ธุรกิจแฟรนไชส์อ่วม เม็ดเงินหาย 3-4 หมื่นล.

13 พ.ค. 2564 | 18:05 น.

น่วม! พิษโควิดระลอก 3 ซัดผู้ประกอบการธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งร้านอาหาร ติวเตอร์ คาร์แคร์ ฯลฯ กระอักคาดสูญเม็ดเงิน 3-4 หมื่นล้าน วอนรัฐเร่งฉีดวัคซีน สร้างความเชื่อมั่นให้คนไทยกล้าออกมาจับจ่ายใช้เงิน

 

การระบาดอย่างหนักของโควิดระลอก 3 ที่ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อรายวันและผู้เสียชีวิตในอัตราสูง ส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทย แม้ครั้งนี้รัฐบาลไม่ได้ประกาศล็อกดาวน์ประเทศ หรือมีคำสั่งเคอร์ฟิวเหมือนในอดีต แต่ด้วยมาตรการเฝ้าระวังอย่างเข้มข้น ทำให้ต้องสั่งปิดพื้นที่เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นสถานบันเทิง ฟิตเนส โรงภาพยนตร์ รวมทั้งคุมเข้มการใช้บริการห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า คอมมูนิตี้มอลล์ ร้านอาหาร ฯลฯ ส่งผลให้ธุรกิจถูกซ้ำเติมต่อเนื่องจากปีก่อนที่ยังไม่ฟื้นคืนมา

นายวรพงษ์ แจ้งจิต รองนายกสมาคมแฟรนไชส์และไลเซนส์ (Franchise & License Associate : FLA) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ภาพรวมการระบาดของโควิดระลอก 3 ส่งผลกระทบหนักกว่าการระบาดครั้งแรก และระลอก 2 อีกทั้งไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาดในระลอก 3 เป็นเชื้อกลายพันธุ์ ทำให้เกิดการกระจายที่รวดเร็วและรุนแรงมีผู้เสียชีวิตรายวันเพิ่มขึ้นอย่างน่าตกใจ ในส่วนของเจ้าของธุรกิจ หรือผู้ประกอบการแม้ว่าจะไม่มี lock down 100% แต่ก็ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้เต็มรูปแบบ สิ่งที่น่ากังวลคือ สายป่านที่ผู้ประกอบการเคยใช้ยื้อธุรกิจในการระลอกครั้งแรก และระลอกที่ 2 ไม่เพียงพอที่ยื้อกิจการในการระบาดรอบนี้ได้

“ผลกระทบรอบนี้หนักที่สุดเพราะธุรกิจยังไม่ทันฟื้นตัวกลับมา และยังไม่เริ่มค้าขายกันจริงจัง เพราะฉะนั้นสายป่านที่เคยมีอยู่ก็ไม่เพียงพอ และถ้าธุรกิจจะรอมาตรการรัฐมาช่วยชดเชยหรือเยียวยา บางธุรกิจก็อาจจะรอไม่ได้ อีกนัยยะหนึ่งคือ ต่อให้ตอนนี้มีการเปิดร้านหรือเปิดกิจการแต่ก็ไม่มีกำลังซื้อเพราะผู้บริโภคยังกลัวในเรื่องของความปลอดภัย กังวลใจที่จะออกไปจับจ่ายใช้สอย”

พิษโควิดระลอกใหม่

การระบาดรอบนี้เป็นการซ้ำเติมผลกระทบจากการระบาดรอบ 1 และรอบ 2 ให้หนักกว่าเดิมและมาตรการเยียวยาที่รัฐช่วยเหลือในระยะแรก อาทิ โครงการเราชนะ, คนละครึ่ง, ม.33 ต่างสิ้นสุดโครงการไปแล้ว แม้จะออกประกาศต่อโครงการช่วยเหลือเยียวระลอกใหม่ ก็ไม่ทันกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เพราะคนเดือดร้อนกระจายวงกว้างและเร็วกว่าที่เม็ดเงินเยียวยาจะถึงมือประชาชน

ในส่วนของเจ้าของธุรกิจโดยเฉพาะ SME หรือแฟรนไชส์ต่างได้รับผลกระทบถ้วนหน้า บางรายอาจต้องปิดสาขาหรือปิดกิจการลง ซึ่งสมาคมคาดการณ์ว่า ในการระบาดระลอก 3 นี้จะทำให้เม็ดเงินหายไปจากระบบแฟรนไชส์แตะ 3-4 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากเซกเม้นท์ใหญ่ ในระบบแฟรนไชส์เช่นกลุ่มร้านอาหารและเครื่องดื่ม รวมทั้งธุรกิจบริการ อาทิ โรงเรียนสอนภาษา ธุรกิจคาร์แคร์ เชนโรงแรม ได้รับผลกระทบหนักที่สุดจากมาตราการควบคลุมการแพร่ระบาด เช่น สั่งปิดสถานบันเทิง และการกำหนดปิดห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร เป็นต้น

สมาคมคาดว่าภายในเดือนกรกฎาคม จะสามารถประเมินตัวเลขความเสียหายและจำนวนธุรกิจที่ต้องปิดตัวลง และจำนวนธุรกิจที่ยังอยู่ในระบบที่แน่นอนได้ และคาดว่าผลกระทบจะยังคงกินเวลาต่อเนื่องไปอย่างน้อยสิ้นปีนี้ ซึ่งเป็นผลมาจาก 2 ปัจจัยที่น่ากังวลคือ 1. การกระจายของวัคซีนที่ล่าช้าและไม่ทั่วถึง 2.วัคซีนที่กระจายไปก่อนหน้าเป็นการกระจายไปที่กลุ่มท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่งธุรกิจท่องเที่ยวมีเซกเม้นท์ แฟรนไชส์น้อยมาก

ในขณะเดียวกันจำนวนนักท่องเที่ยวที่สามารถเดินทางท่องเที่ยวยังมีจำนวนน้อย แม้ว่าตอนนี้รัฐบาลจะเร่งการฉีดวัคซีนในพื้นที่ภูเก็ตให้ครบ 70% ก็ตาม แต่ภูเก็ตจังหวัดเดียวไม่สามารถพยุงเศรษฐกิจทั้งหมดได้ ดังนั้นในกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ปลายปียังไม่สามารถประเมินได้ว่าธุรกิจจะสามารถจะฟื้นกลับขึ้นมาได้ถึงครึ่งจากสถานการณ์ปกติหรือไม่

แต่หากประเมินคร่าวๆคาดว่าน่าจะประมาณกลางปี 2565 สถานการณ์ถึงจะฟื้นขึ้นมาดี ถ้ารัฐบาลสามารถฉีดวัคซีนครบ 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ ตามที่ประกาศออกมาก็จะเห็นตัวเลขที่ค่อยๆฟื้นขึ้นในไตรมาสแรกของปี 2565

ในส่วนของ 6 มาตรการ กระตุ้นกำลังซื้อล่าสุดที่รัฐบาลประกาศออกมา ซึ่งวงเงินรวมกันแล้วประมาณ 1 แสนล้านบาทนั้น ส่วนตัวมองว่าเมื่อนำจำนวนประชากรเป้าหมาย 30-40 ล้านคนที่จะได้รับเงินเยียวยา มาหารจำนวนเม็ดเงินอัดฉีดจะตกที่ราวๆ 2,000 บาทต่อคน ไม่ค่อยจะตอบโจทย์ถ้าประเมินในมุมของกำลังซื้อของประชาชน แต่อาจได้ผลในเชิงของจิตวิทยามากกว่า ว่าอย่างน้อยรัฐบาลมีความพยายามที่จะช่วยเหลือ แต่ในเชิงของการจับจ่ายใช้สอยยังไม่ค่อยได้ผล

 

“มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบนี้ผมมองว่ายังแก้ไม่ตรงจุด แต่ในมุมรัฐบาลอาจมองว่าใช้งบประมาณที่มีอยู่ช่วยเท่าที่ช่วยได้ ให้ประชาชนพอประทังชีวิตไปก่อน ซึ่งคำตอบจริงๆของการแก้ปัญหาอยู่ที่วัคซีน ถ้าวัคซีนสามารถกระจายได้เร็ว อย่างน้อยคนที่พอมีกำลังซื้อแต่ยังกังวลเรื่องความปลอดภัยก็มีความเชื่อมั่นที่จะออกมาจับจ่ายใช้สอย ซึ่งธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจแฟรนไชส์รอคนกลุ่มนี้ออกมาใช้จ่าย ตราบใดที่เขารู้สึกว่าเขาปลอดภัยเขาก็จะไม่ออกมา

อย่างไรก็ดีกลุ่มธุรกิจแฟรนไชส์ไม่ได้รอเงินเยียวยาของรัฐบาลที่แจกประชาชนอยู่แล้ว เพราะถือว่าน้อยและกำลังซื้อไม่ได้กระจายไปในวงกว้าง แต่รอคนที่เขามีกำลังซื้อแต่เขายังไม่กล้า ไม่พร้อมที่จะออกมาเพราะรู้สึกไม่ปลอดภัย ซึ่งสมาคมหวังเรื่องของวัคซีนมากกว่าเม็ดเงินที่ออกมาอัดฉีดมาเพราะฉะนั้นความสำคัญอันดับแรกก็ยังคงเป็นวัคซีน หากวัคซีนมาทุกคนมีความสบายใจอุ่นใจ คนก็ออกมาจับจ่ายใช้สอย สังคมก็ค่อยๆกลับมา

“ถ้าวัคซีนสามารถกระจายเกิน 70% ตามที่รัฐบาลคาดการณ์ คนกล้าออกมาจับจ่ายใช้สอยและทางการควบคุมระบบสาธารณสุขสามารถควบคุมดูแลการแพร่ระบาดได้ มีภูมิคุ้มกันหมู่ขึ้นมา ผมว่ายังคงต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือน กว่าเศรษฐกิจจะสามารถพลิกกลับขึ้นมาได้หรือดีขึ้น เพราะอย่าลืมว่าเรายังไม่รู้ว่าจะมีการระบาดครั้งที่ 4-5-6 เกิดขึ้นในอนาคตหรือไม่ หรือจะต้องฉีดวัคซีนเข็ํมที่ 3 -4 - 5 เหมือนในต่างประเทศหรือไม่ หากเชื้อเกิดการกลายพันธุ์จนวัคซีนที่มีอยู่ปัจุบันไม่ได้ผล”

สำหรับ FLA มีสมาชิกกว่า 400 แบรนด์ รวมมีสาขาไม่ต่ำกว่า 5 หมื่นร้านค้า จากธุรกิจแฟรนไชส์ทั้งประเทศที่มีร้านสาขาราว 1 แสนร้านค้า โดยกว่า 60% เป็นธุรกิจร้านอาหาร และอีก 40% เป็นธุรกิจอื่นๆ เช่น แฟรนไชส์ธุรกิจการศึกษา, สปา, ร้านทำผม ฯลฯ

 

หน้า 21-22 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,678 วันที่ 13 - 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564