ผ่าทางตัน ‘ร้านอาหาร’ ดิ้นต่อชะตา สู้โควิด

27 มิ.ย. 2564 | 22:25 น.

ผ่าทางตันธุรกิจร้านอาหาร “แบรนด์ดัง”ดิ้นต่อชะตา หลังพิษโควิดระลอก 3 ทำกระอัก ร้องรัฐช่วยเยียวยา ฟื้นฟูเข้าถึงแหล่งเงินทุน หลังหมดสายป่าน หวั่นยืนระยะสู้ไม่ไหวทยอยปิดกิจการเพิ่ม

การระบาดของโควิดระลอก 3 ทำให้ธุรกิจร้านอาหารต้องเผชิญกับความท้าทายอีกครั้ง จากมาตรการต่างๆของภาครัฐที่มุ่งเป้าเฝ้าระวังว่าจะเป็นจุดแพร่ระบาดจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่มาใช้บริการ ทำให้ต้องสั่งควบคุมการให้บริการทั้งด้านความสะอาด ระยะเวลาเปิดปิด รวมถึงการเว้นระยะห่าง สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อรายได้ สภาพคล่องและภาระสินเชื่อของธุรกิจร้านอาหารอย่างเลี่ยงไม่ได้ โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประมาณการณ์มูลค่าธุรกิจร้านอาหารในปี 2564 จะหดตัวลง 5.6%-2.6% ส่งผลให้มีมูลลดลงเหลือ 3.82-3.94 แสนล้านบาท

ผ่าทางตัน ‘ร้านอาหาร’ ดิ้นต่อชะตา สู้โควิด
นายธนพันธ์ วงศ์ชินศรี ผู้ร่วมก่อตั้ง Penguin Eat Shabu หนึ่งในร้านอาหารชาบูชื่อดัง สะท้อนถึงผลกระทบจากวิกฤติโควิดในครั้งนี้กับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า โควิดระลอก 3 ธุรกิจร้านอาหารได้รับผลกระทบหนักกว่ารอบแรกเกินเท่าตัว เพราะส่วนใหญ่ใช้กระแสเงินสดที่มีพยุงธุรกิจในโควิดระลอก 2หมดแล้ว

ขณะเดียวกันตลาดดีลิเวอรีก็ไม่คึกคักเหมือนช่วงการระบาดใหม่ๆที่คนยังสนุกกับการสั่งดีลิเวอรี ทำให้ครั้งนี้ดีมานด์ลดลงและยอดการสั่งซื้อแต่ละบิลก็ลดลงเช่นเดียวกัน ทำให้ดีลิเวอรี ซึ่งเคยเป็นทางรอดเดียว วันนี้กลับไม่ช่วยอะไร


ในขณะที่เจ้าของพื้นที่เองไม่ได้ลดราคาค่าเช่าพื้นที่ให้เท่าที่ควรและภาครัฐไม่ได้เข้ามาช่วยเป็นคนกลางในการจัดการ ทำให้ขึ้นอยู่กับพาวเวอร์ของร้านอาหารร้านนั้นกับทางแลนด์ลอร์ด ซึ่งบางร้านเมื่อเปิดให้บริการกลับยิ่งประสบปัญหาขาดทุนมากกว่าปิดร้าน นอกจากนี้ร้านอาหารยังเป็นธุรกิจแรกๆ ที่รัฐบาลสั่งปิดแต่ไม่มีมาตรการชดเชยต่างจากโควิดระลอก 1 ที่ยังได้รับการชดเชยจากประกันสังคม จนต้องมีการรวมตัวกันฟ้องร้อง


ท้ายที่สุดเมื่อแบกรับค่าใช้จ่ายไม่ไหว ธุรกิจต้องหันหน้าพึ่งพาธนาคาร แต่ในการยื่นขอกู้เงินกลับมีเงื่อนไขที่ต้องใช้ทรัพย์สินค้ำประกัน และหากธุรกิจมีหนี้จากเงินกู้เดิมจากเจ้าหนี้เดิม เงินที่จะสามารถกู้ได้จากยอดหนี้ที่เหลือจึงเป็นสิ่งที่ยากมาก ทำให้ธุรกิจรายเล็กไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้


“สิ่งที่เกิดขึ้นคือถ้าเป็นแบบนี้ต่อไปร้านอาหารจะไม่ได้ตายแค่ 50,000 ร้าน แต่จะกลายเป็นหลักแสน ถ้ารัฐไม่ลงมาเป็นคนกลางกับแลนด์ลอร์ด รัฐไม่เป็นคนกลางให้หยุดชำระหนี้ธนาคารได้ ยังไงก็ตาย ต่อให้ร้านใหญ่ๆประคองมาได้ถึงปีครึ่งก็ยังแย่ ทางรอดเดียวคือการเร่งฉีดวัคซีน แต่ถ้ายังจัดการปัญหาโควิด,วัคซีนแบบเดิม ก็จะยังเป็นแบบนี้ ส่วนร้านอาหารก็ได้แต่ต่อเวลาตายเหมือนการวิ่งหนีซอมบี้ คุณหมดแรงเมื่อไหร่คุณก็ตาย คุณไม่รู้ว่าจะรอดได้เมื่อไหร่ วิ่งไปข้างหน้าอย่างเดียว”

ด้านนายรณกาจ ชินสำราญ จากร้าน Maguro กล่าวว่า โควิดระลอก 3 เป็นเหมือนฝันร้าย ช่วงเดือนเม.ย.- พ.ค. ที่ผ่านมาเป็นเดือนที่ขาดทุนหนักที่สุดเท่าที่เคยเปิดธุรกิจมา โควิดรอบแรกธุรกิจใช้เงินสำรอง รอบ 2 ขุดเงินเก็บออกมาใช้ ส่วนรอบ 3 สายป่านหมด ไม่มีอะไรเหลือและไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ได้

รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคออกไปใช้เงิน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลแก้ปัญหาไม่ตรงจุด และไม่ยอมสร้างความมั่นใจ นอกจากนี้รัฐบาลยังไม่มีความชัดเจนในการสื่อสารมาตรการและข้อบังคับต่างๆ ทุกอย่างมีต้นทุน มีค่าใช้จ่าย สิ่งที่เกิดจากความไม่ชัดเจนของรัฐ ทำให้เกิดต้นทุนที่ไม่ควรจะเกิดกับผู้ประกอบการที่บาดเจ็บกันอยู่แล้ว


“ระลอก 3 หนักจริง ทุกอย่างต้องจ่ายเองหมด ยอดขายก็ลดลงไปเยอะ คนไม่ออกมาใช้เงิน เพราะเขารู้ว่าสถานการณ์นี้ลากยาวแน่นอน ดังนั้นสิ่งที่เกิดขึ้นคือ เงินหายออกไปจากระบบ พอเงินหายจากระบบมันไม่ได้เข้ามาที่ผู้ประกอบการ แทนที่จะทำเป็นซอฟต์โลนผ่านธนาคารพาณิชย์ อาจจะทำเป็นกองทุนสนับสนุน SMEs เพื่อให้กองทุนนี้เข้าถึงผู้ประกอบการจริงๆ”


เช่นเดียวกับนาย เจตุบัญชา อำรุงจิตชัย ผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ “ลูกชิ้น-จัง” ให้ความเห็นว่า ไม่คิดว่าสถานการณ์จะลากยาวขนาดนี้ โควิดรอบแรกหลายธุรกิจเอาเงินในกระเป๋าออกมาประคอง Cash flow แต่ในระลอก 3 บริษัทไม่มีเงินเหลือแล้ว สิ่งเดียวที่สามารถทำได้คือ การวิ่งเข้าหาแบงก์


มาตรการสินเชื่อซอฟต์โลนของรัฐบาลแม้จะฟังดูดี แต่ไม่มีใครเข้าถึงได้ สาเหตุคือ เงื่อนไขของแต่แบงก์ไม่เหมือนกัน บางแบงก์ธุรกิจที่จะเข้าถึงสินเชื่อได้ ต้องไม่มีสินเชื่อกับธนาคารพาณิชย์อื่นๆ นั่นหมายความว่าธุรกิจต้องกลับไปหาแบงก์เดิม ซึ่งก่อนหน้านี้หลายธุรกิจได้เข้ามาตรการพักชำระหนี้ของแบงก์ชาติ เพื่อเพิ่ม Cash flow ในระบบ ทำให้ครั้งนี้กิจการส่วนมากไม่สามารถยื่นขอซอฟต์โลนได้ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขของแบงก์


“แบงก์ ปีที่แล้วทำกำไรมหาศาล แต่เวลาพวกเราเดินเข้าไปกู้แบงก์ แบงก์มุ่งคิดถึงความสามารถในการชำระหนี้ ให้ยื่น statement ปัจจุบัน ซึ่งไม่มีรายได้ แบงก์ก็ไม่อนุมัติเงินกู้ แต่ขณะเดียวกันใครที่พอมีรายได้ แบงก์แทบกราบเอาเงินไปให้เพราะมีความสามารถในการชำระหนี้ แต่กลุ่มที่ต้องการทำไมดูงบการเงินปี 62 ว่ามีรายได้ มีกำไรเท่าไรก่อนที่จะเจอโควิด ซึ่งมีความสามารถในการชำระหนี้ ไม่ใช่ในภาวะแบบนี้”

ขณะที่ “วัคซีน” คือหัวใจหลักที่จะช่วยแก้วิกฤติโควิดในครั้งนี้ นายวิน สิงห์พัฒนากกุล ผู้บริหารร้าน Chocolate Ville ย้ำว่า ปัญหาเรื่องวัคซีน รัฐบาลต้องจริงใจเรื่องจำนวน เพราะถึงจะมีคำสั่งให้ร้านอาหารกลับมาเปิด 5 ทุ่ม แต่บางร้านกลับไม่สามารถเปิดร้านได้เพราะพนักงานไม่ได้รับการฉีดวัคซีน ในขณะที่พนักงานบางรายไม่ได้รับการชดเชยจากประกันสังคมกลายเป็นความเสี่ยงที่ทุกคนต้องรับผิดชอบ


ส่วนเรื่องเงินกู้คือผลักภาระให้ผู้ประกอบการ รัฐบาลต้องลงมาดูแลแรงงานเยียวยาแบบให้เปล่า 120 วัน เป็นวาระพิเศษ และทบทวนว่าจะช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการโดยไม่ต้องผ่านแบงก์พาณิชย์ได้อย่างไร


“รอบ 3 รู้สึกถึงความไม่แน่นอน ไม่รู้จะไปจบที่ไหน รอบนี้ไม่ได้กระทบแค่เจ้าของกิจการแต่กระทบถึงทุกคน แม้แต่พนักงานก็กระทบมากๆ เขาไม่มีรายได้ แต่ข้อแตกต่างระหว่างโควิด 1 และ 2 คือเงินหมด และวันนี้เรายังเข้าถึงเงินไม่ได้”


แม้วันนี้หลายภาคส่วนผนึกกำลังกันเพื่อเร่งช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs ในหลากกลุ่มธุรกิจ แต่ก็ยังติดล็อกหลายๆปัญหา และเสียงสะท้อนจากกลุ่มธุรกิจร้านอาหารที่เป็นฟันเฟืองสำคัญของภาคเศรษฐกิจไทยและยังเป็นฟันเฟืองสำคัญของสังคมจากจำนวนพนักงานและผู้เกี่ยวข้องนับล้านคนที่ต้องชะลอหรือถูกเลิกจ้างในอนาคต หากยังไม่ได้รับการเยียวยาหรือฟื้นฟูให้ธุรกิจกลับมาเดินหน้าได้

หน้า 14-15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,691 วันที่ 27 - 30 มิถุนายน พ.ศ. 2564

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: