ทำไมอเมริกา ต้องแบน TikTok

12 ส.ค. 2563 | 02:55 น.

คอลัมน์ลวดลายมังกร โดย... มาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารธุรกิจจีน หน้า 4 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3600 วันที่ 13-15 สิงหาคม 2563

ทำไมอเมริกา  ต้องแบน TikTok

การเมืองระหว่างจีนกับสหรัฐได้ก้าวไปสู่การแยกขั้วกันอย่างชัดเจนในทุกๆ ด้าน เทียบกับกรณีคว่ำบาตรหัวเว่ย ผลกระทบต่อบริษัท Bytedance ซึ่งเป็นเจ้าของแอพ TikTok น่าจะมีน้อยกว่าเพราะรายได้ของบริษัท Bytedance ส่วนมากยังคงอยู่ในประเทศจีน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือทำไมบริษัท Bytedance จึงเติบโตเร็วมากตั้งแต่ก่อตั้งมาเพียง 8 ปีกว่าจนกลายเป็นบริษัท unicorn ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก สามารถพัฒนาซุปเปอร์อีโคซีสเต็มของตนเองและมีจำนวนผู้ใช้กว่าพันล้านคนโดยไม่พึ่งพายักษ์ใหญ่ค่ายอาลีบาบาและ Tencent และทำไมแอพ TikTok จากจีนจึงกลายเป็นที่นิยมกว่า 150 ประเทศทั่วโลกภายในเวลาเพียงไม่กี่ปี

 

บริษัท unicorn ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก

 

แอพ TikTok เป็นหนึ่งในแอพของบริษัท Bytedance ซึ่งเป็น tech unicorn ที่มีมูลค่าสูงที่สุดในโลก ล่าสุดมีมูลค่าสูงถึง 140 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ทิ้งห่างอันดับสองสามเป็นเท่าตัว) บริษัท Bytedance นี้มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงปักกิ่ง ก่อตั้งขึ้นมาเมื่อกว่า 8 ปีที่แล้วเอง แต่สามารถสร้างฐานผู้ใช้และมูลค่าบริษัทได้สูงถึงขนาดนี้ แสดงถึงวิสัยทัศน์ การจัดการที่มีประสิทธิภาพสูง ตลอดจนความสามารถด้าน AI ที่มีกองทัพ Data Scientist กว่าหมื่นคนรวมทั้ง Content Specialist อีกหลายหมื่นคนทำงานอยู่ 

 

 สิ่งที่น่าสนใจของบริษัท Bytedance คือเป็นบริษัทที่สามารถสร้างซุปเปอร์อีโคซิสเต็มได้อย่างรวดเร็วในประเทศจีนได้โดยไม่ต้องพึ่งพายักษ์ใหญ่อย่างอาลีบาบา และ Tencent และที่ผ่านมาบริษัท Bytedance มีปริมาณการใช้งานออนไลน์แซงหน้าอาลีบาบาไปหลายปีแล้ว และกำลังขึ้นมาเทียบชั้นกับบริษัท Tencent 

 

ครอบคลุมผู้ใช้ทุกระดับอายุและอาชีพในจีน

 

จุดสำคัญของการพัฒนาซุปเปอร์อีโคซิสเต็มของบริษัท Bytedance คือการพัฒนาแอพต่างๆ กว่า 10 แอพ เพื่อจับกลุ่มผู้ใช้ที่แตกต่างกัน ทำให้จำนวนผู้ใช้งานเติบโตเร็วมาก นับแต่แอพอ่านข่าวที่เรียกว่า Jin Ri Tou Tiao (แปลว่า Today’s Headline News) ที่จับกลุ่มผู้ใช้ในกลุ่มคนทำงาน สิ่งที่แตกต่างของแอพนี้เมื่อ 8 ปีที่แล้ว คือสามารถให้ผู้อ่านร่วมเขียนบทความและนำเสนอเนื้อหาเองได้ และใช้ AI ช่วยคัดเลือกนำเสนอข่าวหรือเนื้อหาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับผู้อ่านแต่ละคน ทำให้แอพ Jin Ri Tou Tiao กลายเป็นแอพที่แซงหน้าแอพข่าวอื่นๆ ในช่วงข้ามคืนในประเทศจีน 

 

แอพที่ออกตามมาคือแอพ TikTok หรือ DouYin ในจีน ซึ่งเป็นแอพวีดีโอสั้นๆ จับกลุ่มผู้ใช้ Gen Z และกลุ่ม Millenium เมื่อรวมกับแอพอื่นๆ กว่า 10 แอพ บริษัท Bytedance จึงเป็นเจ้าของซุปเปอร์อีโคซิสเต็มที่ใหญ่ที่สุดและกำลังขึ้นแท่นท้าชิงความเป็นที่หนึ่งกับ Tencent และดูเหมือนจะมีโอกาสแซงหน้าด้วย 


ทำไมอเมริกา  ต้องแบน TikTok

ทำไม TikTok ถึงเป็นที่นิยมอย่างสูง

 

ประเด็นที่กำลังเป็นพาดหัวข่าวใหญ่คือ ประธานาธิบดีทรัมป์ ได้ประกาศให้บริษัท Bytedance ขายกิจการ TikTok ในอเมริกาออกไป และหากไม่สามารถปฏิบัติตามกำหนดได้ก็จะถูกแบน บริษัท Bytedance ดูเหมือนมีท่าทีที่จะปฏิบัติตามการถูกบังคับขาย เพราะคงต้องการลดผลกระทบต่อมูลค่าของกิจการโดยรวมหากต้องสูญเสียตลาดอเมริกาไปจริง  ทั้งนี้ รายได้ของบริษัทส่วนใหญ่ยังคงอยู่ในประเทศจีนอยู่  

 

อย่างไรก็ตาม การประเมินมูลค่าของ TikTok อเมริกาอาจทำไม่ง่าย เพราะหัวใจหลักอยู่ที่ algorithm ของ TikTok ที่น่าจะเป็นระบบส่วนกลางและนำมาปรับใช้กับแต่ละประเทศ หากขายทั้งหมดก็เสมือนบริษัท Bytedance เปิดไพ่หมดหน้าตักทำให้สูญเสียความได้เปรียบโดยรวม หากไม่ขายรวมส่วนนี้ ผู้ซื้อก็จะซื้อเฉพาะฐานผู้ใช้ การตัดตอนขายจึงไม่ง่ายนัก 

 

คำถามมีว่าทำไมแอพ TikTok ถึงเป็นที่นิยมอย่างสูงกว่า 150 ประเทศทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยด้วย ทั้งที่พึ่งออกสู่ตลาดนอกประเทศจีนเมื่อปี 2018 ที่ผ่านมา โดยในอเมริกามีผู้ใช้กว่า 100 ล้านคน นับว่าเป็นแอพจีนเพียงแอพเดียวที่ตีตลาดทั่วโลกได้ เป็นสิ่งที่แม้แต่ Tencent ก็ยังทำไม่ได้ 

 

สิ่งที่ทำให้แอพนี้เป็นที่นิยมอย่างรวดเร็ว น่าจะเป็นการที่ให้แอพนี้มี algorithm ให้ผู้ลงวีดีโอใหม่ๆ ถึงแม้มีเนื้อหาที่ดูเหมือนธรรมดาๆ มีโอกาส go viral ในชั่วข้ามคืน สิ่งที่มาคู่กันคือ algorithm ที่ทำการแนะนำวีดีโอที่น่าสนใจกับผู้ใช้ตามการมีปฏิสัมพันธ์ต่อคลิปวิดีโอต่างๆ ดังนั้น ผู้ใช้ใหม่ๆ มักรู้สึกว่ามีคนกดไลค์มากและเร็วกว่าแอพอื่น เป็นที่ถูกใจเด็กรุ่นใหม่ นอกจากนี้ แอพ TikTok มีการพัฒนาและส่งเสริมการใช้ในแต่ละประเทศแบบ localised แยกจากกัน 

 

หมายเหตุ: ความเห็นในบทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน ไม่เกี่ยวข้องกับองค์กรที่ผู้เขียนสังกัดอยู่แต่อย่างใด ผู้อ่านสามารถแสดงความเห็นได้ที่ facebook: manop sangiambut

 

เกี่ยวกับผู้เขียน - นายมาณพ เสงี่ยมบุตร รองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ผู้บริหารธุรกิจจีน มีประสบการณ์เกี่ยวกับการลงทุนและการเงินในประเทศจีนกว่า 15 ปี ในอดีตเคยเป็นนักวิเคราะห์หุ้นจีน เอ แชร์ และข้าราชการกระทรวงการคลัง จบการศึกษาปริญญาตรีด้านสาระสนเทศการบัญชี จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญโท MBA จากมหาวิทยาลัยคาร์เนกี้ เมลล่อน สหรัฐอเมริกา