ผวา‘โควิด-การเมือง’ระนองเบรกลงทุน เส้นทางค้าใหม่ชายฝั่งเมียนมาตอนใต้

23 เม.ย. 2564 | 21:10 น.

ปัญหาโควิด-19 และวิกฤตการเมืองเมียนมา ทำระนองพับแผนบุกเปิดเส้นทางการค้าใหม่ กับหัวเมืองตลอดแนวชายฝั่งอันดามันตอนใต้ของเมียนมา 

 

นายนิตย์  อุ่ยเต็กเค่ง รองประธานหอการค้าจังหวัดระนอง เปิดเผยว่า จากปัญหาโควิด-19 และความขัดแย้งทางการเมืองในเมียนมา ทำระนองพับแผนเปิดเชื่อมเส้นทางการค้าใหม่ตอนใต้เมียนมา จากที่ก่อนหน้านี้แผนงานดังกล่าวมีความคืบหน้ามากพอสมควร ทั้งการพบปะพูดคุย การเข้าไปสำรวจเส้นทาง  

ทั้งนี้ จากอัตราการขยายตัวของสินค้านำเข้าและส่งออก ผ่านด่านถาวรชายแดนไทย-เมียนมา ด้าน จ.ระนอง-เกาะสอง ที่มีมูลค่าการค้าชายแดนรวมปีละกว่า 20,000  ล้านบาท และจะยังเป็นช่องทางสำคัญทางการค้าอีกนาน เนื่องจากมีช่องทางการขนส่งทางทะเลที่สำคัญ ส่วนเส้นทางคมนาคมอย่างอื่นทางการเมียนมากำลังเร่งพัฒนาขนานใหญ่ เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของเขตนิคมอุตสาหกรรมทางตอนใต้ของเมียนมา 

ด่านระนอง

ทำให้กลุ่มเอกชนระนองมีแนวความคิดที่จะผลักดันเส้นทางการค้าใหม่กับเมียนมา จากเดิมที่การค้าจำกัดอยู่แค่ระนองกับเกาะสอง จากความต้องการของเมียนมาที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงนโยบายการพัฒนาพื้นที่ทางตอนใต้ ทำให้หลายเมืองของเมียนมาตอนใต้ กลายเป็นเมืองที่เริ่มมีความสำคัญการค้ากับระนองเพิ่มขึ้น ดังนั้นหลายฝ่ายจึงเริ่มมองเส้นทางการค้าใหม่ ระนอง-เกาะสอง-มะริด-ทวาย-ย่างกุ้ง ที่คาดว่าจะเป็นเส้นทางการค้าที่สำคัญในอนาคต 

ที่ผ่านมานักธุเรกิจจากจังหวัดระนอง ได้เข้าไปลงทุนในเขตพื้นที่ทางตอนใต้ โดยเฉพาะย่านจ.ทวายและมะริด เป็นจำนวนมาก ทั้งโครงการเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ แปรรูปสัตว์น้ำ ห้องเย็น ค้าขาย จากโอกาสที่ทางการเมียนมาเปิดกว้าง ให้นักธุรกิจต่างชาติเข้าไปลงทุนในด้านต่าง ๆ ตามที่ทางการเมียนมามีแผนการพัฒนาพื้นที่ทางตอนใต้ รองรับแผนการผลักดันให้พื้นที่ทางตอนใต้เป็นเขตนิคมอุตสาหกรรม ศูนย์กลางการขนส่งสินค้าฝั่งอันดามัน เนื่องจากทางการพม่ากำลังดำเนินการก่อสร้างท่าเรือทวาย รวมถึงการปรับปรุงเส้นทางคมนาคมเชื่อมเส้นทางการขนส่ง โลจิสติกส์ ทั้งกับไทยและจีน 

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยทางด้านแรงงานที่ถูกและมีเป็นจำนวนมาก ขณะที่ขั้นตอนการดำเนินการต่าง ๆ มีการลดหรือแก้ไขระเบียบให้ดำเนินการง่ายขึ้น ต่างกับในฝั่งไทยที่พบว่ายังมีปัญหาเรื่องกฏระเบียบ และข้อกฎหมายที่ล้าหลัง ไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลง เป็นอุปสรรคสำคัญในการลงทุนของผู้ประกอบการ แต่เมื่อสถานการณ์ภายในเมียนมาเจอทั้งปัญหาการเมืองและเชื้อโควิด-19 จึงต้องพับแผนชะลอไปก่อนดังกล่าว

สินค้าส่งออกสำคัญของไทย ประกอบด้วยน้ำมันเชื้อเพลิง เครื่องดื่มต่างๆ ครีมเทียม โอวัลติน เครื่องดื่มให้กำลังงาน เบียร์ ปูนซีเมนท์ อวน ตาข่ายจับปลา กลิ่นปรุงแต่งอาหาร น้ำมันปาล์ม ผงชูรส ส่วนสินค้านำเข้าสำคัญ เช่น สัตว์น้ำ ถ่านไม้ ของทำด้วยเหล็ก ท่อเหล็ก กระเพาะปลา สิ่งปรุงแต่งใช้ในงานปิโตรเลียม ไม้แปรรูป เป็นต้น 

หน้า 17 ฐานเศรษฐกิจ ฉบับที่ 3,672 วันที่ 22 - 24 เมษายน พ.ศ. 2564