เงินกู้ 2 ล้านล้านสู้โควิด จ่ายดอกน้อยกว่าจำนำข้าว

07 เม.ย. 2563 | 11:03 น.

คอลัมน์ห้ามเขียน ฐานเศรษฐกิจ หน้า 20 ฉบับ 3564 ระหว่างวันที่ 9-11 เม.ย.63 โดย... พรานบุญ

สิงสา รา สัตว์ หวาดผวาไปทั้งป่าหญ่ เมื่อเจอพิษภัยที่ไม่คาดคิดจากการระบาดของโรคไววัสโควิด-19 ตัวร้าย ที่ส่งผลกระทบไปทั่วเมือง

 

ใครๆ อาจไม่บอกความจริง แต่พรานฯ พามาดูข้อมูลเพื่อการพิจารณากันในป่าที่เงียบสงัด...ธนาคารโลก (World Bank) ออกรายงานพิเศษ “ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคในช่วงโควิด-19 ว่าทุกประเทศจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19

 

เศรษฐกิจของประเทศจีน กรณีที่ดีที่สุดจะเติบโต +2.3% กรณีแย่ที่สุดจะเติบโตเพียง +0.1% 

 

ขณะที่ภูมิภาคอาเซียน ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ล้วนแล้วแต่จะได้รับผลกระทบและมีโอกาสที่เศรษฐกิจจะหดตัวอย่างรุนแรงในปีนี้

 

สำหรับประเทศไทย ธนาคารโลกประเมินว่า จะเป็นประเทศที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบหนักสุดในอาเซียน เพราะพึ่งพาห่วงโซ่เศรษฐกิจในระบบการผลิต อุตสาหกรรมและภาคการท่องเที่ยวกับโลกมากที่สุด กรณี ดีที่สุดเศรษฐกิจไทยจะหดตัว -3.0% 

กรณีที่แย่ที่สุด เศรษฐกิจไทยจะหดตัวมากถึง 5% ใกล้เคียงกับธนาคารแห่งประเทศไทยที่ระบุว่าจะหดตัว 5.3%

ธนาคารโลก ประเมินว่า กรณีที่เลวร้ายที่สุด ทำให้คนจนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิคเพิ่มขึ้นอีกกว่า 11.3 ล้านคน

 

ขณะที่สภาองค์การนายจ้างฯ ของไทยระบุว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19จะทำให้คนว่างงานมีอัตราพุ่งขึ้นแบบก้าวกระโดดเป็น 6.5 ล้านคน โดยกลุ่มแรงงานที่เกี่ยวพันกับธุรกิจการท่องเที่ยวจะเจอหนักสุด 2.3 ล้านคน ลูกจ้างในกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งรัฐเช่น ปิดห้างสรรพสินค้า ร้านอาหาร ร้านค้า 1 ล้านคน  ร้านค้าย่อยแผงลอยอีก 9.3 แสนคน สปา ร้านเสริมสวย แรงงานในสายการผลิตรถยนต์อีกร่วม 6 แสนคน ทั้งหมดถือเป็นเรื่องที่รัฐต้องระวัง เพราะเศรษฐกิจไทยเปราะบางมาก...

 

สถานการณ์นี้จึงเป็นที่มาของการออก พ.ร.ก.กู้เงินสะท้านปฐพีของ รัฐบาล ลุงตู่-พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผ่านทางกระทรวงการคลัง-ธนาคารแห่งประเทศไทยร่วม 1.9 ล้านล้านบาท เรียกว่ากู้ชุดใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยปรากฎในสยามประเทศ

 

1. พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) กู้เงินโดยกระทรวงการคลังวงเงิน 1 ล้านล้านบาท เพื่อใช้ในการดูแลโครงสร้างเศรษฐกิจสังคม ผู้ประกอบการ เกษตรกร ลูกจ้างทั้งในและนอกระบบประกันสังคม รวมถึงค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข การจ้างงานระสั้น  การเสริมสร้างอาชีพโอกาสทักษะใหม่ๆ ให้ประชาชนในชุมชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชนและเศรษฐกิจ

 

2.ออกพ.ร.ก.ให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทย จัดตั้งกองทุนเพื่อดูแลตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงิน 4 แสนล้านบาท เพื่อให้ธปท.เข้าไปซื้อตราสารหนี้ได้โดยตรงผ่านกองทุนนี้ หากมีผลขาดทุนเกิดขึ้นรัฐบาลจะชดเชยความเสียหาย

 

3. ออกพ.ร.ก.ให้อำนาจธปท.อัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำพิเศษเพื่อช่วยเหลือ ผู้ประกอบการรายย่อย บริษัทจำกัด และนอนแบงก์ที่ได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด 5 แสนล้านบาท โดยธปท.จะปล่อยกู้ผ่านธนาคาคิดดอกเบี้ย 0.01% เพื่อให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อในอัตราดอกเบี้ยต่ำแค่ 2% ช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจรายย่อย และสินเชื่อส่วนบุคคล โดยให้ดำเนินการภายใน 2 ปี

 

4. พ.ร.ก.โอนงบประมาณเพื่อในสถานการณ์ฉุกเฉิน 8  หมื่นล้าน-1 แสนล้านบาท

เห็นตัวเลขก้อนโตขนาดนี้ บรรดาลิงค่าง บ่าง ชะนี อีเห็น อีกา พญาเหยี่ยว พากันแหกปากกู่ก้องร้องตะโกนว่า รัฐบาลลุงตู่ รัฐบาลทหาร ทำอะไรไม่เป็น ดีแต่กู้...กู้ และกู้...

 

สิงสา รา สัตว์เหล่านี้กู่ร้องโดยไม่รู้พิษภัยที่เกิดขึ้นของป่าใหญ่ในสยาม ที่ปัจจุบันต้นไม้ ใบหญ้าเหี่ยวเฉา จะยืนต้นตายกันไปแล้ว 

 

พรานฯขอบอกความว่า...ถ้าไม่มีการกู้เงินมาเยียวยา ฟื้นฟูเศรษฐกิจมากขนาดนี้ ประเทศไทยพังพาบ เพราะเศรษฐกิจที่เคยเป็นจะเหี่ยวเฉายืนต้นตายไปทั้งประเทศ คนเคยรวย จะกลายเป็นคนจนลงในพริบตา 

 

ทำไมนะหรือ พรานฯพามาดูนี่ ขนาดเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อปีก่อนอยู่ที่ 17.5 ล้านล้านบาท ผ่านมา 3 เดือนตอนนี้ขนาดเศรษฐกิจที่วัดจากจีดีพีของประเทศหดตัวเหลือแค่ 15.5 ล้านล้านบาท นี่แค่ 2-3 เดือน ถ้าผ่านไป 6-9 เดือนละพี่น้อง...ตัวใครตัวมันแน่

 

พรานฯไม่ได้โม้! นี่คือความจริงที่กระทรวงการคลัง รายงานให้ลุงตู่รับรู้ก่อนตัดสินใจ ทุบโต๊ะทางนโยบาย ตายเป็นตาย...กู้เงินมาเยียวยา

 

เพราะลำพังงบประมาณที่มีอยู่ไม่พอจะเยียวยาพิษสงของโรค จะตัดงบมาใช้ก็ได้ไม่ถึง 5-6 หมื่นล้านบาท เก็บภาษีก็ไม่ได้ ทางออกคือกู้เงินมาดูแลผู้คนในประเทศไม่ให้ตาย...

 

แต่การกู้เงินก้อนโตรอบนี้ถือว่า ดีกว่ายุคก่อนเป็นไหนๆ เพราะดอกเบี้ยของโลกกำลังตกท้องช้างเป็นขาลง ดอกเบี้ยพันธบัตรรัฐบาลระยะ 10-15 ปี ไม่ถึง 2.5% ดอกต่ำขนาดนี้กู้กันเสียให้เข็ด เพราะสามารถนำภาษีมาขัดดอกเบี้ยได้สบายโก๋

 

พรานฯ ยกเครื่องคิดเลขมาบวกลบคูณหาร พบว่า...ถ้ากระทรวงการคลังกู้ 1 ล้านล้านบาท ดอกเบี้ย 2.5-3% จะตกปีละ 2.5-3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 10 ปี จ่ายดอกเบี้ยแค่ 2.5-3 แสนล้านบาท

 

ยอดจ่ายดอกเบี้ย น้อยกว่าความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าวที่รัฐบาลต้องตั้งงบประมาณไปชดเชยรวมกันกว่า 6-7 แสนล้านบาท และสำนักงบประมาณ ต้องจัดสรรงบมาชำระหนี้จำนำข้าว ทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยไว้ปีละ 4.8- 5 หมื่นล้านบาท ยาวไป 15 ปี เสียอีก...สิงสา รา สัตว์ ที่ชอบแหกปากตะโกนก้องร้องลั่นป่า ดูข้อมูลไว้...

 

ไม่เหมือนวิกฤตการเงินและต้มยำกุ้งปี 2540 รอบนั้นเศรษฐกิจพังพาบรัฐบาลลุงชวน หลีกภัย ออก พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อแก้วิกฤติ จำนวน 3 ฉบับ รวมกันกว่า 1 ล้านล้านบาท

 

อัตราดอกเบี้ยจากการกู้ยืมตอนนั้น อย่าให้แซ่ดทะลุเป็นเกือบ 10% ถ้าไม่ออกพ.ร.ก.กู้เงินตอนนั้นประเทศพัง เพราะรัฐบาลโดยกองทุนฟื้นฟูฯไปกู้เขาดอกเบี้ยบางช่วงทะลุ 24% ...ไม่ตายก็เลี้ยงไม่โต

 

1.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินจากต่างประเทศเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ พ.ศ. 2541 ไม่เกิน 2 แสนล้านบาท ภายในวันที่ 31 ธ.ค.2543 ดอกเบี้ยหลักสิบ

 

2.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อเสริมสร้างความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 ไม่เกิน 3 แสนล้านบาท ภายใน 31 ธ.ค. 2543 ดอกเบี้ยหลักเดียว

 

3.พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินและจัดการเงินกู้เพื่อช่วยเหลือกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน พ.ศ. 2541 กู้เงินจากแหล่งเงินกู้ในประเทศเพื่อชดใช้ความเสียหายและปรับโครงสร้างกองทุนเพื่อการฟื้นฟูฯ ได้ไม่เกิน 5 แสนล้านบาท อันนี้ก็ดอกเบี้ยสองหลัก

 

พรานฯ ว่ารัฐบาลลุงตู่อย่าไปวอรี่ รีบกู้เงินมาเถอะ ถ้าใช้เพื่อเยียวยาเศรษฐกิจและคนรายย่อยที่เจอพิษจากวิกฤติจนเหลือแต่กระดูก เพราะขาดเงินสดในแทบทุกธุรกิจ แต่ต้องจัดสรรลงไปช่วยคนเหล่านี้อย่างทั่วถึง เป็นธรรม และต้องมีทีมคอยติดตามผลว่าทำได้ตรงกับหลักการแค่ไหน

 

อย่าปล่อยให้แบงก์ นักการเมือง คนฉวยโอกาสมาหาเศษหาเงินเข้าพกเข้าห่อกลุ่มตัวเองและพรรคพวกเด็ดขาด

 

ทำได้มั้ยละลุงตู่ ลุงป้อม ลุงป๊อก ลุงกวง ลุงอุต..!