ฟื้นฟูการบินไทย เข็นครกขึ้นภูเขา?

28 พ.ค. 2563 | 06:57 น.

คอลัมน์ฐานโซไซตี ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3578 หน้า 4 ระหว่างวันที่ 28-30 พ.ค.63 โดย... พริกกะเหรี่ยง

 

     ...หลัง “นายกลุงตู่” ชี้ขาดให้ “การบินไทย” เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ โดยยื่นคำร้องต่อศาลล้มละลายกลาง ตามมติครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค.ที่ผ่านมา คะแนนนิยมของ “พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา” ก็ได้แต้มไปทันทีทั้งจากกองเชียร์และพนักงานการบินไทยกว่า 2 หมื่นคน ไม่ถูกลอยแพ เจ้าหนี้ใน-นอกประเทศยังไม่ต้องยึดทรัพย์มาขายทอดตลาดใช้หนี้ร่วม 3 แสนล้านบาท 

     ...การเลือกไม่ “อุ้ม” การบินไทย โดยให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ก้อนใหญ่ 5 หมื่นล้านบาท จึงเป็นทางออกที่สวยหรูของรัฐบาล เพราะย่อมไม่ตกเป็น “เป้าทางการเมือง” และ “สังคม” ที่จะออกมาตราหน้าได้ว่าใช้เงินภาษีประชาชนมาละเลงทิ้งแม่น้ำ เพราะการบินไทยมีหนี้ท่วมฟ้า ขาดทุนบรักโกรกจนยากที่จะเยียวยา  

     ...สองวันถัดมา “อุตตม สาวนายน” ขุนคลังตัดขายหุ้น 3.17% ในการบินไทยให้ กองทุนวายุภักษ์ จากที่คลังถืออยู่ 51 % เพื่อลดสัดส่วนการถือหุ้นและแปรสภาพการบินไทย จาก “รัฐวิสาหกิจ” เป็นบริษัทเอกชนเต็มขั้นในทันที ส่งผลกระทบตามมา โดยเฉพาะกับพนักงาน ด้านรายได้และสวัสดิการ ต่างๆ  เช่น เกษียณอายุ จะได้รับเงินชดเชยสูงสุดไม่เกิน  “400 วัน” สำหรับผู้ที่อายุงานเกิน 20 ปี ส่วนอายุงานไม่ครบปีได้ชดเชย 1 เดือน เป็นต้น  ส่วนโครงการ “msp” หรือลาออกโดยสมัครใจนั้นอย่าหวังว่าจะมี หรือมีแต่จะโดน “จิ้ม” ให้ออก  สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยเป็นอันพ้นสภาพทันทีเช่นกัน ดังนั้นอำนาจการต่อรองต่างๆ เพื่อปกป้องผลประโยชน์พนักงานย่อมหมดสิทธิ์

     ...ไทม์ไลน์จากนี้ จะต้องเร่งยื่นศาลล้มละลายกลาง เพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูธุรกิจ โดยต้องมีการแต่งตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดำเนินการตามแผน ซึ่งหลังเป็นเอกชนเต็มตัว สองกระทรวงคมนาคม และกระทรวงการคลังต้องลดบทบาทลง แต่ที่น่าจับตาก็คือการตั้ง “คณะกรรมการ” ขึ้นมาทำหน้าที่บริหารแผน เจรจากับเจ้าหนี้ บริหารจัดการ ดาวน์ไซด์องค์กร ที่ยังดูเหมือนมีการแย่งชิงขั้วอำนาจทางการเมืองกันอยู่

     ...ยกแรกจะมีการปล่อยข่าวว่า จะมีการแต่งตั้ง “จรัมพร  โชติกเสถียร” อดีต ดีดีการบินไทย ที่คนการบินไทยไม่ปลื้มนัก “เทวินทร์ วงศ์วานิช” และ “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” เอ็มดีแบงก์ออมสินมานั่งบอร์ดแผนฟื้นฟู ทั้ง 3 ชื่อที่ถูกเอ่ยขึ้นมา จึงดูเป็นการโยนหินถามทาง ดูปฏิกิริยาเสียมากกว่าจะเป็นตัวจริงเสียงจริง 

     ...ขณะที่อีกโผ ก็มีรายชื่อที่ดูน่าเชื่อถือ และมีเครดิตมากกว่า เพราะผ่านวิกฤติต้มยำกุ้ง มาแล้ว อาทิ  “ชุมพล ณ ลำเลียง” อดีตบอร์ดเทมาเส็ก ประเทศสิงคโปร์  ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ สายการบินสิงคโปร์แอร์ไลน์  อดีตผู้บริหาร เอสซีจีกรุ๊ป แม้จะอายุมากไปหน่อย หรือ นายแบงก์อย่าง “วิชิต สุรพงษ์ชัย” นายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์  และยังมีชื่อของ “บัณฑูร ล่ำซำ” ประธานกิตติคุณแบงก์กสิกรไทย “ประเสริฐ บุญสัมพันธ์” อดีตซีอีโอ ปตท. “ชายน้อย เผื่อนโกสุม” อดีตบิ๊กไทยออยส์ ซึ่งแต่ละท่านล้วนมีดีกรีคับแก้ว ผ่านประสบการณ์มาอย่างโชกโชน 

     ...สอดคล้องกับกระแสที่ว่า ผู้บริหารแผนฟื้นฟู “การบินไทย” ต้องมีความรู้ด้านอุตสาหกรรมการบิน การเงิน บริหารองค์กรขนาดใหญ่ บริหารบุคลากร บริหารเจ้าหนี้ เพราะมีทั้ง ลูกหนี้ เจ้าหนี้ใน-นอกประเทศเป็นร้อยราย จึงต้องใช้มือระดับพระกาฬที่มีความน่าเชื่อถือ เข้ามาแก้ปัญหา เจ้าหนี้ยอมรับ มิเช่นนั้นแผนดีแค่ไหน หากปฏิบัติตามไม่ได้ก็ล้มเหลวอยู่ดีและพังตั้งแต่ยังไม่ได้เริ่ม 

     ...ส่วนบอร์ดชุดเดิม-ทหาร-ร่างทรงจากฝ่ายการเมือง ต้อง “เว้นวรรค” นายกต้องใจแข็งไม่เอาบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเรื่องนี้คนการบินไทยเองก็เริ่มออกมาเคลื่อนไหว ไม่เอาบอร์ดที่มาจากการเมืองกับทหาร เพราะเห็นกันอยู่ขนาดบริหารอยู่ทุกวันนี้ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น จึงมีการเรียกร้องให้ “นายก” โละทิ้ง เริ่มต้นกันใหม่ทั้งหมด

     ...โดยอาศัยอำนาจในฐานะเป็นประธาน “คนร.” แต่งตั้งบอร์ดชุดใหม่ยกยวงเข้ามาฝ่าวิกฤติการบินไทยอย่างเร่งด่วน สกัดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นตามมาจากการผิดนัดชำระหนี้ เพราะกว่าการนำเสนอแผนฟื้นฟูจะทำเสร็จเป็นที่ยอมรับของเจ้าหนี้ ลูกหนี้ คาดว่าใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 3 เดือน จากนั้นถึงจะเริ่มทำตามแผนซึ่งไม่รู้ว่าต้องใช้กี่ปีถึงจะสำเร็จ 

     ...มติครม.เมื่อวันที่ 19 พ.ค. เป็นเพียงแต่การเริ่มต้นของการฟื้นฟู “การบินไทย” เท่านั้น เมื่อมาถึงขั้นนี้แล้ว “นายก” ต้องตั้งหลักให้ดี ในการเลือกมืออาชีพเข้ามาบริหาร เพราะแม้ไม่ปล่อยให้การบินไทยต้อง “ล้มละลาย” แต่พนักงาน 2 หมื่นคน ขวัญกระเจิง เพราะยังไม่รู้ชะตากรรม ขนาด โรงพยาบาลคู่สัญญายังงดรับใบส่งตัวรักษาพยาบาลชั่วคราว เงินฝากในสหกรณ์การบินไทยก็ต้องใช้เวลากว่าจะถอนเงินออกมาได้ เงินเดือนที่ลดไป 10-50% ล่าสุดก็ลดไปถึงสิ้นเดือนมิถุนายน และหากยังไม่รู้ว่าจะกลับมาบินได้ เมื่อไร? หรือเมื่อเปิดบินได้ แต่อุตสาหกรรมการบินไม่เหมือนเดิมเป็น “New Normal” การฟื้นฟูการบินไทยให้สำเร็จจึงยากยิ่งกว่า “เข็นครกขึ้นภูเขา” หลายเท่านัก และถือเป็นการฉลองครบรอบ 60 ปี สายการบินแห่งชาติที่แสนสาหัส