ลุงตู่รู้มั้ย! รัฐมนตรี ‘ส.ต.’ หากิน ‘ร่วมค้า-ค้าร่วม’

06 พ.ค. 2563 | 10:30 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ ฉบับ 3572 หน้า 20 ระหว่างวันที่ 7-9 พ.ค.63 โดย.... พรานบุญ

 

               อกอีแป้นจะแตกแล้วพ่อพรานฯ เอ๋ย!

               รัฐมนตรี นักการเมืองในรัฐบาลอื่น เขาจะบริโภค “กินหัวคิว” จากการประมูลงานโครงการภาครัฐ แล้วชักเปอร์เซ็นต์เอา จะ twenty จะ Thirty ก็ว่ากันไป...จนเป็นนิสัย เป็นสันดาน ของบรรดานักเลือกตั้ง

               แต่ตอนนี้อีกาสีดำพากันร้องสนั่นลั่นไปทั้งคลองผดุงกรุงเกษม เมื่อปรากฏว่า “รัฐมนตรีช่วย” คนหนึ่งในรัฐบาลลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปทำมาหากินที่พิลึก พิลั่น

               พิลึกพิลั่น เพราะไปหากินกับการตีความตามตัวอักษรของข้อกฎหมายในการประมูลอิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกกันสวยหรูว่า “e-bidding”!

               เป็นข้อกฎหมาย ที่รัฐมนตรีเต้าหู้ยี้ ที่บรรดาผู้รับเหมาเรียกกันว่า “รัฐมนตรี ส.ต.” มีการ “ยกดาบมาเชือด” ว่า ต้องอ้างอิงจากระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ

               เป็นการหากินกับข้อกฎหมายที่เกี่ยวพันกับภาษาและตัวอักษรเพียง 2 คำเท่านั้น นั่นคือ “กิจการร่วมค้า- Joint Venture” กับ “กิจการค้าร่วม- Consortium”

               แค่ยกดาบมาเชือดว่า ผู้เข้าร่วมประมูลงานรัฐเป็น “กิจการร่วมค้า” หรือ “กิจการค้าร่วม” แค่นี้แหละขอรับนายพรานฯ เอ๋ย นักทำมาหากินจากการเลือกตั้ง สามารถทำรายได้เข้ากระเป๋าเป็นสิบยี่สิบ สามสิบล้าน…สบายอุรา แต่ประชาชีช้ำชอก

               โปรดอย่าถามว่า รัฐมนตรีผู้อัปลักษณ์กินมูมมามนี้เป็นใครเด็ดขาดประเดี๋ยวจะเดือดร้อน

               แต่พรานฯ ขอแย้มพรายให้ได้แต่เพียงแค่ว่า คนผู้นี้เคยเป็นระดับรัฐมนตรีในยุคสมัย “ทักษิณ-ยิ่งลักษณ์” เรืองอำนาจเสียด้วยสิขอรับ

               รัฐมนตรีเชื้อชั่วไม่ยอมตายผู้นี้ ปัจจุบันกำลังคิดการใหญ่ ในการเดินเกมเพื่อก้าวขึ้นสู่อำนาจในกระทรวงใหญ่ ที่จักต้องเข้าไปดูแลเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่แลกมากับภาษีจากประชาชนเสียด้วยสิขอรับคุณลุง

               แล้วเขาทำกันอย่างไร หากินกันอย่างไร? รัฐมนตรีเต้าหู้ยี้ผู้นี้เขาทำแบบนี้ขอรับ โครงการประมูลงานภาครัฐในโครงการใดที่มีการกำหนดใน “ทีโออาร์” ให้เอกชนสามารถยื่นประมูลเป็นรายบริษัท หรือสามารถจดกิจการเป็น “กิจการร่วมค้า-กิจการค้าร่วม” ได้ เขาจะสั่งให้เข้าไปดูว่า กิจการค้าร่วม-กิจการร่วมค้านั้น ทำตามเงื่อนไขทีโออาร์หรือไม่

               การยื่นจดทะเบียนของ “กิจการค้าร่วม-กิจการร่วมค้า” นั้น ต้องชี้แจงคุณสมบัติของ

               ผู้ร่วมทุนในกิจการค้าร่วม กิจการร่วมค้า ทุกตัวอักษรหรือไม่ กิจการค้าร่วม กิจการร่วมค้า รับงานโดยตรงจากเจ้าของโครงการหรือ รับเหมาช่วง!

               เขาจะ “ใช้ฆ้อนตบ” กันตรงนี้แหละพี่น้องเอ๋ย…

               การใช้ฆ้อนตบแต่ละครั้ง เขาไม่ตบเยอะ ตบเพียงแค่เบาะหลักสิบ ยี่สิบ สามสิบกิโล แต่ยิ่งซอยโปรเจ็กต์เท่าไหร่ยิ่งหลายร้อยกิโล...นะครับเจ้านาย!

               ทั้งๆ ที่ตามข้อกฎหมายนั้นชัดเจน ไม่ต้องแปลไทยเป็นไทยให้เมื่อยตุ้ม

               กิจการร่วมค้า (Joint Venture) หมายถึงกิจการที่ดำเนินการร่วมกันเป็นทางการค้าหรือหากำไร ของบุคคลตั้งแต่ 2 ฝ่ายขึ้นไป โดยที่ฝ่ายหนึ่งจะต้องเป็นนิติบุคคล ได้แก่ การร่วมกันระหว่าง บริษัทกับบริษัท ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล บริษัทกับห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลหรือบริษัทกับบุคคลธรรมดา หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลโดยมีการร่วมลงทุน ไม่ว่าจะเป็น ทรัพย์สิน ที่ดิน แรงงาน เงินทุน เทคโนโลยี บุคลากร

               โดยมีวัตถุประสงค์ และเป้าหมายในการดำเนินงานที่ชัดเจน ในการร่วมกันในกิจการร่วมค้าดังกล่าว ยังหมายถึงการร่วมกันรับผิดชอบในกรณีที่เกินความเสียหายในกิจการที่ร่วมกันทำ และเมื่อมีผลกำไรเกิดขึ้นก็จะได้รับผลกำไรดังกล่าวตามสัดส่วนที่ทั้งสองฝ่ายมาลงทุนร่วมกัน

               และรูปแบบของกิจการร่วมค้าตามมาตรฐานการบัญชีฉบับที่ 46 ได้แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบคือ การดำเนินการที่ควบคุมร่วมกัน (Jointly controlled operations) สินทรัพย์ที่ควบคุมร่วมกัน (Jointly controller assets) กิจการที่ควบคุมร่วมกัน หรือกิจการร่วมค้า (Jointly controller entities) แค่นี้แหละ

               ส่วนกิจการค้าร่วม (Consortium) คือการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะของการร่วมกันขององค์กรธุรกิจตั้งแต่ 2 องค์กรขึ้นไป เพื่อดำเนิน กิจการหนึ่งด้วยวัตถุประสงค์ คือเป็นการเข้าร่วมกันเพื่อให้งานสำเร็จลุล่วงตามแผนธุรกิจ แต่ละฝ่ายจะใช้ความสามารถและความ ชำนาญในการทำงานในส่วนที่ตนรับผิดชอบให้สำเร็จตามโครงการ และมีการแบ่งแยกการทำงานไว้อย่างชัดเจน โดยต่างฝ่ายต่างออกใบแจ้งหนี้และใบเสร็จรับเงินเฉพาะของบริษัทตน

               สัญญากิจการค้าร่วมเป็นเพียงการลงนามร่วมกันในการทำสัญญากับเจ้าของโครงการเท่านั้น เพราะแต่ละฝ่ายจะรับผิดชอบเฉพาะในส่วนของตน ไม่มีการร่วมทุนหรือแบ่งปันผลกำไรหรือขาดทุนระหว่างกัน เมื่องานเสร็จสิ้นแล้ว ก็จะยุติลงเหมือนกับกิจการร่วมค้า กิจการร่วมค้าไม่มีชื่อเรียกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และประมวลกฎหมายรัษฎากร จึงไม่ต้องขอบัตรประจำตัวผู้เสียภาษี อากร แต่มีการเสียภาษีจากกำไรของแต่ละบริษัท แค่นี้แหละ

               ไม่ต้องไปตีฟง ตีความให้เปลืองสมอง

               สุจริตชนทั่วไปนะคิดแบบนี้ แต่ “เจ้ารัฐมนตรี ส.ต.” คนนี้กลับมิได้คิดเช่นนั้น เขาเห็นช่องทำกินจึงสั่งให้มีการตรวจสอบและตีความให้ชัดไม่เช่นนั้นขัดกับระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง

ไม่เชื่อพรานใช่มั้ย ให้ไปดูโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงเพื่อเชื่อมโยงภูมิภาคช่วงกรุงเทพฯ- หนองคาย(ระยะที่1 กรุงเทพฯ- นครราชสีมา) ระยะทาง253 กม.

               ผู้รับเหมาเขาร้องมายังอีกาและพรานไพรว่า ให้ไปดูใน สัญญาที่ 3-1 (งานโยธาช่วงแก่งคอย-กลางดงและช่วงปางอโศก-บันไดม้า) ระยะทาง 30 กม. โดยกำหนดราคากลางไว้ที่ 11,386 ล้านบาท ซึ่งมีเอกชนไทยและเทศหลายรายร่วมกันเป็นผู้เสนอราคาจำนวน 6 ราย จากผู้ซื้อทีโออาร์จำนวน 26 ราย พบว่า มีผู้เสนอราคาต่ำสุด 9,330 ล้านบาท

 ใครได้ไม่ได้งาน อยู่ที่จะจ่ายให้กับรัฐมนตรี ส.ต.กี่กิโล!

 นี่ยังไม่นับ 6 สัญญาที่ประกาศประมูลด้วยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-bidding) รวมราคากลางทั้งสิ้น 5.4 หมื่นล้านบาท

               -สัญญาที่ 3-2 งานโยธาสำหรับอุโมงค์(มวกเหล็กและลำตะคอง) ระยะทาง 12.2 กม.ราคากลาง 5,359 ล้านบาท

               -สัญญา 3-3 งานโยธาช่วงบันไดม้า-ลำตะคอง ระยะทาง 26.1 กม. ราคากลาง 12,043 ล้านบาท

               -สัญญาที่ 3-5 งานโยธาสำหรับช่วงโคกกรวด-นครราชสีมา ระยะทาง 12.3 กม. ราคากลาง 9,257 ล้านบาท

               -สัญญาที่ 4-4 งานโยธาศูนย์ซ่อมบำรุงเชียงรากน้อยราคากลาง6,093 ล้านบาท

               -สัญญาที่ 4-5 งานโยธาช่วงบ้านโพ-พระแก้ว ระยะทาง 13.3 กม.ราคากลาง 11,801 ล้านบาท

 -สัญญาที่ 4-7 งานโยธาสำหรับช่วงสระบุรี-แก่งคอย ระยะทาง 12.9 กม.ราคากลาง 10,421 ล้านบาท

               ขอร้องเถอะ อย่าปล่อยให้เขาหากินกันแบบนี้นะลุง!