7 ปี แต่ไม่ดีขึ้น

 

ทางหนึ่งอาจจะมีการรื้อโควตาสลากใหม่...

 

อะล้าอะแหล่ม

 

ทางหนึ่งอาจจะมีการเปิดให้มีการขายผ่านทางออนไลน์..อะแฮ่ม หึหึ

 

ขณะที่กลุ่มผู้ค้าสลากรายย่อย มูลนิธิ สมาคมคนพิการได้รวมพลัง เสนอแนวคิดในการแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการขอให้พิมพ์ออกมาขายเพิ่มอีกงวดละ 4 ล้านฉบับ และขอให้จัดสรรสลากให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยที่จองซื้อกันอย่างน้อยคนละ 10 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ) ซึ่งจะทำให้ผู้ค้าสลากมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 19,200 บาทต่อเดือน จากปัจจุบันที่จัดสรรให้รายละ 5 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ) และมีต้นทุนในการขายสลากงวดละ 35,200 บาท ขายหมดจะได้กำไร 4,800 บาท ตกเดือนละ 9,600 บาท

 

ขอให้ยกเลิกการจัดสรรโควตาสลากแก่ตัวแทนจำหน่ายราว 33 ล้านฉบับ และขอให้จัดการกับกลุ่มผู้ที่ลงทะเบียนในระบบจองซื้อ แต่ไม่ได้นำสลากไปขายด้วยตนเอง เช่นข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ พนักงานบริษัทเอกชน เพื่อจะได้คุมราคาขายได้

 

ทว่าปัญหาเรื่องการขายสลากเกินราคา เอาเปรียบผู้บริโภค เป็นปัญหาใหญ่ที่อยู่คู่สำนักงานสลากฯมาจนถึงทุกวันนี้ ไม่ว่ารัฐบาลชุดไหนเข้ามาบริหารก็แก้ไขปัญหานี้ไม่ได้สักที

 

แม้กระทั่งรัฐบาล คสช. ที่ว่าแน่ ใช้อำนาจตามมาตรา 44 รื้อโควตาหวย ปรับการจัดจำหน่ายสลากผ่านการจองของธนาคารกรุงไทย การปรับเพิ่มปริมาณการพิมพ์สลากออกขายจากงวดละ 37 ล้านฉบับ จนเป็นงวดละ 100 ล้านฉบับ ก็ยังแก้ปัญหาการขายเกินราคาไม่ได้

 

ราคาสลากรวมชุดยังขายกันตามท้องตลาดใบละ 120-150 บาท จนแทบจะหาสลากใบละ 80 บาทไม่ได้

 

ผมพามาดูการแก้ปัญหาสลากแพงในระยะ 5-6 ปีที่ผ่านมา

 

ปี 2557 มีการพิมพ์สลากออกขายแค่ 37 ล้านใบ พอถึงปี 2558 มีการพิมพ์เพิ่มเป็น 50 ล้านใบ ราคาขายยังเกินร้อย

 

ปี 2559 คณะกรรมการสลากสั่งพิมพ์ออกมาขายเพิ่มเป็น 60-65 ล้านใบ คนยังแห่กันซื้อเกินราคาและมีการร้องกันระงม

 ปี 2560 สั่งพิมพ์ออกมาขายเพิ่มอีก 56-71 ล้านใบ ปี 2561 พิมพ์เพิ่มมาขายเป็น 89-90 ล้านใบ ก็ยังไม่พอความต้องการราคาก็ไล่ขึ้นไป 120 บาท/ฉบับ

 

ปี 2562 จึงทะลุเพดานสั่งพิมพ์พิมพ์เพิ่ม 90-100 ล้านใบ จนปี 2563 ก็แก้ปัญหาการขายเกินราคาไม่ได้ แม้มีการพิมพ์เพิ่มออกมาขายเต็มเพดาน 100 ล้านใบ  ราคายังเกิน 100 บาทแทบทุกฉบับ

 

เพราะอะไรนะหรือ เพราะบรรดา ยี่ปั๊ว ซาปั๊ว ผู้ค้าสลากรายใหญ่ ตั้งโต๊ะรับซื้อสลากจากผู้ค้ารายย่อยที่จองผ่านธนาคารกรุงไทย มารวมชุดขาย เลขไม่สวยแยกออกไปขายใบเดียว ใครอยากได้เลขสวย เลขดัง ต้องซื้อหวยชุดอย่างน้อย 2 ใบ ขายกันแพงหูฉี่ใบละ 100-120 บาท

 

ในขณะที่ผู้คนร้องระงมจากการขายสลากเกินราคา แต่รัฐบาลทำอะไรไม่ได้นั้น ในทางกลับกันนโยบายพิมพ์สลากเพิ่ม ทำให้รายได้จากยอดขายสลากกินแบ่งรัฐบาลเติบโตจนพุงกาง

 

ปี 2557 สำนักงานสลากมีรายได้ขายสลาก 48,320 ล้านบาท ปี 2558 รายได้เพิ่มเป็น 51,760 ล้านบาท ปี 2559 รายได้เพิ่มขึ้นเป็น 104,400 ล้านบาท ทะลุขึ้นมาจากปีก่อน 102%

 

ถึงปี 2560 สำนักงานสลากมีรายได้เพิ่มเป็น 128,720 ล้านบาท พอปี 2561 รายได้เพิ่มเป็น 155,040 ล้านบาท และล่าสุดในปี 2562 รายได้จากยอดขายเพิ่มเป็น 175,600 ล้านบาท..เรียกว่าเป็นองค์กรเดียวของรัฐบาลที่ทำรายได้เข้ารัฐอย่างเป็นกอบเป็นกำมากที่สุด จนรัฐบาลสมควรมอบถ้วยรางวัลให้กับหน่วยงานนี้

 

ขณะเดียวกันว่ากันว่าผู้ที่เกี่ยวพันกับการขายสลากกินแบ่งรัฐบาลทุกรายรวยเอารวยเอา...อันนี้ผมไม่ได้เจาะจงว่าใครนะครับ แต่รวยตามรายทางจริงๆ

 

ทุกวันที่ 1 และวันที่ 16 ของแต่ละเดือน จะเป็นห้วงเวลาของ ความหวัง-ความพลาดหวัง ของคนไทยผู้มีรสนิยมอันวิไลซ์ในการลุ้นรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาลกันอย่างระทึกในฤทัยกว่า 20-21 ล้านคน

 

ทุกๆ 15 วัน เงินในกระเป๋าของคนไทย 20-21 ล้านคน ที่ยอมควักไปซื้อหวยเกินราคาฉบับละ 100-120 บาท จากหน้าตั๋วฉบับละ 80 บาท ซึ่งสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลมีการจัดพิมพ์ออกจำหน่ายงวดละ 97-98-99-100 ล้านฉบับ จะไปตกอยู่ในมือของใครบ้าง....มาดูนี่

 

สลากกินแบ่งรัฐบาลแต่ละงวด จะมีการจัดพิมพ์ไม่เกิน 100 ล้านใบ จัดสรรออกไปให้กลุ่มผู้ขายตามเกณฑ์ดังนี้

 

1.จัดสรรขายผ่านระบบโควตาให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากเดิม 33 ล้านฉบับ แบ่งเป็นผู้ค้าสลากรายย่อยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 28,519 ราย จำนวน 156,248 เล่ม (1 เล่มมี 100 ฉบับ)

 

จัดสรรให้คนพิการ 3,592 ราย จำนวน 18,034 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ) และจัดสรรให้สมาคม องค์กร มูลนิธิ 899 ราย ซึ่งมีสมาชิก 25,858 ราย จำนวน 155,718 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ)

2. จัดสรรผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ของธนาคารกรุงไทยไม่เกิน 67 ล้านฉบับ แบ่งเป็นสลากซื้อ 10,000 ราย จำนวน 50,000 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ) และสลากจอง 124,000 ราย จำนวน 620,000 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ

 

สิริรวมแล้วในแต่ละงวด จะมีผู้รับสลากไปขายทั่วประเทศรวมกันทั้งสิ้น 191,969 ราย

 

ความจริงถ้ารัฐบาลดูแลดีๆ ไม่มีทางที่สลากจะขายเกินราคาได้เลย เพราะกำไรที่ได้จากการขายสลากในแต่ละฉบับนั้นสูงอยู่แล้ว...ไม่เชื่อไปดูนี่

 

โครงสร้างการจัดสรรเงินรายได้จากการขายสลากฯ ตามมาตรา 22 ที่รัฐบาลนี้ได้แก้ไขปรับปรุงได้ปรับลดลดสัดส่วนเงินนำส่งคลังลง 8% จากเดิม 28% ลดเหลือ 20% ของรายได้จากการขายสลากฯ

 

ในจำนวนนี้มีการกำหนดว่าต้องแบ่งไว้ 5% เพื่อนำไปเพิ่มเป็นส่วนลด หรือ กำไรให้กับผู้ค้าสลากฯ ฉบับละ 4 บาท เป็นการให้กำไรจากการขายเพิ่มเติมจากเดิมที่ตัวแทนจำหน่ายสลากฯ มารับสลากจากสำนักงานสลากฯ ในราคาฉบับละ 74.40 บาท เพื่อนำไปขายที่ราคาฉบับละ 80 บาท ได้กำไรฉบับละ 5.60 บาท ซึ่งถ้าขายออกไปในราคาหน้าตั๋วนั้นในทุก 15 วัน ผู้ขายจะมีกำไรจากการขายสลาก 100 ฉบับ ตกประมาณ  560 ล้านบาท

 

แต่ปัจจุบันสำนักงานสลากฯ ได้ขายให้กับผู้ค้าสลากรายย่อยฉบับละ 70.40 บาท เพื่อนำไปขายตามราคาหน้าตั๋วฉบับละ 80 บาทให้ได้ แลกกับการให้ผู้ค้ารายย่อยได้กำไร 9.60 บาท

 

นั่นเท่ากับว่าผู้ค้ารายย่อยสองกลุ่มคือ 1.กลุ่มที่มีการจัดสรรขายผ่านระบบโควตาให้กับตัวแทนจำหน่ายสลากเดิม 33 ล้านฉบับ แบ่งเป็นผู้ค้าสลากรายย่อยทั้งส่วนกลางและภูมิภาค 28,519 ราย จำนวน 156,248 เล่ม (1 เล่มมี 100 ฉบับ) ได้กำไรฉบับละ 9.60 บาท

 

2.กลุ่มที่จัดสรรผ่านระบบซื้อ-จองล่วงหน้า ของธนาคารกรุงไทยไม่เกิน 67 ล้านฉบับ แบ่งเป็นสลากซื้อ 10,000 ราย จำนวน 50,000 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ) และสลากจอง 124,000 ราย จำนวน 620,000 เล่ม (เล่มละ 100 ฉบับ) ได้กำไรฉบับละ 9.60 บาท

 

ส่วนตัวแทนจำหน่ายประเภทสมาคม มูลนิธิ และองค์กร รวม 899 ราย ซึ่งมีสมาชิก 25,858 ราย สำนักงานขายส่งที่ราคาฉบับละ 68.80 บาท กำไรฉบับละ 11.20 บาท แต่สมาคม มูลนิธิและองค์กรเหล่านี้ได้นำสลากไปจัดสรร หรือขายให้สมาชิก 25,858 ราย ที่ราคาฉบับละ 70.40 บาท สมาคมจะได้กำไร 1.60 บาท

 

จะเห็นได้ว่าส่วนต่างของกำไร ที่สำนักงานสลากให้ส่วนลดกับผู้ขายนั้นดีกว่าการขายสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นอาหารของขบเคี้ยว เครื่องดื่มที่ผู้ผลิตให้กำไรกับ ยี่ปั้ว ซาปั้ว ผู้ค้าส่ง ค้าปลีกไม่ถึง 5% เสียด้วยซ้ำไป

 

ขนาดให้กำไรจากการขายสลากตามราคาหน้าตั๋ว 80 บาท แค่ 15 วัน เปิดให้รับกันไปเหนาะๆ เฉลี่ย 960 ล้านบาท เดือนละ 1,920 ล้านบาท กำไรปีละ 23,040 ล้านบาท แล้วยังแก้ไม่ได้ ปล่อยให้มีการขายเกินราคากันทั่วบ้านทั่วเมือง

 

เพราะอะไรรัฐบาลจึงไม่สามารถควบคุมราคาขายปลีกให้มีการขายในราคาตามที่ประกาศได้....

 

ใครรู้เส้นสนกลในบ้างช่วยบอกที